วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดกรณีมีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อออนไลน์อ้างว่า “กฎหมายใหม่ เลี้ยงไก่ต้องมีใบอนุญาต หากฝ่าฝืนปรับสูงสุด 5 แสนบาท” ไม่เป็นความจริง เป็นข้อความเฟคนิวส์ ขอประชาชนและเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงไก่ อย่าหลงเชื่อ และเป็นกังวลต่อเรื่องดังกล่าว
“การออกกฎหมายมาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) ที่เป็นมาตรฐานกำหนดการปฏิบัติที่ดี เพื่อการค้าตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ และ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้มีการกำหนดผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย น้อยกว่า 1,000 ตัว ไม่ต้องขอใบอนุญาตและใบรับรอง เนื่องจากไม่ถูกบังคับจากมาตรฐานดังกล่าว” นายอนุกูล ระบุ
ส่วนกรณีผู้เลี้ยงไก่ไข่ มากกว่า 1,000 ตัวขึ้นไป ต้องขอใบอนุญาตและใบรับรอง ซึ่งสามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ โดยมีค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลธรรมดา 100 บาท และนิติบุคคล 1,000 บาท (ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2552) และสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ Biz portal ผ่านทาง https://bizportal.go.th/ หรือติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ การกำหนดโทษตามมาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เฉพาะการเปรียบเทียบปรับ ได้กำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับ ดังนี้
1) ไม่ขอรับใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 20 ครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 30,000 บาท ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 60,000 บาท ครั้งที่ 3 และครั้งต่อ ๆ เปรียบเทียบปรับ 300,000 บาท
2) ไม่ขอรับการตรวจสอบและได้ใบรับรองมาตรฐานบังคับ ตามมาตรา 27 ครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 50,000 บาท ครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 100,000 บาท ครั้งที่ 3 และครั้งต่อ ๆ ไป เปรียบเทียบปรับ 500,000 บาท
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของฟาร์มไก่ไข่ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศไทย ได้มีปรับปรุงกฎหมายเพื่อการพัฒนามาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ GAP และมาตรฐานการส่งออก เพื่อเพิ่มศักยภาพ ให้ประเทศไทยสามารถผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้บริโภค หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155 หรือ โทร 02-653-4444 ต่อ 3158 และส่งข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0