ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ได้แถลงสรุปภาพรวมการปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 13-22 ต.ค. 2563 ว่า สรุปผลการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการชุมนุมช่วง 13-22 ต.ค. 2563 ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้จับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีทั้งหมด 81 ราย มีผู้ต้องหา 78 คน ซึ่งมีผู้ต้องหาที่มีคดีซ้ำกันจำนวน 3 คน โดยแบ่งเป็นข้อหาสำคัญดังนี้ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 46 ราย, ข้อหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ จำนวน 21 ราย, ข้อหาประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ตาม ป.อาญา มาตรา 110 จำนวน 3 ราย, ข้อหากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดที่มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติดชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116 จำนวน 10 ราย และข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม ป.อาญา มาตรา 368 ปรับ จำนวน 1 ราย
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ทำการผัดฟ้องและฝากขังทั้งหมด 78 ราย ได้มีการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หรือขอยื่นประกันตัวในชั้นศาล 70 ราย ยังคงมีผู้ถูกจับที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ 8 คน แบ่งเป็น เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย คืออานนท์ นำภา เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 7 ราย ทั้งหมดเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม เช่น รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ , ไผ่ ดาวดิน โดยแยกอายุของผู้กระทำผิดดังนี้ อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 4 ราย ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่อายุ 20-30 ปี จำนวน 59 ราย อายุ 40-50 ปี จำนวน 7 ราย และอายุ 50 ปีขึ้นไป 11 ราย
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า มีการพยายามสร้างกระแสความเกลียดชังที่เกิดจากความเห็นต่างทางความคิดโดยการโพสต์ข้อความ ภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ภาพการ์ตูน ในลักษณะทำให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือกับประชาชนให้อารมณ์เย็นลง และระมัดระวังในการโพสต์ การส่งต่อข้อมูลหรือการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ให้ใช้สติให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคม เพื่อลดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอันจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม อีกประการหนึ่งในวันที่ 26 ต.ค. 2563 จะมีการเปิดประชุมสภาวิสามัญขอให้ประชาชนให้ความสำคัญ และผ่านความคิดเห็นไปยังส.ส.ในเขตพื้นที่ เพื่อนำเสนอในสภา เพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยกลไกของรัฐสภา และการโพสต์อะไรต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงถึงจะมีการยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว ก็ยังมีกฎหมายอื่นร่วม เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องใช้ความระมัดระวัง
ผบช.น.สั่งคุมเข้มม็อบนัดรวมตัว 'เรือนจำกรุงเทพ-สน.หัวหมาก' มีมาตรการรองรับหากค้างคืน
ขณะที่ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ยืนยันกรณีดำเนินคดีกับเยาวชน เป็นการดำเนินคดีตามข้อกฎหมาย แต่การพิจารณาความผิด บทลงโทษ จะเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.เด็กเเละเยาวชน ซึ่งเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีจะถูกพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการนัดหมายในเวลา 15.00 น. บริเวณด้านหน้าสน.หัวหมาก และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้ผู้บังคับการนครบาล 2และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีจำนวนไม่มาก และหากมีการประกาศค้างคืน ตำรวจก็มีมาตรการในการรองรับ รวมทั้งหากมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก จนตำรวจท้องที่ไม่สามารถดูแลได้ สามารถร้องขอกำลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพิ่มเติม เพื่อไปกำกับดูแลได้
ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายทั้ง 2 ฝ่าย ในพื้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะนี้ตำรวจได้มีการเรียกผู้เสียหายทั้งหมดมาให้ปากคำแล้ว โดยมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ถูกทำร้าย 2 กลุ่ม และเจ้าของเครื่องเสียงที่ได้รับความเสียหายอีก 1 กลุ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการสืบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อเหตุต่อไป พร้อมยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย