ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้งานมากมายทั่วเอเชียต้องเลิกล้มไปตามระเบียบ ไม่ว่าจะคอนเสิร์ต วิ่งมาราธอน นิทรรศการศิลปะ หรือแฟชั่นโชว์ แต่ทว่ามีอยู่สองงานที่ยืนหยัดจัดต่อไป แถมยังบังเอิญว่าเป็นคอนเสิร์ตออร์เคสตร้าจากนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นทั้งคู่ งานแรกคือ NieR:Orchestra Concert re: 12018 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ส่วนอีกงานคือ Joe Hisaishi and the SSO in Concert คอนเสิร์ตของ โจ ฮิซาอิชิ ณ เอสพลานาดฮอลล์ ประเทศสิงคโปร์
สำหรับ NieR นั้นเป็นเกมแอ็คชั่น/อาร์พีจีชื่อดังจากค่าย Square Enix มีออกมาสองภาคคือ NieR Gestalt & Replicant (2010) และ NieR: Automata (2017) ซึ่งผู้เขียนต้องสารภาพว่าไม่เคยเล่นเกมนี้เลยเนื่องจากร้างราวงการเกมมานานแล้ว แต่ได้ยินเพื่อนๆ หรือรุ่นน้องชื่นชม NieR อยู่บ่อยๆ ถึงเนื้อเรื่องอันซับซ้อนเกี่ยวกับโลกยุคดิสโทเปียของเกมนี้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตัดสินใจไปดูคอนเสิร์ตนี้เนื่องจากก่อนหน้าได้ไปดูคอนเสิร์ต Distant Worlds ซึ่งเป็นการเล่นเพลงจากเกมตระกูล Final Fantasy ในแบบออร์เคสตร้าแล้วรู้สึกประทับใจพอสมควร
ท่ามกลางความลุ้นตลอดเดือนกุมภาพันธ์ว่าคอนเสิร์ต NieR จะล่มเพราะไวรัสหรือไม่ ในที่สุดผู้จัดก็ยืนยันว่างานจะมีต่อไปโดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิหน้างาน มีเจลล้างมือตามจุดต่างๆ ส่วนผู้ชมก็ใส่หน้ากากกันครึ่งงานได้ ส่วนตัวคอนเสิร์ตจะเป็นบรรเลงเพลงจากเกม NieR โดยวง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) และมี อาร์นี รอธ เป็นวาทยากร ซึ่งเขาเคยรับหน้าที่นี้เมื่อครั้งคอนเสิร์ต Distant Worlds
ก่อนมาชมคอนเสิร์ตผู้เขียนทำการบ้านด้วยการฟังซาวด์แทร็กของ NieR ที่แต่งโดย เคอิจิ โอคาเบะ มาหลายรอบ สัมผัสได้ว่าตัวเพลงค่อนข้างมีความดรามาติกสูง ซึ่งนับว่าเป็นผลดี เพราะแม้จะไม่รู้เนื้อเรื่องของเกมเลย แต่ก็สามารถรู้สึกร่วมไปกับโชว์ได้ตลอดงาน อันที่จริงในงานจะขึ้นภาพหรือคำบรรยายเกี่ยวกับเกมด้วย ทว่าที่นั่งของผู้เขียนเป็นบัตรราคาถูกที่ลำโพงบังจอภาพไปเต็มๆ แต่ก็ไม่มีผลกับการเข้าถึงอารมณ์หม่นเศร้าของเพลง
ครึ่งแรกจะเป็นการเล่นเพลงจาก NieR Gestalt & Replicant ส่วนครึ่งหลังที่เป็นเพลงจาก NieR: Automata ตึงเครียดขึ้นชัดอย่างเห็นได้ชัด และมีคณะร้องประสานเสียงหลายสิบชีวิตร้องเพลงประกอบเกือบทุกเพลง ทำให้บรรยากาศช่วงหลังนั้นออกมาขลังมากๆ ปิดท้ายด้วยไฮไลต์อย่างเพลง Weight of the World ที่มี เอมี อีวานส์ นักร้องสาวเสียงไพเราะมาร่วมขับร้อง เล่นเอาคนดูปรบมือดังสนั่นในตอนจบ
นับเป็นเรื่องดีที่คอนเสิร์ตออร์เคสตร้าจากเกมในบ้านเราจัดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีประกาศออกมาแล้วว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีคอนเสิร์ต Final Fantasy 7 Remake ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นงานที่ไม่น่าพลาดอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสายเล่นเกมหรือคอเพลงคลาสสิก
ส่วนอีกงานหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ คอนเสิร์ตของ โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์ชาวญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันดีจากการแต่งเพลงให้แอนิเมชั่นของ Ghibli Studio และหนังของ ทาเคชิ คิตาโนะ มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าคุณผู้อ่านต้องเคยผ่านหูเพลง Summer ที่ประกอบในหนังเรื่อง Kikujiro (1999) แน่นอน
Joe Hisaishi and the SSO in Concert เป็นคอนเสิร์ตที่ฮิซาอิชิคอนดักต์วง Singapore Symphony Orchestra (SSO) แม้ราคาบัตรจะค่อนข้างสูง ถูกสุดสามพันบาท แพงสุดหนึ่งหมื่นบาท แต่บัตรก็ขายหมดเกลี้ยงทั้งสองรอบ ส่วนราคาบัตรผีเท่าที่ผู้เขียนสำรวจดู ถูกสุดอยู่หมื่นสี่ ส่วนแพงสุดคือสี่แสนบาท! (เดาว่าน่าจะเป็นการปั่นราคาแบบเกรียนๆ มากกว่า)
สถานการณ์โควิด-19 ในสิงคโปร์ก็น่าหวาดหวั่นไม่น้อย แต่หลังจากนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ออกคลิปแถลงเรื่องไวรัส ดูเหมือนประชาชนจะสบายใจมากขึ้นและงานมหรสพหลายงานก็ดำเนินต่อไป รวมถึงคอนเสิร์ตของ โจ ฮิซาอิชิ ด้วย ข้อสังเกตคือหน้างานมีเพียงการวัดอุณหภูมิเท่านั้น ไม่มีการติดตั้งเจลล้างมือหรือแจกหน้ากากอนามัย เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ออกนโยบายว่าให้ประชาชนดูแลตัวเอง อีกทั้งขอให้คนที่ไม่ป่วยไม่ต้องใส่หน้ากาก ให้ใส่เฉพาะคนป่วย จะได้ไม่เกิดการแย่งหน้ากากกัน
คอนเสิร์ตของฮิซาอิชิ มีทั้งหมด 3 เพลงด้วยกัน สองเพลงแรกเป็นการเล่นเพลงแมสๆ แบบเอาใจคนดู (มีคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาดูเยอะทีเดียว) เปิดด้วย Symphonic Suite: Castle in the Sky ซึ่งเป็นการเล่นเพลงจากแอนิเมชั่น Laputa: Castle in the Sky (1986) ที่แสนจะบันเทิงเริงใจ แต่ก็เป็นการตอกย้ำถึงฝีไม้ลายมืออันแม่นยำของวง SSO และคุณภาพเสียงอันดีเยี่ยมของเอสพลานาดฮอลล์
เพลงที่สองชื่อว่า Mladi for Piano and Strings (Mladi เป็นภาษาเชก แปลว่า ‘หนุ่มสาว’) เป็นช่วงที่ฮิซาอิชิจะเล่นเปียโนพร้อมกับวงเครื่องสาย โดยเล่นเพลงจากหนังของ ทาเคชิ คิตาโนะ 3 เพลง นั่นคือ Summer, Hanabi และ Kids Return ต้องบอกว่านี่เป็นช่วงที่ผู้เขียนซาบซึ้งจนเกือบจะน้ำตาไหลออกมาทีเดียว เพราะเพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ฟังอยู่บ่อยครั้งมาราวยี่สิบปีแล้ว โดยเฉพาะเพลง Kids Return ที่ตอนอยู่ในหนังจะเป็นเพลงอิเล็กทรอนิก แต่พอเรียบเรียงกับเครื่องสายแล้วงดงามจนไม่รู้จะบรรยายเป็นคำพูดอย่างไร
ส่วนเพลงสุดท้ายถือเป็นช่วงตามใจตัวเองของฮิซาอิชิ เป็นการเล่นเพลงซิมโฟนี 5 มูฟเมนต์ความยาวกว่า 40 นาทีของเขาที่ชื่อว่า The East Land Symphony ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นเพลงที่เครียดและฟังยากไม่น้อย (แอบเห็นผู้ชมหลายคนหลับ ส่วนพวกพ่อแม่นี่คือนั่งกล่อมลูกไปเลย) แต่พอทราบเบื้องหลังว่าฮิซาอิชิเริ่มแต่งนี้ช่วงที่ญี่ปุ่นเจอสึนามิปี 2011 ใช้เวลาแต่งอยู่ 5 ปีกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ และมีธีมพูดถึงความสับสนอลหม่าน เหล่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจเพลงได้มากขึ้น
โดยสรุปแล้วผู้เขียนคิดว่านี่เป็นคอนเสิร์ตที่ดีมาก เพราะมันทำให้เราเห็นทั้งด้าน ‘ป๊อป’ และ ‘ติสต์’ ของฮิซาอิชิ เราอาจมีภาพจำต่อเขาในฐานะคุณปู่ใจดี แต่ที่จริงแล้วงานเดี่ยวของฮิซาอิชิก็เซอร์ไม่แพ้งานของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ อย่างไรก็ดี ฮิซาอิชิก็ให้ของขวัญกับคนดูด้วยการเดี่ยวเปียโนเพลง One Summer’s Day จาก Spirited Away (2001) ในช่วงอังกอร์ เล่นเอาคนดูปลื้มอกปลื้มใจและกลับบ้านอย่างมีความสุขกันทุกเพศทุกวัย