ไม่พบผลการค้นหา
อาดิดาส เปิดตัว ฟิวเจอร์คราฟต์.ลูป รองเท้าที่ผลิตจากวัสดุเพียงชนิดเดียวทั้งหมด ทำให้สามารถย่อยสลายและหลอมกลับเป็นรองเท้าวิ่งดังเดิมได้ทั้งหมด โดยไม่มีชิ้นส่วนใดกลายเป็นขยะ

หลังจากอาดิดาส แบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ออกตัวว่าจะใช้เพียงพลาสติกรีไซเคิลได้เท่านั้นภายในปี 2024 อาดิดาสก็ทำตามแผนที่ประกาศไว้ด้วยการนำร่องผลิต ฟิวเจอร์คราฟต์.ลูป (Futurecraft.Loop) รองเท้าวิ่งที่สามารถนำกลับไปย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วหลอมให้กลายเป็นรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ได้

แม้รองเท้าสีขาวนวลนี้จะไม่ได้ใช้กระบวนการอะไรใหม่ในการผลิต แต่สิ่งที่แตกต่าง และเป็นสาเหตุให้อาดิดาสรีไซเคิลทุกส่วนของรองเท้าได้ก็คือ ทีมวิศวกรอาดิดาสหาทางผลิตรองเท้าทั้งคู่จากวัสดุเพียงชนิดเดียวได้ และวัสดุนั้นคือ ทีพียู หรือยางเทอร์โมพลาสติกโพลียูรีเทน (TPU: Thermoplastic Polyurethane) รูปแบบหนึ่ง โดยเฉลี่ยแล้วรองเท้ากีฬาของอาดิดาสจะใช้วัสดุประมาณ 12 ชนิด แทนยารัดซวา ซาฮังกา (Tanyaradzwa Sahanga) วิศวกรวัสดุจากทีมฟิวเจอร์คราฟต์ของอาดิดาส อธิบายว่าคอนเซปต์ของรองเท้ารุ่นนี้คือการทำให้มันสามารถรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่ก่อให้เกิดขยะเลย

ความทะเยอทะยานของอาดิดาสในการผลิตลูปคือความพยายามที่จะไม่รีไซเคิลแบบดาวน์ไซเคิล (down-cycle) หรือการรีไซเคิลโดยนำวัสดุไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ด้อยกว่า อย่างเช่นการนำพลาสติกใช้แล้วไปทำกระป๋องพลาสติก หรือรองเท้าแตะ หรือใช้เป็นยางปูพื้นสนาม อาดิดาสต้องการรีไซเคิลรองเท้าวิ่ง ให้กลายเป็นรองเท้าวิ่งดังเดิม โดยการผลิตรองเท้าวัสดุซึ่งเป็นมิตรต่อการรีไซเคิลนี้ก็จะต้องไม่ทำให้ศักยภาพในฐานะรองเท้าวิ่งถดถอยลงไปด้วย

adidas2.jpg

ในกระบวนการรีไซเคิลของลูปนั้น อาดิดาสจะนำรองเท้ารุ่นนี้มาล้างและส่งไปยังโรงงานคู่ค้าทางอุตสาหกรรม เพื่อย่อยวัสดุให้กลายเป็นพลาสติกละเอียด แล้วหลอมขึ้นรูปใหม่ให้คืนสู่สภาพเดิม พร้อมประกอบกลับเป็นรองเท้าอีกครั้ง

แม้ว่ายางทีพียูจะถูกนำมาใช้ผลิตบางส่วนของรองเท้าอย่างพื้นกลาง (midsole) อยู่แล้ว แต่ความท้าทายในการผลิตรองเท้าขึ้นจากวัสดุชนิดเดียวคือการเปลี่ยนยางทีพียูให้กลายเป็นเส้นใยใช้ทำส่วนบนของรองเท้า ซึ่งปกติมักทำจากโพลีเอสเตอร์ ซาฮังกาเล่าว่าทางทีมเพิ่งจะสามารถผลิตซ้ำรองเท้าและส่วนประกอบต่างๆ ได้ถึง 50 คู่ในปี 2017 จากช่วงก่อนหน้าที่ผลิตได้เพียงทีละหนึ่งถึงสองคู่เท่านั้น

นอกจากนี้กาวซึ่งยึดแต่ละส่วนของรองเท้าไว้ด้วยกันก็เป็นปัญหาต่อกระบวนการรีไซเคิลเช่นกัน ลูปจึงใช้เลเซอร์ในการเชื่อมชิ้นส่วนของรองเท้าแทน ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกแต่ก็ต้องมีคุณภาพเหมาะสมผ่านการทดสอบมาตรฐานรองเท้าวิ่งทั่วไปที่ 500 กิโลเมตรเช่นกัน และสาเหตุที่รองเท้ารุ่นลูปนี้มีสีขาวนวลออกขุ่น ก็เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีในการฟอกขาวตามปกติ

สำหรับระบบการรับสินค้าคืนไปรีไซเคิลนั้น อาดิดาสต้องการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้สวมใส่มีส่วนร่วมในการรีไซเคิลด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าอาจจะคืนเงินประมาณ 10 ถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 318-636 บาท) ให้กับเจ้าของรองเท้าที่นำรองเท้าลูปที่หมดอายุการใช้งานแล้วมาคืน เพื่อส่งกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล และผู้สวมใส่สามารถตรวจสอบสถานะของรองเท้าได้ผ่านแอปพลิเคชัน โดยสแกนคิวอาร์โค้ดบนรองเท้าคู่นั้นๆ

adidas3.jpg

อย่างไรก็ตาม ระบบการรับคืนเป็นสิ่งที่ยังห่างไกล เนื่องจากอาดิดาสยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่ต้องผ่านด่าน ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบว่าวัสดุจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลซ้ำได้กี่ครั้ง และรองเท้าจะรีไซเคิลจำนวนมากแค่ไหน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้กระบวนการเฉพาะหลายอย่าง เช่น การใช้เลเซอร์แทนกาวตามปกติ อย่างที่รองเท้ากีฬาส่วนใหญ่ ที่มีฐานการผลิตในเอเชียมักทำ

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ใหม่ของอาดิดาสประกอบขึ้นในสปีดแฟคตอรี (speed factory) โรงงานพิเศษของอาดิดาส ซึ่งประกอบรองเท้ากีฬาขึ้นได้ภายในเวลาไม่ถึงวัน โดยขณะนี้มีเพียงสองแห่งคือ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อาดิดาสคาดว่ารองเท้าจะใช้เวลาถึงประมาณ 6 เดือนในการรีไซเคิล

ทั้งนี้ อาดิดาสจะปล่อยฟิวเจอร์คราฟต์.ลูป ให้ผู้ได้รับเลือก 200 คนทั่วโลกทดลองสวมใส่เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนจะนำมาคืนพร้อมแลกเปลี่ยนฟีดส์แบก และประสบการณ์การสวมใส่ จากนั้นจึงนำรองเท้าไปทดสอบความสามารถในการรีไซเคิล ก่อนที่ปล่อยให้สาธารณชนได้เป็นเจ้าของลูปกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูร้อนปี 2021 หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน

On Being
198Article
0Video
0Blog