ไม่พบผลการค้นหา
‘แอมฟิเบีย’ (Amphibia) แอนิเมชันเรื่องใหม่จากค่ายดิสนีย์ หยิบคาแร็กเตอร์ลูกครึ่งสาวไทย-อเมริกัน นามว่า ‘แอนน์ บุญช่วย’ มาเป็นตัวละครหลัก ย้ำให้เห็นถึงความพยายามของผู้สร้างคอนเทนต์ ที่ต้องการนำเสนอความเป็นไปได้ของตัวละครนำมากขึ้น

สร้างความฮือฮาไปทั่วอินเทอร์เน็ตเมื่อหลายวันก่อน หลังจากดิสนีย์ประกาศเตรียมฉายแอนิเมชันเรื่องใหม่ ‘แอมฟิเบีย’ (Amphibia) ที่มี ‘แอนน์ บุญช่วย’ (Anne Boonchuay) สาวน้อยลูกครึ่งไทย-อเมริกันรับบทนำ

ด้วยลุคของเธอแสดงออกถึง ‘ความเป็นไทย’ อย่างตรงไปตรงมา ทั้งผิวโทนน้ำผึ้ง ห่มทับด้วยสไบเฉียงสีเหลืองอ่อน มวยผมประดับด้วยมาลัย และมาลัยดอกมะลิคล้องมือ

มากไปกว่านั้น ตัวละครแแอนน์ยังเด่นด้วยผมสีน้ำตาลฟูฟ่อง พูดจาด้วยน้ำเสียงวาจาฉะฉาน และเปี่ยมด้วยความมั่นใจในตัวเอง

แอนิเมชัน ‘แอมฟิเบีย’ ซึ่งลงจอฉายทางช่องดิสนีย์เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน มีความหมายว่า ‘สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ’ เป็นฝีมือการสร้างสรรค์ของโปรดิวเซอร์เชื้อสายไทย-อเมริกันนามว่า ‘แมตต์ บราลี’ ผู้เติบโตในแคลิฟอร์เนีย บอกเล่าเรื่องราวของสาวแอนน์ที่หลุดเข้าไปในโลกของกบ และต้องเอาตัวรอดให้ได้ จึงงัดไม้เด็ดที่เชื่อมั่นว่า ใครๆ ต่างต้องตกหลุมรัก นั่นคือการเปิดร้านอาหารไทย เพื่อสร้างความเป็นมิตรกับประชากรกบ

ในวิดีโอสัมภาษณ์ผู้สร้างแอมฟิเบียจากยูทูบแชนแนล Disney TV Animation News แอนน์ บุญช่วย วัย 13 ปี ปรากฏตัวพร้อมกับท่วงท่ายกมือไหว้สวัสดี และกล่าวด้วยน้ำเสียงหวาน “สวัสดีค่าา” ต่อด้วย “ยินดีต้อนรับสู่สตัมป์มี่ ร้านอาหารไทยฟิวชั่นแห่งแรกในเมืองกบวาร์ตวูด”

“แอนน์ บุญช่วย เป็นตัวละครที่ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรูปของยายของผมสมัยเธอยังเป็นเด็ก เธอมีผมฟูฟ่องอย่างยิ่ง” บราลีอธิบายที่มาของตัวละครแอนน์ บุญช่วย ที่เขาใช้เวลาพัฒนานานถึง 2 ปี

  • ยายของบราลี คือเด็กสาวขวามือสุดของภาพ เขาเล่าผ่านทวิตเตอร์ @radrappy ว่าคุณยายเสียชีวิตไปเมื่อ 4 ปีก่อน แต่เขาดีใจที่บางส่วนของเธอยังคงมีชีวิตอยู่ในตัวละครแอนน์ บุญช่วย

“สมัยผมเป็นเด็ก ทุกๆ ซัมเมอร์แม่ผมจะพาเดินทางไปยังกรุงเทพฯ สำหรับผมมันเหมือนกับการเดินทางไปยังอีกโลกใบหนึ่ง” บราลีให้สัมภาษณ์ก่อนเสริมว่า แอมฟิเบียถูกสร้างมาจากประสบการณ์ดังกล่าว ความรู้สึกของการได้เข้าไปในอีกโลกหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกับที่ตัวเองอาศัยอยู่อย่างสิ้นเชิง และค่อยๆ ปรับตัวจนหลงรักมันอย่างช้าๆ

tumblr_posqw5U4481v79cwgo1_1280.png
  • แมตต์ บราลี (ภาพจาก Disney)

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวนำเสนอความเป็นไทยผ่านองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่เพียงแค่เครื่องแต่งกาย และคำทักทายของแอนน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง ‘อาหารไทย’ ซึ่งเป็นอาหารจานโดนใจคนทั้งโลกด้วย เช่น ผัดไท และลาบ

นอกจากครีเอเตอร์ และโปรดิวเซอร์จะเป็นลูกครึ่งไทยแล้ว ผู้ให้เสียงตัวละครแอนน์ บุญช่วย ก็เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ไทย-ม้ง นามว่า ‘เบรนดา ซอง’ เธอบอกว่า มันสำคัญมากที่ได้รับโอกาสพากษ์เสียงแอนน์ บุญช่วย ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทยเหมือนกัน

brenda song
  • เบรนดา ซอง (ภาพจาก Disney)

“มันสนุกมากค่ะ ที่ได้นำเสนอ และพูดเกี่ยวกับอาหารที่ฉันรัก และกินมาตั้งแต่เด็ก และแบ่งปันให้กับผู้ชมได้รู้จัก" ซองกล่าว และเธอยังได้รับความช่วยเหลือจากแม่ของบราลี ในการออกเสียงภาษาไทยบางคำอย่างถูกต้องด้วย


"เราอยากจะย้ำเด็กๆ ว่า ไม่ต้องอายว่าเราเป็นใครมาจากไหน"

บราลีบอกว่า มันเป็นความต้องการลึกๆ ของเขามาตลอด ที่จะสร้างตัวละครเป็นคนไทย นั่นนำมาสู่การถือกำเนิด แอนน์ บุญช่วย ตัวละครที่มีนิสัยตลก กล้าหาญ และไม่เกรงกลัวอะไร

“ผมอยากจะสร้างตัวละครชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เด็กๆ ที่กำลังเติบโต และมีแบล็กกราวน์คล้ายตัวละครดังกล่าว สามารถดูแล้วบอกได้ชัดๆ ว่า นี่ไง คนที่เหมือนกับฉัน” โปรดิวเซอร์ลูกครึ่งไทยชี้ พร้อมเล่าย้อนถึงประสบการณ์ตอนเด็กด้วยว่า สมัยเด็กๆ เขาไม่เคยรู้สึกว่า มีการนำเสนอใดบ่งบอกความเป็นตัวเขาได้เลย อาจมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เขาดูภาพยนตร์ มอทัล คอมแบ็ต (Mortal Kombat) แล้วแม่ชี้ให้ดูฉากถ่ายทำที่อยุธยา และนั่นคือประเด็นที่ติดอยู่ในใจเขามาตลอด

ชัดเจนว่า ในระยะหลายปีให้หลัง ไม่ว่าจะภาพยนตร์ หรือการ์ตูนจากผู้สร้างฮอลลีวูด อุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เลือกที่นำเสนอทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น มากกว่าตัวเอกที่เป็นคนผิวขาว

amphibia3.jpg
  • ภาพจาก Disney

“ผมว่าตอนนี้ผู้คนเริ่มรู้สึกแล้วว่า การนำเสนอวัฒนธรรมเฉพาะเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม” บราลีระบุ

ขณะทางด้านซองเสริมว่า “เราอยากจะย้ำเด็กๆ ว่า ไม่ต้องอายว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่น และเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมันคือประเด็นสำคัญที่แอนน์ บุญช่วย ได้เรียนรู้ในการ์ตูนเรื่องนี้เช่นกัน”

หลายค่ายเริ่มนำเสนอตัวละครหลักที่มีหลายเชื้อชาติ อย่างค่ายซูเปอร์ฮีโรมาร์เวล (Marvel) ที่เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทดิสนีย์ก็เลือกนำเสนอความเป็นไปได้ของฮีโร่ในหลายรูปแบบ เช่น

  • แอนิเมชัน อัลติเมตคอมิกส์: สไปเดอร์-แมน นำเสนอซูเปอร์ฮีโรแมงมุมด้วยเด็กหนุ่มเชื้อสายแอฟริกัน-ลาติน นามว่า ไมล์ โมราเลส
  • คอมิกส์ ฮัลค์ จะไม่มีบรูซ แบนเนอร์ อีกต่อไป เมื่อเด็กหนุ่มอัจฉริยะเชื้อสายเกาหลี-อเมริกัน อะมาเดอุส โช ได้มาเป็นเจ้าตัวเขียวแทนในปี 2015
  • คอมิกส์ มิส มาร์เวล คือหญิงสาวลูกสาวผู้อพยพจากปากีสถาน วัย 16 ปี ที่อาศัยอยู่ในนิวเจอร์ซี และเป็นชาวมุสลิม
hulk.jpg
  • ภาพจาก Marvel Comics

ค่ายอื่นๆ เช่น ค่ายดีซีคอมิกส์ (DC Comics) ก็นำเสนอคาแร็กเตอร์ กรีน แลนเทิร์น คนใหม่ ที่เป็นชาวมุสลิมอเมริกัน-เลบานอน เช่นกัน

ทั้งนี้ นอกจากการสร้างตัวละครเอกให้แปลกใหม่ทั้งเรื่องเพศ และเชื้อชาติ จะสนับสนุนประเด็นความหลากหลายที่ถูกหยิบยกมาพูดมากขึ้นในเวทีระดับโลกแล้ว อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ การนำเสนอตัวละครหลักที่เป็นชาวเอเชีย ชาวแอฟริกา ชาวตะวันออกกลาง ฯลฯ ของค่ายดิสนีย์ อาจจะเป็นการปูทางการเจาะตลาดทั่วโลกของวิดีโอสตรีมมิ่ง ดิสนีย์ พลัส (Disney Plus) ที่จะรวมภาพยนตร์และซีรีย์จากทั้งค่ายพิกซาร์ (Pixar) ซีเนมาติก ยูนิเวิร์ส (Cinematic Universe) มาร์เวล และสตาร์ วอร์ (Star War) รวมไปถึงออริจินัลโชว์อื่นๆ มานำเสนอผู้ชมที่รอชมอยู่ทั่วโลก

โดยหลังจากยึกยักมานาน ดิสนีย์ พลัส ได้เคาะวันเปิดตัวในสหรัฐอเมริกาเป็นวันที่ 12 พฤสจิกายนปีนี้ ด้วยราคา 7 เหรียญสหรัฐฯ/เดือน หรือ 70 เหรียญสหรัฐฯ/ปี และจะเริ่มให้บริการในโซนยุโรปตะวันตกภายใน ตุลาคม 62 - มีนาคม 63 โซนยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา ช่วงตุลาคม 63 และโซนเอเชีย-แปซิฟิกบ้านเรา ดิสนีย์ พลัส จะเข้ามาให้บริการภายใน 2 ปีนี้ แต่ข่าวดีคือ มีโอกาสว่าจะเริ่มให้บริการเร็วที่สุดในตุลาคมปีนี้ พร้อมๆ กับสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น การที่มีตัวละครนำที่หลากหลายทางเชื้อชาติโลดแล่นบนแพล็ตฟอร์มดิสนีย์ พลัส ให้เลือกดู ก็หมายถึงการเข้าไปนั่งในใจของผู้ชมทางบ้านที่หลากหลายทั้งเพศ วัย ภาษา และวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog