วันที่ 23 มี.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าจากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน ที่เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตระหนักถึงความลำบากของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการช่วยเหลือ ประชาชนเร่งด่วน เพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. จนถึงเดือน ก.ค. นี้ อย่างน้อย 10 มาตรการ ดังนี้
1. การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
2. ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
4. คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5. ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
6. ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
8. กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูก โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และให้กระทรวงการต่างประเทศประสานงานกับประเทศต่างๆในการจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็นเข้าประเทศด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ไป กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการออกมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา ทั้งนี้ต้องให้เป็นไปตามข้อกฏหมาย และข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและอนุมัติเป็นการเร่งด่วน ขอย้ำว่า รัฐบาล ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงาน กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ได้มากที่สุด ให้พ้นวิกฤตซ้อนวิกฤตนี้ไปให้ได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งเรื่องโอกาสการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ การเปิดประเทศและการท่องเที่ยวในระยะต่อไป เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้ รวมไปถึงการช่วยลดภาระ แบ่งเบาค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ และแก้ปัญหาหนี้สินให้พี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
ครม.เคาะมาตรการลดการใช้พลังงานภาครัฐ
ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ อนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 65 ตั้งแต่ เม.ย. - ก.ย. 2565
กระทรวงพลังงานได้จัดทำแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2565 ดังนี้
- แนวปฏิบัติลดการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบ :ให้จัดตั้งคณะทำงานลดใช้พลังงานโดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นประธาน / จัดทำแผนปฏิบัติการลดการใช้พลังงาน เพื่อให้บรรลุ เป้าหมายอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้มีความชัดเจน /พัฒนามาตรการลดใช้พลังงานให้เข้มข้นขึ้นหรือยืดหยุ่นตามความเหมาะสม
-มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที
ด้านไฟฟ้า
-เครื่องปรับอากาศ เช่น กำหนดเวลาเปิด-ปิด 08.30 น. - 16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25 -26 c ล้างแอร์ทุก 6 เดือน / แสงสว่าง เช่น ใช้หลอดไฟ LED อุปกรณ์สำหรับงาน ให้ตั้งโปรแกรมปิดหน้าจออัตโนมัติ เมื่อไม่ใช้งาน ลิฟต์ อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่/คี่ รณรงค์การใช้บันได
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง
-เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวนผู้เดินทางใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ไบโอดีเซลก่อนเป็นอันดับแรก ตรวจเช็ครถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนด เติมลงยาง ให้เหมาะสมและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์การจัดส่งเอกสารทางอีเมล
- สำหรับมาตรการระยะยาวให้ " อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม" ก่อนปีงบประมาณ 65 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานภายในปีงบประมาณ 66 เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่การจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม นอกจากนี้ ยังให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานมาใช้กับหน่วยงานราชการ รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะใหม่ทดแทนของเดิมที่เสื่อมสภาพ
หน่วยงานภาครัฐต้องรายงานผลการประหยัดพลังงาน เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 67,075 ตัน ในส่วนของการกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท และการดำเนินงานตามมาตรการ ESCO สำหรับหน่วยงานภาครัฐ คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท
ธนกร กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรียังกำชับส่วนราชการ กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน พร้อมขอข้าราชการให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนด้วย