ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศจัดแอลเอสดี เป็นยาเสพติดประเภท 1 มีอันตรายร้ายแรง ทั้งยังเกี่ยวโยงกับกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐในอดีต ผู้ค้นพบแอลเอสดีจึงเรียกยานี้ว่า 'เด็กเจ้าปัญหา' แต่นักเคมียุคหลังเชื่อว่า นี่คือยาที่อาจพัฒนาไปใช้บำบัดคนในสังคมได้

อัลเบิร์ต ฮอฟมานน์ นักเคมีชาวสวิส เสียชีวิตไปแล้วต้ังแต่ปี ค.ศ. 2008 แต่เขาได้ทิ้งบันทึกรายละเอียดการทดลองและคำบรรยายประสบการณ์ส่วนตัวจากการใช้ 'แอลเอสดี' หรือ lysergic acid diethylamide (LSD) เอาไว้ หลังจากที่ได้เขารู้ว่าแอลเอสดีมีคุณสมบัติ 'หลอนประสาท' ในระหว่างการทดลองสารเคมีให้กับบริษัทยา 'ซานดอส' ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1943

การค้นพบว่าแอลเอสดีมีฤทธิ์หลอนประสาท ส่งผลให้เคลิ้มฝัน และมองเห็นภาพในหัวอย่างมีสีสันฉูดฉาดผิดไปจากความเป็นจริง เกิดจากการทดลองของฮอฟมานน์และเครือข่ายนักเคมี รวมถึงเจ้าของบริษัทยาที่เขาเคยทำงานให้ และเมื่อข้อมูลเกี่ยวกับฤทธิ์แอลเอสดีถูกเผยแพร่ออกไปสู่คนภายนอก ทำให้มีการนำแอลเอสดีไปใช้ในกลุ่มคนหนุ่มสาวของประเทศแถบตะวันตก

กลุ่มฮิปปี้ หรือ 'ขบวนการบุปผาชน' ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านการทำสงครามเวียดนามของรัฐบาลในยุคทศวรรษ 1960 เป็นกลุ่มหนึ่งที่ใช้แอลเอสดีกันอย่างแพร่หลาย แต่กระแสการเสพแอลเอสดียังได้กลายเป็นแรงจูงใจของงานศิลปะและดนตรีสมัยใหม่ที่มีอิทธิพลในฝั่งโลกตะวันตกในยุคนั้นอีกด้วย

AFP-ศิลปะไซคีเดลิก-ผลข้างเคียงของแอลเอสดี-LSD-summer of love-ขบวนการฮิปปี้-บุปผาชนอเมริกัน
  • ศิลปะไซคีเดลิกและกิจกรรมดนตรีของฮิปปี้ในสหรัฐฯ ได้รับอิทธิพลจากการใช้แอลเอสดี

แอลเอสดีกลายเป็นส่วนหนึ่งของ 'วัฒนธรรมขบถ' ได้ไม่นาน รัฐบาลของ 'ริชาร์ด นิกสัน' อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ประกาศให้แอลเอสดีเป็นยาเสพติดประเภท 1 ที่ผิดกฎหมาย มีอันตรายร้ายแรง พร้อมตั้งเป้ากวาดล้างผู้ค้า ผู้เสพ และผู้มีแอลเอสดีในครอบครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฮิปปี้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม หรือไม่ก็ผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำตัวเป็น 'ตำรวจโลก' ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้มีผู้มองว่าคำประกาศให้แอลเอสดีเป็นยาเสพติดให้โทษของรัฐบาลนิกสัน มาจากความต้องการกวาดล้างผู้ต่อต้านรัฐบาล 


บิดาแห่งโลกไซคีเดลิก

แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนเรื่องความตั้งใจของรัฐบาลนิกสัน แต่การประกาศให้แอลเอสดีเป็นยาเสพติดก็ทำให้ความพยายามในการวิจัยและศึกษาผลการใช้แอลเอสดีเพื่อการเรียนรู้ระบบประสาทและการทำงานของสมองเมื่อได้รับสารแอลเอสดีหยุดชะงักลง และในปี 1978 ฮอฟมานน์ได้ออกหนังสือกึ่งชีวประวัติของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า LSD: My Problem Child โดยสารภาพว่า แอลเอสดีเป็นเสมือนลูกที่ก่อแต่ปัญหาของเขา แต่ขณะเดียวกันก็ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ถ้าได้วิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง และได้รับการควบคุมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญ แอลเอสดีอาจนำไปสู่การไขความลับของระบบประสาทของมนุษย์ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีการวิจัยศึกษาแอลเอสดีเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์อยู่นานกว่า 40 ปี แต่ผู้ผลิต-ผู้ค้า และผู้เสพแอลเอสดี ยังคงมีอยู่ทั่วโลก รูปแบบการเสพเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีทั้งแบบเม็ด แคปซูล แผ่นเจล หรือสารเหลว แต่ที่พบแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นการนำแอลเอสดีไปหยอดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ หรือ blotter paper

AFP-แสตมป์มรณะ-สแตมป์มรณะ-LSD-แอลเอสดี-กระดาษเมา-สารเสพติด.jpg
  • แสตมป์แอลเอสดี หรือ 'แสตมป์มรณะ' ที่ตำรวจฝรั่งเศสยึดจากกลุ่มผู้เสพได้เมื่อปี 2560

กระดาษที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมักมีรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก มีสีสันลวดลายคล้ายแสตมป์ เพราะต้องการหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผู้เสพแอลเอสดีต่อเนื่องเป็นเวลานานเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ทั้งจากการฆ่าตัวตายและจากอุบัติเหตุ เนื่องจากเกิดอาการหลอนจนกระทำการที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของผู้เสพในระยะยาว 

ในกรณีของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจและสื่อมวลชน รวมถึงบุคลากรการแพทย์ เรียกแอลเอสดีที่อยู่มในรูปแบบกระดาษสี่เหลี่ยมว่า 'กระดาษเมา' หรือบางทีก็ถูกเรียกว่า 'กระดาษมหัศจรรย์' และ 'แสตมป์มรณะ' โดยพบการแพร่ระบาดของแอลเอสดีในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเดินทางเข้ามาในไทย ทำให้กรมการแพทย์ประกาศเตือนถึงภัยร้ายแรงที่เกี่ยวโยงกับแอลเอสดี พร้อมย้ำว่าเป็นยาเสพติดประเภท 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเฮโรอีน แอมเฟตามีน (ยาบ้า) แมทแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) และเอ็กซ์ตาซี (ยาอี) 


75 ปีผ่านไป 'แอลเอสดี' ถูกมองในมุมใหม่

ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 75 ปีที่ฮอฟมานน์ค้นพบฤทธิ์ของแอลเอสดี และนักเคมีในหลายประเทศเริ่มถกเถียงกันมากขึ้นว่าแอลเอสดีไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์เลยตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตประกาศไว้จริงหรือไม่

ฮานเนส แมนโกลด์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ประจำห้องสมุดแห่งชาติ (NL) ในกรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแวดวงนักเคมีและผู้ศึกษาด้านประสาทวิทยา หลังจากที่เมื่อปี 2006 มีผู้เสนองานวิจัยบ่งชี้ว่า แอลเอสดีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบประสาท หากมีการศึกษาทดลองอย่างจริงจัง อาจนำไปสู่พัฒนาการด้านการแพทย์ได้

แมนโกลด์ได้รวบรวมผลงานศิลปะและวรรณกรรมแขนงต่างๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือเป็นผลพวงจากภาวะหลอนที่เกี่ยวโยงกับแอลเอสดีมาจัดแสดงในนิทรรศการ Les 75 ans d’un enfant terrible ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้วจนถึงวันที่ 11 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งประชาชนทั่วไป นักวิจัย นักเคมี และคนในแวดวงต่างๆ ที่เริ่มตั้งคำถามว่าแอลเอสดีอาจจะมีประโยชน์ในด้านการรักษาบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาทได้


ประสบการณ์หลอนประสาท-แรงบันดาลใจในหลายสิ่ง
  • ศิลปะแนวไซคีเดลิก (Psychedelic Art)

เคยถูกนิยามโดยราชบัณฑิตยสถานของไทยว่าเป็น 'ศิลปะมนัสปรีดิ์' โดยระบุว่าหมายถึง "ศิลปะที่แสดงออกถึงความรื่นเริงในจิตใจศิลปิน เกิดจากสิ่งย้อมอารมณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดประสาทหลอน (ยาเสพติด)" และเมื่อปี 2009 ได้มีมติจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ใช้ 'คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ' เรียกศิลปะแนวนี้แทนคำว่า มนัสปรีดิ์

  • ดนตรีแนวไซคีเดลิก (Psychedelic Music) 

การใช้แอลเอสดีแพร่หลายถึงขีดสุดในกลุ่มนักดนตรีฝั่งโลกตะวันตกตลอดยุค 60 ก่อนที่จะมีการปราบปรามและกวาดล้างการใช้แอลเอสดีอย่างจริงจังของรัฐบาลในหลายประเทศ แต่ถือว่ามีนักดนตรีหลายรายซึ่งนำประสบการณ์จากแอลเอสดีมาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง และคนในแวดวงดนตรีได้จำแนกผลงานในแนวนี้ว่าเป็นแนวไซคีเดลิก

อัลบั้ม Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band ของวงดนตรีชื่อดังระดับโลก 'เดอะบีเทิลส์' ก็เป็นหนึ่งในงานเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากแอลเอสดี ทำให้หลายเพลงมีเนื้อหาเกือบหลุดโลกและเป็นเชิงนามธรรม เช่น เพลง Yellow Submarine และ Strawberry Fields Forever

ส่วนวงดนตรีและศิลปินคนอื่นๆ ที่เคยมีผลงานแนวไซคีเดลิกออกมา และได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานเพลงระดับตำนานก็มีหลายราย เช่น จิมี เฮนดริกซ์, พิงค์ฟลอยด์, เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน, ซานตานา, แฟรงก์ แซปปา รวมถึงอิริก แคลปตัน


แอลเอสดี: ทางเลือกใหม่ที่จะมาแทนยาที่มีส่วนผสมของฝิ่น?

เนื้อความตอนหนึ่งในหนังสือกึ่งชีวประวัติของ 'อัลเบิร์ต ฮอฟมานน์' บิดาแห่งโลกไซคีเดลิก ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการที่กรุงเบิร์น ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า แอลเอสดี เป็น 'เด็กเจ้าปัญหา' สำหรับเขา

ในทางกลับกัน ฮอฟมานน์ระบุด้วยว่า "ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจการใช้แอลเอสดีได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีการควบคุมปัจจัยทางการแพทย์และการทดลอง เชื่อว่าแอลเอสดีจะสามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการด้านมโนทัศน์ได้"

ขณะเดียวกัน สถาบันค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไซคีเดลิก Multidisciplinary Association for Psychedelic Studies หรือ MAPS ในเมืองซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตั้งแต่ 2014 ให้ทดสอบผลการใช้แอลเอสดีกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางกายภาพ รวมถึงภาวะเครียด หดหู่ และซึมเศร้า

ผลการทดลองกับอาสาสมัคร 12 คน พบว่าการใช้แอลเอสดีในปริมาณที่จำกัดและอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้ผู้ป่วยเรื้อรังควบคุมและจัดการภาวะเครียดหรือเศร้าซึมอันเป็นผลพวงจากอาการป่วยของตัวเองได้ดีขึ้น แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าการใช้แอลเอสดีมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอื่นๆ หรือไม่ และยังจะต้องศึกษาทดลองต่อไปจนกว่าจะได้บทสรุปที่ชัดเจน

การศึกษาค้นคว้าเรื่องแอลเอสดี ถูกกล่าวถึงเพิ่มขึ้นในแวดวงนักเคมีและสาธารณสุข โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องผู้เสพติดยาบรรเทาปวดที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากฝิ่นมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การประกาศห้ามใช้ตัวยาบางประเภทที่มีสารสกัดจากฝิ่นในสหรัฐฯ ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาดังกล่าวได้รับผลกระทบไปด้วย

ที่มา: AFP/ The Guardian/ Rolling Stone/ Vice