คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ได้เรียกผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เข้าชี้แจงกรณีที่นักกิจกรรมทางการเมืองถูกทำร้ายร่างกายและคุกคาม แต่การดำเนินคดีหาผู้กระทำผิดกลับไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยผู้ร้องเรียนกรณีนี้ได้แก่นายสิรวิทย์ ช่วงเสน ส่วนนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด) เข้าร่วมชี้แจงในฐานะผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ส่วนนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (จ่านิว) ผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนในกรณีคล้ายกัน ไม่ได้เข้ามารับฟังการซักถามจากกรรมาธิการเนื่องจากติดภารกิจ
ในช่วงเริ่มต้นของการซักถาม นายเอกชัยได้ชี้แจงว่าตนถูกทำร้ายร่างกายถึง 7 ครั้ง และเผารถยนต์อีก 2 ครั้ง แต่การดำเนินคดีกลับไม่มีความคืบหน้าหลายคดี มีเพียงคดีเดียวที่จับผู้กระทำผิดได้ซึ่งหน้า ปรับไปเป็นเงิน 2,750 บาท ขณะที่นายอนุรักษ์ก็ยืนยันว่าการทำร้ายร่างกายเขาทุกครั้งเกิดขึ้นหลังจากได้ไปทำกิจกรรมทางการเมือง และเกิดขึ้นในช่วงกลางวัน ในที่ชุมชน คนเห็นเหตุการณ์มากมาย รวมถึงอยู่ห่างจากป้อมตำรวจเพียง 5 เมตร แต่กลับไม่มีตำรวจอยู่ที่ป้อม จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่อยู่ที่ป้อม และไม่สามารถติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ ยังมีทั้งสันติบาล และเจ้าหน้าที่ทหาร อ้างตัวว่าเป็น กอ.รมน.ติดตามตัวตนเองตลอดเวลา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อดูแลความปลอดภัย แต่ในขณะเกิดเหตุถูกทำร้าย เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับไม่อยู่คุ้มครองตนเอง
ในฝั่งของกรรมาธิการ นายรังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการ ได้ซักถามว่าการดำเนินคดีมีการแสวงหาหลักฐานอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่ เช่น การตรวจสอบ cell site หรือการยืนยันที่อยู่จากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่ดีในการหาตัวผู้กระทำผิด
พลตำรวจตรีเอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจในคดีการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง มีการตั้งคณะทำงานพิเศษทั้งในระดับโรงพัก ระดับจังหวัด และระดับภาค แต่หลายกรณีมีข้อจำกัดด้านการแสวงหาหลักฐานข้อมูล เช่นการตรวจสอบ cell site ต้องมีขั้นตอนดำเนินการหลายวัน และต้องขอหมายศาล รวมถึงมีข้อยุ่งยากทางเทคนิคอีกมาก
อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่าแม้จะมีข้อจำกัดในการแสวงหาพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็น cell site หรือ cctv แต่ไม่น่าจะเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ จึงไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินคดีหาตัวผู้กระทำผิดในคดีเหล่านี้
ขณะที่นางสาวพรรณิการ์ วานิช รองประธานกรรมาธิการ กล่าวว่ากรณีที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว เป็นกรณีที่แตกต่างจากคดีทำร้ายร่างกายทั่วไป แต่เป็นการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 คุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติจากเชื้อชาติ ศาสนา เพศ รวมถึงความคิดความเชื่อทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง หรือ ICCPR ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันไปแล้ว ก็ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กรณีของนายเอกชัย นายอนุรักษ์ รวมถึงนายสิรวิชญ์ ชัดเจนว่าถูกทำร้ายร่างกายหลังจากทำกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะและต่างประเทศ จำเป็นที่ตำรวจต้องทำคดีอย่างโปร่งใสเป็นธรรมเพื่อสร้างความไว้ใจในสาธารณชน นางสาวพรรณิการ์ยังสอบถามทางตำรวจว่าแม้จะมีคณะทำงานพิเศษในการติดตามคดีเหล่านี้แล้ว เหตุใดจึงยังมีความล่าช้าในการติดตามตัวผู้กระทำผิด และการคุ้มครองนักกิจกรรมเหล่านี้ ที่นายอนุรักษ์อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.มาดูแลด้วย ทางตำรวจทราบหรือไม่ และปกติเป็นหน้าที่ของทหารหรือไม่ที่จะมาดูแลคุ้มครองนักกิจกรรม
พลตำรวจตรีเอกภพได้ตอบคำถามว่าการคุ้มครองบุคคลมี 2 ลักษณะ คือ คุ้มครองพยาน และการขอรับการคุ้มครองกรณีอื่น ที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณาเป็นรายไป แต่ทางตำรวจยืนยันว่าไม่มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ให้มาดูแลนักกิจกรรมและไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีเจ้าหน้าที่อ้างว่ามาจาก กอ.รมน. ติดตามดูแลนายอนุรักษ์
ขณะที่นายสิระ เจนจาคะ รองประธานกรรมาธิการ ซักถามนายเอกชัยว่าได้รู้ตัวหรือไม่ว่ามีศัตรูมากแค่ไหนเป็นใครบ้าง จึงถูกทำร้ายหลายครั้ง และการเผารถยนต์เป็นการสร้างสถานการณ์เองหรือไม่ รวมถึงให้ความเห็นด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรให้อภิสิทธิ์แก่นักกิจกรรมทางการเมือง ดำเนินคดีเหล่านี้พิเศษกว่าคดีอื่น ๆ โดยในกรณีนี้ นายเอกชัยยืนยันว่าตนเองอยู่ในซอยบ้านมากว่า 30 ปี ไม่เคยมีปัญหากับใคร จนกระทั่งมาทำกิจกรรมทางการเมืองจึงถูกทำร้าย
ขณะที่นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ กรรมาธิการ เสนอแนะว่า คดีความการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นที่สนใจของสาธารณะ หากตำรวจสามารถชี้แจงความคืบหน้าของคดีได้เป็นระยะ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการยืนยันประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่เองด้วย
นายปิยบุตร ในฐานะประธานกรรมาธิการ ได้กล่าวสรุปว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรรมาธิการในครั้งนี้ เป็นไปเพื่ออำนวยความเป็นธรรม ยืนยันในหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงออกทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติกาสากลระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องการรับทราบข้อจำกัดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อที่กรรมาธิการจะช่วยผลักดันให้กระบวนการทำงานของตำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหลังจากนี้กรรมาธิการจะมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป