ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการสายด่วนเลิกเหล้า เผยผลพวงห้ามขายเหล้า ประชาชนแห่ปรึกษา เทียบเท่าช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา

พ.อ.(พิเศษ) นพ.พิชัย แสงชาญชัย ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีประชาชนโทรเข้ามาขอ รับคำปรึกษาเพื่อให้สามารถหยุดการดื่มได้อย่างปลอดภัยจำนวนมาก เกือบเท่ากับช่วงที่มีการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน 

สำหรับภาวะติดเหล้า มีข้อบ่งชี้ 7 ข้อ คือ 1.มีภาวะดื้อแอลกอฮอล์ ต้องดื่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เมาเท่าเดิม 2.มีภาวะถอนแอลกอฮอล์หลังงดดื่มหรือลดดื่มลง 3.ดื่มมากกว่าหรือนานกว่าที่ตั้งใจไว้ 4.พยายามลดลงหรือเลิกดื่มแต่ไม่สำเร็จ 5.หมกมุ่นและใช้เวลาหมดไปกับการดื่ม 6.เสียงานเสียการเนื่องจากปัญหาการดื่ม 7.ยังคงดื่มอยู่ แม้ว่าเกิดผลกระทบอย่างมากแล้ว

“หากใครมีอาการ 3 ข้อขึ้นไปจาก 7 ข้อ เรียกว่าอยู่ในภาวะติดเหล้า หากหยุดหรือลดดื่มกะทันหัน บางรายอาจมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่รุนแรงตามมา ระดับความรุนแรงหลังหยุดดื่ม ขึ้นอยู่กับปริมาณและความยาวนานของการดื่มในอดีต ผู้ต้องการเลิกดื่มหรือมีภาวะถอนแอลกอฮอล์ สามารถโทรปรึกษาได้ที่ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า หรือ Line ID: 1413helpline หรือ facebook fanpage: ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา Alcohol Help Center จะมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาการดูแลตัวเองในเบื้องต้น และให้คำปรึกษาการส่งต่อไปยังสถานพยาบาล เพื่อหยุดดื่มอย่างปลอดภัย” ผอ.ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา กล่าว

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพร้อมใจกัน ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ส่งผลให้สามารถช่วยชีวิตคนให้รอดจากอุบัติเหตุทางถนนได้ประมาณ 300 กว่าคน และที่สำคัญสามารถลดเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีที่แล้วเมาแล้วขับจากปีแล้ว20.0 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 5.5 เปอร์เซ็นต์ ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวและชุมชนได้ช่วยบุคคลอันเป็นที่รักได้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาดีกว่ารอให้เจ็บป่วยจากโรคตับแข็ง เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเป็นมะเร็งตับแล้วค่อยมารักษา 

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดจนหมอและบุคลากรทางการแพทย์จะนำประเด็นเรื่องการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปศึกษา เพื่อถอดบทเรียน เสนอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เป็นนโยบายสำคัญเพื่อลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจากสาเหตุการดื่มแล้วขับให้เป็นรูปธรรมต่อไป