วันที่ 19 เม.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทรวงยุติธรรมเร่งรีบพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทำผิดซ้ำทางเพศ-ความรุนแรง (JSOC) โดยนำเข้า ครม. และส่งไปวุฒิสภา ซึ่งใช้เวลาเพียง 9 เดือน เร็วกว่ากฎหมายปกติที่เฉลี่ยใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปี ว่า การพิจารณาที่เร็ว เพราะตนมองเห็นปัญหาของสังคมที่วิจารณ์เรื่องการทารุณทางเพศ หรือเรื่องเกี่ยวกับฆาตกรรม การเรียกค่าไถ่
ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทำผิดซ้ำทางเพศ-ความรุนแรง วุฒิสภา ซึ่งการพิจารณาที่เร็วต้องขอบคุณคนที่เห็นความสำคัญของกฎหมายที่จะออกมาป้องกันการกระทำทารุณทางเพศ ความรุนแรงที่เกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ถูกกระทำ เช่น การฆ่าข่มขืน หากออกมาเร็วจะช่วยป้องกันสุภาพสตรี และสร้างความปลอดภัยให้สตรีได้ จึงขอร้องวุฒิสภาพิจารณาให้เสร็จก่อนที่จะเปิดประชุมสภา เพื่อนำเข้าพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป ให้ออกมาเป็นกฎหมาย เพราะกว่าจะบังคับใช้ได้ จะต้องกฎหมายรองหรือประกาศกระทรวงตามออกมาอีก และเวลานี้อายุของสภาเหลืออีกแค่ไม่กี่เดือน จึงไม่ควรชักช้า อยากบอก กมธ.ของวุฒิสภาให้เร่งรีบ
“ที่บอกว่าทำไมเร่งรีบให้เร็ว ก็ตอบไปว่าเพราะผมเป็นผู้แทนและเป็น รมว.ยุติธรรม ผมเห็นว่าเวลาคนถูกฆ่าตาย เช่น กรณีไอซ์ หีบเหล็ก หรือ สมคิด พุ่มพวง ที่กระทำกับผู้หญิงและเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ถ้าเราไม่รีบควบคุมพวกนี้ให้อยู่หมัด จะเสียหายและถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วเมือง กฎหมายนี้จึงต้องเร่งออกมาให้ทันในสมัยประชุมสภาหน้า”
เมื่อถามอีกว่ากฎหมายฉบับนี้จะรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมาย JSOC จะป้องกันการทำผิดครั้งที่สอง เพราะจะเฝ้าระวังหลังจากพ้นโทษเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นการเฝ้าระวังธรรมดาจะเป็นการติดกำไลอีเอ็ม และมีอาสาสมัครคุมประพฤติของแต่ละหน่วยงานดูแล แต่ถ้าระหว่างนั้นมีอิทธิฤทธิ์ที่ผิดปกติมาก็สามารถขอคุมขังต่อได้ โดยขออำนาจศาลคุมขัง 7 วัน จากนั้นการคุมประพฤติต้องขอผ่านอัยการไปถึงศาล คุมประพฤติได้คราวละ 3 ปี ทั้งนี้ กฎหมายอาญาควบคุมผู้กระทำผิดใน 12 มาตรา โดย 6 มาตราแรกเกี่ยวกับเรื่องข่มขืนอนาจาร อีก 5 มาตราเป็นเรื่องของการฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น และเกี่ยวกับการเรียกค่าไถ่ 1 มาตรา