กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าภายใน 1 ปี ประเทศไทยเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด ชี้ช่วยลดปัญหาโลกร้อน ท่อระบายน้ำอุดตัน สัตว์ทะเลกินเข้าไปแล้วตาย
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.กำลังเดินหน้ากำจัดขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ทั้งหมดในประเทศ โดยเบื้องต้นได้หารือกับบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มจำนวนหลายแห่งและพบว่าส่วนใหญ่เลิกผลิต Cap Seal แล้ว คาดว่าภายใน 1 ปี ประเทศไทยจะปราศจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภทอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หากดำเนินการสำเร็จจะช่วยลดปริมาณขยะประเภทนี้ลงไปได้ถึงปีละ 520 ตัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยผลิตน้ำดื่มปีละ 7,000 ล้านขวด ใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มมากถึงปีละ 2,600 ล้านชิ้น ความยาว 2.6 แสนกิโลเมตร หรือคิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ
นายจตุพร กล่าวว่า พลาสติกหุ้มฝาขวดไม่เกี่ยวข้องกับความสะอาดของน้ำดื่ม ความสำคัญจึงอยู่ที่ฝาปิดขวดที่แน่นสนิท โดยพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนเพราะเป็นขยะที่ย่อยสลายยากและไม่มีประโยชน์ เบื้องต้น คพ.จะนำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ และห้องประชุมประจำกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ก่อน
"พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา จึงง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทะเล ซึ่งยากต่อการจัดเก็บและไม่คุ้มทุนที่จะนำมารีไซเคิล ส่งผลให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ และมีบางส่วนลงสู่ท้องทะเลจนสัตว์ทะเลกินเข้าไปแล้วตายเป็นจำนวนมาก"นายจตุพร กล่าว