ไม่พบผลการค้นหา
ภายในวิหารเครื่องไม้ อายุเกือบ 300 ปี วัดปงยางคก จังหวัดลำปาง มีลายทองประดับประดาแทบไม่เหลือพื้นที่ว่าง โดดเด่นด้วยภาพหม้อน้ำใส่เถาเครือไม้

ภายในวิหารเครื่องไม้ อายุเกือบ 300 ปี วัดปงยางคก จังหวัดลำปาง มีลายทองประดับประดาแทบไม่เหลือพื้นที่ว่าง โดดเด่นด้วยภาพหม้อน้ำใส่เถาเครือไม้

 

เล่าสืบต่อกันมาว่า วัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1243 ครั้งเมื่อพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย มาเยี่ยมเจ้าอนันตยศ ราชบุตร ผู้มาครองนครเขลางค์ลำปาง ระหว่างเดินทางนำฉัตรทองไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างพระที่นั่งย่อตัวหมอบชูงวงคารวะ พระนางเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพักพล ณ ที่นั้น

 

ตกกลางคืน พระนางอธิษฐานว่า ที่นี่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ปรากฎขึ้น จากนั้นมีแสงพุ่งออกมาจากจอมปลวก จึงทรงให้ปลูกวิหาร ณ ที่แห่งนั้น ให้นามว่า “วัดปงจ๊างนบ” ต่อมาคำเรียกเพี้ยนเป็นวัดปงยางคก

 

สำหรับวิหารหลังปัจจุบัน สันนิษฐานว่า เจ้าหนานทิพย์ช้าง ผู้ครองนครลำปาง ผู้กอบกู้อิสระจากพม่า  ได้สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 เนื่องจากท่านเป็นคนพื้นเพเดิมอยู่ที่บ้านปงยากคก

 

วิหารแบบล้านนาแห่งนี้ เรียกกันว่า วิหารจามเทวี ประวัติระบุว่าสร้างเมื่อพ.ศ. 2275 หรือเมื่อราว 285 ปีก่อน จัดเป็นวิหารขนาดเล็ก สร้างบนยกพื้นเตี้ยๆ มีรูปลักษณ์เรียบง่าย   

 

อาคารเป็นแบบวิหารโถง มีขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 5 ห้อง หลังคาลดชั้น ด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ผืนหลังคา 2 ตับ ช่อฟ้า ป้านลม หน้าบัน คำช่างล้านนาเรียก หน้าแหนบ เป็นแบบล้านนาดั้งเดิม

 

ผนังด้านยาวเป็น ฝาย้อย คือ ทำด้วยไม้เข้าเดือยเป็นแผง ปิดลงมาประมาณครึ่งเสา ฝาด้านในเขียนภาพและลวดลายตกแต่ง

 

ห้องท้ายวิหารก่อผนังทึบ ด้านทิศใต้ของห้องที่สามและห้องที่สี่ ก่อผนังเจาะช่องแสง เพื่อกันฝนสาด

 

ห้องท้ายวิหารเป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานพระประธาน

 

มณฑปทรงปราสาท คำช่างล้านนาเรียกว่า โขงพระเจ้า งดงามด้วยปูนปั้นและลวดลายประดับ พระประธานแสดงปางมารวิชัย

 

พระพุทธรูปปางสมาธิในวิหาร บนผนังด้านหลังเขียนลายทองบนพื้นสีแดง เป็นรูปเทวดาและต้นโพธิ์

 

วิหารจามเทวีนอกจากน่าชมในทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม แล้ว จิตรกรรมยังเป็นเอกด้วย ทั่วทั้งวิหารตั้งแต่เสา ฝาย้อย คอสอง จนถึงเครื่องบน ตกแต่งด้วยลายคำเต็มพื้นที่

 

ลายทองมีทั้งภาพอดีตพุทธเจ้า และลายเลียนแบบธรรมชาติ อาทิ พรรณพฤกษา นก และอื่นๆ

 

ภาพที่มีชื่อเสียงในความประณีตอ่อนช้อย ปรากฏทางซ้ายในภาพ บนแผงไม้ระหว่างเสา คือ ลายหม้อดอก 

 

หม้อดอก เรียกอีกอย่างว่า หม้อปูรณฆฏะ มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย หมายถึงหม้อน้ำอันมีน้ำเต็มบริบูรณ์ ไม้เลื้อยสื่อความหมายถึงความเจริญงอกงามและความร่มเย็น

 

ลวดลายหม้อน้ำคล้ายแจกัน บรรจุกอบัว มีก้าน ใบ และดอก สูงพ้นปากหม้อลดหลั่นกันเป็นพุ่ม แสดงการสักการะพระพุทธเจ้า หรือพระประธาน

 

ภาพอดีตพระพุทธเจ้า ตามคติทางศาสนา เคยมีพระพุทธเจ้าบังเกิดในโลกมากมายประหนึ่งเม็ดทรายในมหาสมุทร ก่อนที่จะมีพระศากยโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน 

 

ศิลปวัตถุอีกอย่าง คือ ธรรมาสน์ รูปร่างคล้ายกระทงทรงเหลี่ยม เป็นแบบฉบับที่หาดูยาก

 

คันทวย คำช่างล้านนาเรียก นาคตัน  แกะสลัก ฉลุโปร่ง เป็นรูปนาค แต่ละชิ้นมีลวดลายแผกต่าง.

 

วิหารจามเทวี วัดปงยางคก ช่างละลานตาด้วยพุทธ์ศิลป์ ล้วนล้ำค่าน่าชื่นชม.

 

แหล่งข้อมูล

 

เจษฎา สุภาศรี.  (2556).  หอธรรมศิลป์ล้านนา.  วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

 

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.  (2559).  พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย.  กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา

ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี

ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี

ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี

ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม

ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา

ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี

ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี

ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา

ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี

ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

ไทยทัศนา : (22) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่หนึ่ง)

ไทยทัศนา : (23) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สอง)

ไทยทัศนา : (24) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สาม)

ไทยทัศนา : (25) วัดพระธาตุลำปางหลวง (ตอนที่สี่-จบ)

ไทยทัศนา : (26) ประตูโขง วัดกากแก้ว นครลำปาง

ไทยทัศนา : (27) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่หนึ่ง)

ไทยทัศนา : (28) วัดไหล่หิน ลำปาง (ตอนที่สอง-จบ)

 

 

 

 

 

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog