ไทยและหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลกให้สัตยาบันในที่ประชุมยูเอ็น ว่าจะลดจำนวนการทิ้งขยะ พร้อมหามาตรการกระตุ้นประชาชนในประเทศให้ตระหนักถึงปัญหานี้ โดยมีรายงานเปิดเผยว่า ในปี 2016 ไทยทิ้งขยะลงทะเลถึง 2.8 ล้านตัน
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยมหาสมุทร(The Ocean Conference)ของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน หลายประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดอย่างไทย ฟิลิปปินส์ จีน อินโดนีเซีย ให้สัตยาบันจะไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development: SD) ของสหประชาชาติ ซึ่งวาระที่ 14 ระบุถึงการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
ด้านนายอีริค โซลเฮม ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกล่าวชื่นชมหลายประเทศ ที่เอาจริงเอาจังกับการกำจัดขยะมากขึ้น ถึงแม้ว่าการแก้ไขปัญหานี้ ยังต้องอาศัยเวลายาวนาน
ด้านรายงานของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (AAAS)ที่จัดทำในปี 2015 ระบุว่า ในแต่ละปี มีขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลกว่า 8 ล้านตัน โดยแพขยะในมหาสมุทรมีขนาดใหญ่กว่านครนิวยอร์กถึง 34 เท่า ซึ่งขยะบางส่วนถูกกลืนกินโดยนกและปลาในทะเล อย่างไรก็ตาม ยังมีขยะอีกจำนวนมากที่กลายเป็นขยะชิ้นเล็กๆใต้ท้องทะเล ที่นักวิจัยไม่สามารถสำรวจและคาดเดาเป็นปริมาณได้ โดยขยะส่วนมากมาจากประเทศที่ตลาดผู้บริโภคเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าการบริหารจัดการขยะและของเสีย
ด้านศูนย์วิจัยเฮล์มโฮลท์ส(Helmholtz Centre)ในเยอรมนีคาดว่า ร้อยละ 75 ของขยะพลาสติกบนบกที่ไหลลงมาสู่ทะเล มาจากแม่น้ำเพียง 10 สาย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย โดยหากลดจำนวนขยะพลาสติกในแม่น้ำเหล่านี้ได้เพียงครึ่งหนึ่ง จะทำให้ลดขยะพลาสติกในโลกได้ถึงร้อยละ 75
ขณะที่ข้อมูลขององค์กรกรีนพีซระบุว่า ไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก โดยตามข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ขยะในทะเลส่วนใหญ่ของไทยมาจากแหล่งท่องเที่ยว เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม และยังมีขยะที่มาจากการทำการประมง เช่น อวน หรือ เชือก ซึ่งในปี 2016 มีขยะบนบกที่ไหลสู่ทะเลจากไทยถึง 2.83 ล้านตัน โดยร้อยละ 12 เป็นขยะพลาสติก
ในการประชุมสหประชาชาติครั้งนี้ ตัวแทนจากไทยได้ยอมรับในที่ประชุมว่า ปัญหาขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลของไทย เกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดขยะ ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยการบรรจุเรื่องดังกล่าวเป็นวาระในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทีกำหนดว่าจะมีการเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะลงทะเล และส่งเสริมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนที่พลาสติก ขณะที่ตัวแทนจากฟิลิปปินส์ ระบุว่ากำลังจะออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ด้านอินโดนีเซียได้ดำเนินโครงการให้ความรู้กับเด็กในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการขยะ