ทราบหรือไม่! ว่าหากประเทศไทย เก็บภาษีกับคนรวยที่มีที่ดินติดรถไฟฟ้า จะช่วยให้ไทยมีรถไฟฟ้าได้อีกหลายสาย ได้ประโยชน์กับทั้งคนจนและคนรวย แต่พบว่า คนกลุ่มนี้ไม่ยอมเสียภาษี จึงไม่มีกฎหมายเก็บภาษีคนรวย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ชี้ให้เห็นว่า ราคาที่ดินใน กทม. เติบโต เพราะรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน และหากเก็บภาษีจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าจากรถไฟฟ้า จะทำให้รัฐมีรายได้ มาสร้างรถไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคอื่นได้อีกจำนวนมาก เมืองต่างๆ จะเติบโตอย่างมีระเบียบแบบแผนที่ดี
จากภาพพบว่า ราคาที่ดินแถวสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต นานาที่ ณ สิ้นปี 2560 จะมีราคาตารางวาละ 2.13 ล้านบาทนั้น ปรากฏว่าตามสถิติการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ราคาที่ดินในบริเวณดังกล่าว ณ สิ้นปี 2541 หรือเริ่มมีรถไฟฟ้านั้น ตกเป็นเงินตารางวาละ 380,000 บาท ซึ่งปีนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ (วิกฤตเศรษฐกิจปี 40) มาหมาดๆ ราคาที่ดินนิ่งหรือลดต่ำลงกว่าแต่ก่อน แต่หลังจากนั้น ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นโดยตลอดมาจนถึงสิ้นปี 2560 ณ ราคา 2.13 ล้านบาทต่อตารางวา หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 9.5% หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.6 เท่า
แต่หากนำเงิน 380,000 บาท (ณ สิ้นปี 41) ไปฝากธนาคาร ณ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ในระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 587,937 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 2.32% เท่านั้น เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงปีหลังๆ มาค่อนข้างต่ำ เช่นในรอบ 3 ปีหลัง ต่ำเพียง 1.3% เท่านั้น เมื่อหักลบราคาที่ดิน 2.13 ล้านบาท กับเงินฝากแบงก์ 587,937 บาท จะต่างกันถึง 1,542,063 บาท ซึ่งเงินส่วนที่เกินนี้ได้มาจากการมีรถไฟฟ้านั่นเอง แสดงว่าตัวทรัพย์สิน มีมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าผลที่ได้จากการมีรถไฟฟ้า
ดังนั้น มูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น 1,542,063 บาท ถือเป็น "ลาภลอย" ที่รัฐควรมีส่วนแบ่ง เช่น เมื่อมีการซื้อขาย ก็ควรแบ่งเข้าหลวงในรูปภาษี 1/4 หรือ 25% ในกรณีนี้เมื่อมีการเปลี่ยนมือ ก็คือเสียภาษี 385,516 บาท เพราะกำไรที่ได้ 1,542,063 บาท ไม่ใช่ได้มาเพราะตนเอง แต่เพราะรถไฟฟ้า จึงควรแบ่งให้รัฐที่สร้างรถไฟฟ้าจากภาษีของประชาชน