ไม่พบผลการค้นหา
'ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันของโลก เหตุขัดแย้งอาจกระทบความมั่นคงทางพลังงาน จึงคาดว่าประเทศอื่นๆ จะหาทางไกล่เกลี่ยยุติความขัดแย้งโดยเร็ว ตอนนี้ ตุรกี อิหร่าน และสหรัฐฯ เสนอตัวเข้ามาแล้ว'

จากกรณีการประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐกาตาร์ โดยมีซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)  ทำให้เกิดความสั่นคลอนไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการก่อการร้าย การเดินทางของประชาชนทั่วไป และความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันของโลกทั้งสิ้น

Voice TV สัมภาษณ์ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา เกี่ยวกับที่มาและผลกระทบของเรื่องนี้

ความขัดแย้งกาตาร์ VS ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย

7 ประเทศที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งเป็นประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย (หรืออ่าวอาหรับ) ตามด้วยอียิปต์ เยเมน ลิเบีย และมัลดีฟส์  

หลายประเทศให้เหตุผลว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและแทรกแซงกิจการภายใน

สำนักข่าวอัลจาซีรา สื่อของกาตาร์ ระบุว่านี่เป็น "วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค"

ดร.ศราวุฒิ ระบุว่า "ความไม่ลงรอยกันระหว่างกาตาร์และกลุ่มประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย เกิดขึ้นได้ระยะหนึ่งแล้ว และนี่ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2014 เคยมีกรณีที่ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน และยูเออี เรียกนักการทูตในกาตาร์กลับประเทศของตน เพื่อตอบโต้ที่กาตาร์สนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์”

กาตาร์ VS ซาอุดีอาระเบีย

“กาตาร์และซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีความสำคัญในแถบอ่าวเปอร์เซีย ทำให้เกิดการแข่งขันและสร้างอิทธิพลระหว่างกัน ที่ผ่านมาจะเห็นว่าซาอุดีอาระเบียคือพี่ใหญ่ และเป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุด แต่ระยะหลังกาตาร์เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้น จึงเกิดการแข่งขันระหว่าง 2 ประเทศนี้”

จุดยืนที่แตกต่าง

“ในระยะหลัง กาตาร์มีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะเรื่องการมองอนาคตของภูมิภาคตะวันออกกลาง กาตาร์มองว่าตะวันออกกลางควรที่จะเปลี่ยนและมีการปฏิรูปทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ในโลกอาหรับนับตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเกิดกระแสอาหรับสปริง สำนักข่าวอัลจาซีเราะห์ของกาตาร์ เข้าไปทำข่าวในหลายๆ ประเทศที่เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชน เพื่อที่จะเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการเมืองการปกครองในโลกอาหรับ ทำให้หลายครั้งก็กลายเป็นกระบอกเสียงของประชาชน คิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียมองกาตาร์อย่างหวาดระแวง”

“ซาอุดีอาระเบียและชาติพันธมิตรที่ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ในวันนี้ เป็นชาติที่ต้องการจะหยุดยั้งกระแสอาหรับสปริงไม่ให้คืบคลานเข้ามาในประเทศหรือภูมิภาคของตัวเอง เมื่อซาอุดีอาระเบียต้องการที่จะหยุดยั้งกระแสอาหรับสปริง แต่กาตาร์ต้องการใช้กระแสอาหรับสปริงในการเปลี่ยนแปลง-ปฏิรูปตะวันออกกลาง จึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการขัดกันระหว่างสองประเทศใหญ่ๆ ในกลุ่มอ่าวเปอร์เซีย”

ไม่ใช่ความขัดแย้งครั้งแรก

“การตัดความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อตอนที่มีการรัฐประหารอียิปต์ใหม่ๆ มีการตอบโต้ทางการทูตต่อกาตาร์ ซึ่งสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิมที่หนุนหลังอดีตประธานาธิบดีอียิปต์ซึ่งถูกรัฐประหาร ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียให้ความรับรองต่อการรัฐประหารในอียิปต์ครั้งนั้น ทำให้ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน ซึ่งเป็นสมาชิกประเทศอ่าวเปอร์เซีย สั่งนักการทูตของตัวเองกลับประเทศ แต่สถานการณ์คลี่คลายในเวลาต่อมา เพราะคูเวตเข้าไปเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย”


 

ทำไมต้องตัดสัมพันธ์รอบใหม่ในตอนนี้?

“เหตุผลที่ทำให้มีการตัดสัมพันธ์ครั้งใหม่เกิดขึ้น อาจเป็นผลจากการมาเยือนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมาก โดยมีสูตรของความสัมพันธ์ คือ Oil for Security ซึ่งสหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากน้ำมันของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ในขณะที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ได้รับความปลอดภัยมั่นคงจากกองกำลังทางทหารของสหรัฐฯ ในการที่จะคุ้มครอง”

“ประเทศไหนก็ตามที่จะมีการตัดสินใจใหญ่ๆ จะไม่สามารถทำได้ ยกเว้นเสียแต่ว่ามีการปรึกษาหารือหรือขอไฟเขียวจากสหรัฐฯ ก่อน การมาเยือนของทรัมป์ในซาอุดีอาระเบียจึงคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายคงจะปรึกษาหารือกันว่าจะมีมาตรการลงโทษกาตาร์ที่ค่อนข้างจะแตกแถว และคิดว่านี่คือมาตรการลงโทษของซาอุดีอาระเบียที่มีต่อกาตาร์ และได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ ด้วย

กาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายจริงหรือ?

“กาตาร์เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนขบวนการภราดรภาพมุสลิม หรือ Muslim Brotherhood เพราะถือว่าเป็นขบวนการที่ได้รับความนิยมจากฐานมวลชนในโลกอาหรับ กรณีตัวอย่างในอียิปต์ เห็นได้ชัดว่าภราดรภาพมุสลิมเกิดจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและให้การศึกษา แต่เมื่อถึงยุคสมัยหนึ่ง โครงการเหล่านี้ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอียิปต์ได้ ทำให้คนในขบวนการเข้าไปเล่นการเมือง แต่ระบอบการปกครองในอียิปต์ทุกยุคทุกสมัยมองว่าภราดรภาพมุสลิมเป็นศัตรู เป็นฝ่ายต่อต้าน และต้องปราบปรามอย่างหนัก จับมาขังคุก จับมาทรมาน จับมาฆ่า ทำให้คนที่ได้รับการทรมาน กด หรือบีบคั้นจากระบบการปกครอง แยกตัวไปจากขบวนการหลัก และหันไปใช้ความรุนแรง”

“ซาอุดีอาระเบียและประเทศต่างๆ ที่ปกครองด้วยราชวงศ์กษัตริย์มองว่าขบวนการภราดรภาพมุสลิมเป็นภัยคุกคาม และเป็นขบวนการที่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย วันหนึ่งขบวนการเหล่านี้อาจจะเป็นภัยคุกคามและมาล้มระบอบราชวงศ์กษัตริย์ของประเทศอ่าวเปอร์เซีย แต่กลุ่มประเทศพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียต้องการสิ่งที่เรียกว่า Status quo นั่นก็คือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศพันธมิตรจึงสร้างความชอบธรรมในการกำจัดขบวนการภราดรภาพมุสลิมโดยกล่าวอ้างว่าขบวนการเหล่านี้คือขบวนการก่อการร้าย”

“ขบวนการฮามาสในปาเลสไตน์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีแนวคิดภราดรภาพมุสลิม และฮามาสเป็นภัยต่ออิสราเอล ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมามีอำนาจ สิ่งสำคัญลำดับแรกคือการพยายามโชว์ให้โลกได้เห็นว่าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ คือการรักษาความปลอดภัยและผลประโยชนให้แก่อิสราเอล ทำให้สหรัฐฯ ไม่สนใจใยดีความสัมพันธ์ที่มีต่อกาตาร์ เพราะว่าหากสหรัฐฯ ต้องเลือกระหว่างกาตาร์กับอิสราเอล สหรัฐฯ ก็ย่อมจะเลือกอิสราเอล”

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“กาตาร์ต้องพึ่งพิงซาอุดีอาระเบียในหลายๆ ส่วน เช่น การขนส่งทางบก เรื่องอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค นับจากนี้ต่อไป ถ้ากาตาร์ต้องการสิ่งเหล่านี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากการขนส่งทางบกก็อาจจะเป็นทางเรือหรือทางอากาศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนจากประเทศแอบอ่าวเปอร์เซียมากมายที่มาลงทุนในกาตาร์ อียิปต์เองก็มีแรงงานนับแสนๆ คนที่เข้าไปทำงานในกาตาร์ มาตรการลงโทษกาตาร์อย่างนี้เป็นวิธีการที่มันทำให้เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และคนที่ต้องลำบากจากมาตรการนี้ก็คือประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะพวกแรงงานที่เข้าไปทำงานในกาตาร์ เพราะถึงจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน แต่ก็มีคนทำงานน้อยมาก จึงต้องเอาคนจากที่อื่นมาทำงาน”

“นอกจากนี้ กาตาร์กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมระดับโลกหลายอย่าง เช่น ฟุตบอลโลก การปิดพรมแดนย่อมส่งผลกระทบให้การขนส่งวัสดุก่อสร้างทำได้ยากลำบาก เป็นอุปสรรคที่ประชาคมโลกต้องให้ความสนใจ การเตรียมตัวจะทันหรือไม่ หลายประเทศน่าจะกังวล”

แนวทางยุติความขัดแย้ง

"หลายประเทศพยายามที่จะพูดถึงแนวทางการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างสองกลุ่มนี้ อย่างตุรกีก็บอกว่าพร้อมจะเป็นตัวกลางในการคลี่คลายไกล่เกลี่ย อิหร่านหรือแม้แต่สหรัฐฯ ก็พูดคล้ายๆ กัน เพราะหากยืดเยื้อในระยะยาว ปัญหาระหว่างกาตาร์และกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียจะไม่ได้ส่งผลกระทบแต่ในภูมิภาคเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อโลกในภาพรวมด้วย เพราะทั้งกาตาร์และซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญและมีทรัพยากรอยู่เยอะมาก ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อโลก จึงทำให้โลกไม่สามารถละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และจะต้องมีหลายประเทศเข้ามาช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยเจรจายุติความขัดแย้งให้จบเร็วที่สุด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog