ยูเอ็นมีมติให้ขึ้นบัญชีดำกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเกาหลีเหนือเพิ่มเติม หลังเงื่อนไขดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทั้งจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ
ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ลงมติเห็นชอบมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ และเป็นการขยายผลคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่สหรัฐฯ ผลักดันสำเร็จเป็นครั้งแรกในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมจะเป็นการตอบโต้ที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธและพัฒนาศักยภาพนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงช่วงต้นปีนี้ที่มีการยิงขีปนาวุธตกลงในทะเลญี่ปุ่น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยูเอ็นเอสซียอมรับข้อเสนอให้เพิ่มรายชื่อผู้ถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่รัสเซียและจีนคัดค้าน จนกระทั่งมีการหารือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมาชิกยูเอ็นเอสซีทั้ง 15 ประเทศจึงลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ครั้งแรก
นางสาวนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีและการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ แต่สหรัฐฯ ต้องเตรียมพร้อมตอบโต้ในกรณีที่เกาหลีเหนือใช้ความรุนแรงในทางใดทางหนึ่ง ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมครั้งนี้เป็นการเตือนให้เกาหลีเหนือตระหนักว่าถ้าไม่ยุติการทดสอบขีปนาวุธก็จะต้องเผชิญกับผลที่ตามมา
ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ได้แก่ คำสั่งห้ามบุคลากรในรัฐบาลเกาหลีเหนือเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยสอดแนมและหน่วยยุทธศาสตร์ขีปนาวุธเกาหลีเหนือ ตลอดจนการอายัดทรัพย์สินในบัญชีธนาคารโคเรียวของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีเบาะแสบ่งชี้ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มออฟฟิศ 38 ซึ่งจัดการธุรกรรมการเงินแก่บัญชีส่วนตัวของแกนนำระดับสูงในรัฐบาลเกาหลีเหนือ
ขณะที่นางโทโมมิ อินาดะ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นแถลงสนับสนุนรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าด้วยว่าญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือด้านการทหารกับสหรัฐฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีเหนือและในภูมิภาคให้กลับสู่ภาวะปกติ
ก่อนหน้านี้ ยูเอ็นเอสซีมีมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรอบแรกในปี 2006 (พ.ศ.2549) หลังจากเกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธและทดลองโครงการอาวุธนิวเคลียร์หลายครั้ง แม้จะมีความพยายามเจรจากันระหว่างเกาหลีเหนือและภาคี 6 ประเทศเพื่อการยุติโครงการนิวเคลียร์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: