คุยกับ 2 นักธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของกิจการเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง ซึ่งใช้โลกออนไลน์สื่อสารและเรียนรู้สร้างกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ต่อยอดประสบการณ์ของครอบครัวและใช้ความรู้หลังเรียนจบปริญญาโทจากอังกฤษ
พิม(ผมยาว)และโบ(สวมแว่นตา)
สัมภาษณ์ โบ กมลวรรณ มีรุ่งเรือง (27 ปี) และ พิม พิรดา กาวชู (29 ปี) คนรุ่นใหม่เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง ‘PAWS & CLAWS’ ซึ่งมีลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้ง 2 คน เล่าว่าธุรกิจนี้เริ่มจากมีใจรักสัตว์เลี้ยงและเชื่อว่าทุกอย่างถ้าเราตั้งใจก็น่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ส่วนสาเหตุที่เลือกทำเสื้อผ้าน้องหมาเพราะทั้งพิมและโบเป็นคนชอบซื้อเสื้อผ้าชอบแต่งตัวและชอบแต่งตัวให้น้องหมาด้วย จึงเริ่มจากความชอบ ความรัก พอทำออกมา ก็รู้ว่ามีคนชอบสไตล์เดียวกัน จึงเริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ
-ชีวิตที่ใช่ งานที่เลือก
ก่อนจะมาเป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าน้องหมา ทั้ง 2 คนจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษและจากพื้นฐานครอบครัว ก็มีทางเลือกที่สามารถจะทำงานอย่างอื่นได้ แต่สุดท้ายเลือกงานที่รัก
“พิม” เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านกฎหมายอีก 2 ใบจากอังกฤษ University of Essex ( International trade Law) และ University of Leeds ( Intellectual property Law) เธอมาจากครอบครัวผู้พิพากษา คุณพ่อเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์
พิม เล่าว่า ตอนแรกคุณพ่อไม่สนับสนุนให้ทำธุรกิจนี้ เพราะอยากให้ทำงานในสายงานที่คุณพ่อทำซึ่งเป็นสายที่ส่วนตัวก็เรียนมาคือด้านกฎหมาย แต่พอทำแล้วฟีดแบคดี เราก็มีความสุข พิสูจน์ให้คุณพ่อเชื่อมั่นได้ ดูแลตัวเองได้ ตอนนี้คุณพ่อก็โอเค เวลาออกบูธกี่งาน คุณพ่อก็ตามไปดู
ส่วน “โบ” เรียนจบคณะมนุษยศาสตร์ สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และปริญญาโทจากอังกฤษ ด้านการโฆษณาและการตลาด (Advertising & Marketing) University of Leeds ครอบครัวทำธุรกิจมาตลอด 30 ปีเป็นเจ้าของสถาบันกวดวิชาเดอะติวเตอร์
โบ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจสถาบันกวดวิชา แต่การขายเสื้อผ้าสัตว์เลี้ยงเป็นงานแรกที่ทำด้วยตัวเองซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากครอบครัวด้วย
พิมกับโบ เล่าว่า ตั้งแต่เป็นเด็กชอบเลี้ยงหมา แต่เลี้ยงตามปกติในบ้าน ไม่ได้เข้าสังคมหรือติดตามเพจคนรักหมา จึงต้องเริ่มทุกอย่างเองทั้งหมดไม่มีฐานลูกค้าคนเลี้ยงสุนัข
รวมถึงทั้งคู่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า ดังนั้น การตัดเย็บเสื้อผ้าจึงเริ่มจากเรียนรู้หนังสือสอนทำแพทเทิร์นเสื้อผ้าหมาของญี่ปุ่น และโชคดีที่คุณยายของพิม เป็นช่างเสื้อ ได้ถ่ายทอดมาสู่คุณแม่ของพิมและถ่ายทอดถึงพิม
ส่วนคุณแม่ของโบ มีจักรอยู่ 1 ตัว และเวลาไปเที่ยวชอบซื้อผ้าเก็บไว้ ก็เลยเริ่มจากสิ่งที่มีในบ้านก่อน แล้วก็ทำขึ้นมา แต่แพทเทิร์นของคนกับสัตว์จะต่างกัน ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้
“มีแต่คนตื่นเต้นว่า เราเรียนจบปริญญาโททั้งคู่และมาในสายงานที่ไม่ใช่สายนี้ แต่อย่างไรสิ่งที่เรียนมา เราได้ใช้หมดในธุรกิจนี้ เวลาถ่ายรูปก็ได้ใช้ความรู้ปริญญาตรี การตลาดได้ใช้แน่นอนทั้งโดยรู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว เรามีกรอบค่อยๆ คิดวางแผน” โบกล่าว
ส่วนพิม เล่าว่า ได้ใช้ความรู้กฎหมายเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและลูกค้าก็สนใจเรื่องการนำเข้าเอ็กซ์คลูซีฟดิสทริบิวเตอร์ คือ ผู้นำเข้ารายเดียวของประเทศนั้นๆ ต้องอาศัยสัญญา สิทธิประโยชน์อะไรที่เขาจะได้
-สร้างจุดแข็ง ความแตกต่าง
โบและพิม เล่าว่าตั้งใจทำเสื้อผ้าน้องหมา สไตล์ที่เน้นรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เป็นงานแต่งด้วยมือ เช่น ดอกไม้ผ้า ตัวเพชร คริสตัล เป็นจุดแข็งแตกต่างจากรายอื่นในตลาด เล่นดีเทลเรื่องการตกแต่งพร้อมกับมีเรื่องราว เช่น เรื่องราวจากนิทานและแฟชั่นแต่ละฤดู จุดต่างอีกอย่างคือ แพทเทิร์นมีกว่า 10 แบบ หลากหลายมาก เนื้อผ้าก็หลากหลาย
ส่วนกลุ่มลูกค้า มองกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยง ชอบแต่งตัวให้สัตว์เลี้ยง อยากให้สินค้าเราเป็นสินค้าที่ทุกคนจับต้องได้ ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าจะต้องไฮเอนด์ ซึ่งถ้าจะแบ่งในแง่การตลาด คิดว่าระดับกลางถึงบนและราคาสมเหตุสมผล
มีลูกค้าบางคนทุ่มมากๆ กับน้องหมาตัวหนึ่งไม่ใช่ว่าเขาเป็นไฮโซหรือดาราจึงซื้อเสื้อผ้าร้านเรา แต่เพราะเขาเป็นคนรักหมาและเสื้อผ้าเราตรงตามความชอบของเขา เขาก็เต็มที่ที่จะซื้อ ระดับราคาเสื้อผ้าน้องหมาร้านเรามีตั้งแต่ 290 – 1,500 บาท ไม่ต้องเป็นไฮโซก็ซื้อได้
-ธุรกิจเสื้อผ้าน้องหมาในยุคที่สัตว์เลี้ยงเป็นเหมือนคนในครอบครัว
โบและพิม เล่าว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน เสื้อผ้าอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญหลักสำหรับสัตว์เลี้ยง แต่เป็นเหมือนรางวัลพิเศษที่จับเขาแต่งตัว นอกจากเหตุผลเรื่องความสวยงามแล้ว น้องหมาพันธุ์เล็กอย่างชิวาว่า ก็กลัวหนาวด้วย แม้จะอยู่เมืองไทย แต่เวลาอยู่กับเจ้าของก็จะอยู่ในห้องแอร์ น้องหมาสำหรับหลายคนอาจจะไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว
-ช่องทางโซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่
ทั้ง 2 คน บอกว่า โลกออนไลน์ ทำให้ไม่ต้องไปเช่าหน้าร้านในเมืองเพื่อโฆษณาสินค้า แต่ใช้โซเชียลมีเดียอินสตาแกรมและเฟซบุคเป็น 2 ช่องทางสื่อสารกับลูกค้า โดยพยายามทำสิ่งที่เรารู้ เช่น ติดแฮชแท็ก หรือใช้สปอนเซอร์
การเป็นคนเจนเนอเรชั่นใหม่สามารถเอาสิ่งใหม่มาเสริมได้ แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ช่วยเยอะในการให้แนวทางการทำงาน
โบ เล่าว่า คุณพ่อแนะนำให้จดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภค เราจดตั้งแต่แรก ฉะนั้น รูปแบบบริษัท บัญชี ต้องมาเรียนรู้เยอะมาก เราทำกันเองโดยที่คุณพ่อปล่อยให้ทำ ตั้งแต่ตัดเย็บเสื้อผ้า แต่งเสื้อผ้า ทำบัญชีได้ จ้างคนมาตรวจสอบบัญชี
พิม บอกว่า ถ้ายังไม่มีโลกออนไลน์ ก็คงจะต้องลงทุนหน้าร้านก่อน แต่ยุคนี้มี IG FB ทำให้ได้ลองตลาดก่อน ได้รู้กลุ่มลูกค้า ก่อนที่จะมีการลงทุนก้อนใหญ่จริงๆ เพื่อจะได้รู้แนวโน้มสินค้าไปได้จริงหรือเปล่า เริ่มจากตลาดออนไลน์ 1 ปีแรกทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก พอเข้าสู่ปีที่ 2 จึงมีโชว์รูมและออฟฟิศ ดังนั้น ตอนแรกไม่ได้ลงเงินก้อนใหญ่ ไม่ได้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์
เมื่อทำไปแล้วมีลูกค้าไทยและต่างชาติ จึงขยายมาการลงทุนโดยมีผู้ใหญ่มาช่วยให้คำปรึกษาด้วย เพราะในธุรกิจก็ต้องมีความเสี่ยง แม้เราจะรู้สึกตั้งแต่แรกว่าสินค้าต้องมีคนชอบและไปได้
-ลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ
พิม บอกว่า ลูกค้าขายส่งมีญี่ปุ่น ขายใน Amazon Japan อินโดนีเซียขายในออนไลน์ ออกบูธ ตามงาน Pet Expo ของประเทศเขา และฮ่องกง ขายใน pet shop spa เขาบินมาซื้อไปขายต่อ ส่วนคนที่ซื้อไปใช้เลย ก็มีเวียดนาม เกาหลี ติดต่อทางโลกออนไลน์
นอกจากนั้น ได้ร่วมงานกับกรมส่งเสริมการส่งออก หลังจากเริ่มทำธุรกิจ ได้ 1 ปีกว่า ได้ไปออกบูธงาน Thailand Cat Show ที่เซนทรัลลาดพร้าว เป็นงานประกวดแมว ออกบูธขายเสื้อผ้า แล้วเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการส่งออกมาเดินในงาน แล้วชวนเราเข้ากลุ่มไปสัมนาและมีกิจกรรมที่กรมส่งเสริมฯ จับมือกับผู้นำเข้าประเทศญี่ปุ่น มีบูธผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง ในงาน Tokyo International Gift Show 2016 โดยคัดเลือกแบนรด์ไทย 3 แบรนด์ ซึ่งเราเป็น 1 ใน 3 ที่ได้รับคัดเลือกไปร่วมงาน โดยชุดที่นำไปแข่งคือชุดมวยไทย หลังจากนั้น ก็มีลูกค้ามาถามหากางเกงมวยไทย เพราะเขาเห็นในโบรชัวร์ปี 2017 เขาก็ติดตามถามว่ายังมีอยู่ไหม
เมื่อถามถึงรายได้และการเก็บภาษีแม่ค้าออนไลน์ โบและพิม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรายได้หลักแสนต่อเดือน ส่วนเรื่องภาษีแม่ค้าออนไลน์ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราทำเป็นบริษัทจึงอยู่ในระบบตั้งแต่แรก มีบัญชี สำหรับปีที่ผ่านมายังไม่ได้จดแวตเนื่องจากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่ปีนี้ก็ไม่แน่...