ไม่พบผลการค้นหา
รายงานผลการวิจัย เพื่อทบทวนการสอน 'เพศวิถีศึกษา' ในสถานศึกษาไทย โดยยูนิเซฟร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ครูผู้สอนเน้นกระบวนการสอนแบบบรรยาย มากกว่าให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง และให้ความสำคัญกับสุขภาวะของร่างกาย และการคุมกำเนิด มากกว่าสิทธิทางเพศ และ ความหลากหลายทางเพศ 

รายงานผลการวิจัย เพื่อทบทวนการสอน 'เพศวิถีศึกษา' ในสถานศึกษาไทย โดยยูนิเซฟร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ครูผู้สอนเน้นกระบวนการสอนแบบบรรยาย มากกว่าให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง และให้ความสำคัญกับสุขภาวะของร่างกาย และการคุมกำเนิด มากกว่าสิทธิทางเพศ และ ความหลากหลายทางเพศ 
    
องค์การยูนิเซฟ กับ ศูนย์นโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย รายงานผลการวิจัย เพื่อทบทวนการสอน "เพศวิถีศึกษา" ในสถานศึกษาไทย เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ จากกลุ่มตัวอย่างครูและนักเรียน ในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ทั่วประเทศ กว่า 9,000 คน  ครอบคลุมเพศชาย หญิง และกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ข้อค้นพบที่น่าสนใจ อาทิ  ระยะเวลาในการสอน  โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ควบเนื้อหาเพศศึกษาในวิชาสุขศึกษา ส่งผลให้การเรียนเพศศึกษามีระยะเวลาประมาณ 2 ถึง 4 คาบ ต่อ 1 ภาคการศึกษา  ขณะที่โรงเรียนอาชีวะฯ ส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 80 สอนรายวิชาเพศศึกษา แยกต่างหากจากวิชาอื่น 

ด้านเนื้อหาที่สอนในห้องเรียน พบว่า มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิทธิทางเพศและความเป็นพลเมือง ตลอดจนหัวข้อความรุนแรงน้อยที่สุด  เมื่อเทียบกับการสอนหัวข้อบทบาทชายหญิง  สุขภาวะทางเพศ และ ความรุนแรง  โดยหัวข้อสิทธิทางเพศ ประกอบด้วยหัวข้อย่อยเกี่ยวกับ การรังแกบุคคลหลากหลายทางเพศคือการละเมิดสิทธิมนุยษยชน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลด้านลบ  การกอด-จูบคือการแสดงความรู้สึกดีต่อกัน และการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ
    
นอกจากนี้ เมื่อลงรายละเอียดในหัวข้อสุขภาวะทางเพศ พบว่า หัวข้อย่อยเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัย ได้รับการสอนน้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 50 เช่นเดียวกับหัวข้อย่อย การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่เพศเดียวกัน ร้อยละ 62 โดยหัวข้อที่ให้ความสำคัญมากที่สุด ประกอบด้วย การตั้งครรภ์ โรคติดต่อ การเจริญพันธุ์ของเพศชาย และอวัยวะสืบพันธุ์ 
        
นายทิโม ที โอจาเนน ทีมวิจัย อดีตนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุปัญหาที่พบในการสอนเพศวิถีศึกษาในห้องเรียนไทย ประกอบด้วย การให้ความสำคัญต่อการงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ และการคุมกำเนิด  แต่ละเลยความสำคัญเรื่องเพศสภาวะ สิทธิ และอำนาจ นอกจากนี้ ยังละเลยการสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยส่วนใหญ่มักสอนบนพื้นฐานเพศหญิง-ชาย ขณะที่ครูสอนเพศศึกษาจากมุมมองด้านลบ 
        
นางสาวมนชนก เดชคำแหง นำเสนอในเวทีเสนา "จากงานวิจัย...สู่การปฏิบัติ" เปรียบเทียบการเรียนการสอนเพศศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนชี้โพรงที่เหมาะสมให้กระรอก 

 นอกจากนี้ ยังมองว่าครูผู้สอนเป็นปัจจัยที่สำคัญในห้องเรียนเพศศึกษา แต่พบว่าที่ผ่านมา ครูส่วนใหญ่ไม่รู้จริง  สอนไม่ครอบคลุมประเด็นเรื่องเพศที่สำคัญ และมีท่าทีการสอนคล้ายหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ความรู้ด้านเพศศึกษาส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม สังคม และสื่อนอกตำราเรียน 
     

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog