นิตยสารฟอร์บส์เผยรายชื่อมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับ 50 คนแรกในประเทศไทยประจำปี 2017 โดยมหาเศรษฐีทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ‘ฟอร์บส์’ รายงานว่าเศรษฐกิจของไทยเติบโตรวม 3.3 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 4 ปี เป็นผลจากราคาผลผลิตทางการเกษตรเริ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และการส่งออกกระเตื้องขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากประเทศไทยตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเป็นเวลานาน นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2016
จากการรวบรวมข้อมูลขของฟอร์บส์พบว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 50 อันดับ มีรายได้และทรัพย์สินรวมกันถึง 123,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีไทยที่สำรวจในช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว พร้อมระบุด้วยว่าปีนี้ 2 ใน 3 ของมหาเศรษฐีในไทยทั้ง 50 อันดับร่ำรวยขึ้น แม้จะมีบางคนที่หลุดจากการจัดอันดับของฟอร์บส์ไปในปีนี้ แต่ก็มีผู้ที่ติดอันดับเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นมาอีก 3 คนเช่นกัน
มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในไทย 10 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่
1. ตระกูลเจียรวนนท์ (เครือซีพี) 21,500 ล้านดอลลาร์
2. เจริญ สิริวัฒนภักดี (เบียร์ช้าง) 15,400 ล้านดอลลาร์
3. ตระกูลจิราธิวัฒน์ (เซ็นทรัล) 15,300 ล้านดอลลาร์
4. เฉลิม อยู่วิทยา (กระทิงแดง) 12,500 ล้านดอลลาร์
5. วิชัย ศรีรัตนประภา (คิงพาวเวอร์) 4,700 ล้านดอลลาร์
6. กฤษณ์ รัตนรักษ์ (สถานีโทรทัศน์ช่อง 7) 3,900 ล้านดอลลาร์
7. วานิช ไชยวรรณ (ไทยประกันชีวิต) 3,800 ล้านดอลลาร์
8. ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ (รพ.กรุงเทพ) 2,600 ล้านดอลลาร์
9. สันติ ภิรมย์ภักดี (เบียร์สิงห์) 2,300 ล้านดอลลาร์
10. อาลก โลเฮีย (ธุรกิจปิโตรเคมิคัล) 1,500 ล้านดอลลาร์
ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ติดอันดับ 11 มีทรัพย์สินรวม 1,700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งฟอร์บส์ระบุว่าเป็นนักลงทุน ส่วนมหาเศรษฐีอื่นๆ ที่ติดอันดับปีนี้เป็นปีแรก ได้แก่ อันดับ 35 วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ มีทรัพย์สิน 750 ล้านดอลลาร์ จากธุรกิจอาหาร บริษัทไทยฟู้ดส์ และอันดับ 44 อิทธิพัฒน์ พีระเดชาพันธุ์ จากธุรกิจสาหร่ายทอดเถ้าแก่น้อยและขนมขบเคี้ยวอื่นๆ มีทรัพย์สิน 610 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในการจัดอันดับของฟอร์บส์ปีนี้ คือ 32 ปี ขณะที่อันดับ 46 ณัฐชไม ถนอมบุญเจริญ มีทรัพย์สิน 510 ล้านดอลลาร์ จากธุรกิจเครื่องดื่มบำรุงกำลังเครือคาราบาวกรุ๊ป หรือ ซีบีจี
ส่วนมหาเศรษฐีที่หลุดจากกลุ่ม 50 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ นิจพร จรณะจิตต์ และเปรมชัย กรรณสูต จากกลุ่มบริษัท อิตัล-ไทย ซึ่งเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างครบวงจร รายได้ตกลงไป 35 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลสั่งชะลอการใช้ง่ายงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ฟอร์บส์ระบุว่า การจัดอันดับข้อมูลมหาเศรษฐีในไทยไม่ได้เป็นการจัดอันดับบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงตระกูลและเครือญาติ โดยอ้างอิงจากข้อมูลผู้ถือหุ้น สัดส่วนผู้ถือหุ้น บทวิเคราะห์และรายงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยสินทรัพย์ของผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจะอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทจำกัดจะประเมินข้อมูลโดยเปรียบเทียบกับบริษัทประเภทเดียวกันที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: