เหล่าแฮกเกอร์ชาวอินเดียแสดงความน้อยใจที่บริษัทในประเทศไม่ให้ความสำคัญ ทั้งที่บริษัทต่างชาติมีการจ่ายค่าตอบแทนกับแฮกเกอร์ที่ช่วยค้นหาและแจ้งเตือนหากพบช่องโหว่ของระบบรักษาความปลอดภัยหรือโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์
แฮกเกอร์หมายถึงผู้ที่ก่อกวน พยายามหาวิธีการหรือหาช่องโหว่ของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อแอบลักลอบเข้าสู่ระบบ เพื่อล้วงความลับ หรือแอบดูข้อมูลข่าวสาร บางครั้งก็มีการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลข่าวสาร จนเกิดความเสียหายทั้งต่อองค์กรของรัฐและเอกชน บางครั้งก็มีการเรียกร้องเงินเพื่อแลกกับการทำให้ระบบที่ถูกแฮกกลับมาเป็นเหมือนเดิม นับว่าเป็นอาชญากรรมด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก็มีแฮกเกอร์อีกประเภทหนึ่ง ที่พยายามหาช่องโหว่ของระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ แต่ไม่ใช่เพื่อเข้าไปทำลายหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล แต่เพื่อเตือนให้บริษัทต่างๆ รู้ว่าระบบของตัวเองมีช่องโหว่ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ จะได้หาทางป้องกันได้ทันท่วงที ซึ่งแฮกเกอร์เหล่านี้จัดว่าอยู่ในประเภทแฮกเกอร์สายธรรมะหรือแฮกเกอร์แบบมีจริยธรรม ซึ่งแฮกเกอร์ประเภทนี้ได้กลายมาเป็นอาชีพยอดนิยมของคนหนุ่มสาวชาวอินเดียที่เรียนสาย IT ทำให้ขณะนี้อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตแฮกเกอร์แบบมีจริยธรรมมากที่สุดในโลก
เว็บไซท์ บักคราวด์ (BugCrowd) ซึ่งเป็นเครือข่ายกลุ่มแฮกเกอร์ระดับโลก รายงานว่าแฮกเกอร์ชาวอินเดียทำรายได้มากที่สุดหากเทียบกับแฮกเกอร์จากชาติอื่นๆ ในการล่าเงินรางวัลจากการค้นหาความผิดพลาดของระบบคอมพิวเตอร์และแจ้งเตือนบริษัทต่างๆ แม้แต่เฟซบุ๊กก็จ่ายเงินรางวัลให้กับแฮกเกอร์ชาวอินเดียที่ช่วยค้นหาช่องโหว่ของระบบมากกว่าแฮกเกอร์จากชาติอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว
แฮกเกอร์ชาวอินเดียคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า "กรีกบอย" เปิดเผยว่าเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการแฮกเกอร์ช่วยหาช่องโหว่ของระบบที่ให้บริการด้านต่างๆ ออนไลน์มากขึ้น ซึ่งกรีกบอยบอกว่าเขาคนเดียวก็ค้นพบช่องโหว่กว่า 700 จุดของบริษัทด้านไอทีและสตาร์ทอัพ อย่างยาฮู และอูเบอร์ ซึ่งก็ทำให้เขามีรายได้ที่เป็นที่น่าพอใจจากการแจ้งเตือนบริษัทเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทต่างชาติจะมีค่าตอบแทนให้กับเหล่าแฮกเกอร์ที่มีจริยธรรมเหล่านี้ แต่ว่าบริษัทของอินเดียกลับมองพวกเขาว่าไม่น่าไว้วางใจ และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แฮกเกอร์ที่ช่วยค้นหาช่องโหว่ในระบบให้
นายอนันต์ ปรากาช วิศวกรด้านระบบรักษาความปลอดภัยวัย 23 ปี บอกว่าเขาทำรายได้ราว 350,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านบาท จากการค้นหาช่องโหว่ของระบบให้กับบริษัทต่างชาติ ยกตัวอย่างว่าเมื่อเขาส่งอีเมลแจ้งเตือนไปยังเฟซบุ๊กว่าพบช่องโหว่ในระบบของเฟซบุ๊กที่จะทำให้เขาโพสข้อความด้วยการใช้ชื่อผู้ใช้งานคนใดก็ได้ ทางเฟซบุ๊กก็รีบติดต่อกลับมาโดยทันที แต่เมื่อเขาส่งอีเมลเตือนบริษัทในอินเดีย ส่วนใหญ่จะถูกเพิกเฉย บางครั้งก็ถูกส่งอีเมลกลับมาขู่ด้วยว่าเขาจะถูกแจ้งความข้อหาละเมิดข้อมูลไซเบอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกท้อแท้ เพราะเขามองว่าเขากำลังพยายามช่วยให้บริษัทในอินเดียพัฒนาระบบรักษาความปลอดของข้อมูลให้มีความรัดกุมมากขึ้น แต่กลับถูกมองว่าเป็นอาชญากร
เหล่าแฮกเกอร์สายธรรมะในอินเดียหวังว่าสังคมจะปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่ออาชีพแฮกเกอร์ว่าไม่ใช่อาชญากร ซึ่งแนวโน้มก็เริ่มมีท่าว่าจะดีขึ้น เมื่อ "โซมาโท" แอพลิเคชัน แนะนำร้านอาหารในอินเดีย และเปิดให้บริการในอีก 23 ประเทศทั่วโลก ถูกแฮกเกอร์ขโมยข้อมูลผู้ใช้งาน 17 ล้านคนจากระบบที่มีการรักษาความปลอดภัยแน่นหนา ซึ่งแฮกเกอร์ที่ทำการแฮกข้อมูลของโซมาโท เรียกร้องให้โซมาโทจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับแฮกเกอร์ที่เคยช่วยค้นหาช่องโหว่ของระบบรักษาความปลอดภัย แทนการให้เพียงแค่ประกาศนียบัตร ซึ่งทางโซมาโท ก็ตกลงทำตามข้อเรียกร้อง และเริ่มมอบเงินรางวัลตอบแทนให้กับเหล่าแฮกเกอร์ที่มีจริยธรรม พร้อมกับรณรงค์ให้บริษัทอื่นๆ ทำตาม
ภาพ: Indranil Mukherjee