ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ดำเนินโครงการจัดระเบียบ'ย่านโคมแดง' (Red light district) กำจัดอาชญากรในธุรกิจทางเพศและแก้ไขภาพลักษณ์ของเมืองอัมสเตอร์ดัม โมเดลนี้มีความชัดเจนมากแค่ไหน และจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เมืองพัทยา"เมืองหลวงแห่งเซ็กส์"ของไทยได้อย่างไร?

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ดำเนินโครงการจัดระเบียบ"ย่านโคมแดง" (Red light district) กำจัดอาชญากรในธุรกิจทางเพศและแก้ไขภาพลักษณ์ของเมืองอัมสเตอร์ดัม ส่วนภาคเอกชนคิดค้นโมเดลส่งเสริมทางเพศใหม่ ปฏิวัติวงการโสเภณีทั่วโลก โมเดลเหล่านี้ จะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เมืองพัทยา ที่ได้รับฉายาว่าเป็น"เมืองหลวงแห่งเซ็กส์"ของไทยได้อย่างไร?

ย่านโคมแดง หรือ Red Light District ในอัมสเตอร์ดัม ต่างจากสถานซื้อขายบริการทางเพศบนที่อื่นๆในโลกพอสมควร เพราะหลังจากที่รัฐบาลทำให้การซื้อขายบริการทางเพศในสถานที่บริการ(ซ่อง)ในเนเธอร์แลนด์เป็นเรื่องถูกกฎหมายนับตั้งแต่ปี2000 เป็นต้นมา เจ้าของสถานที่ค้าบริการทุกแห่งจะต้องมีใบอนุญาตและต้องจ่ายภาษีเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ นอกจากนี้ ในอัมสเตอร์ดัม มีองค์กรที่ก่อตั้งโดยอดีตโสเภณีเพื่อให้ความรู้นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับผู้ค้าบริการทางเพศ​และช่วยเหลือดูแลผู้ค้าบริการเช่น การรับบริการด้านสาธารณสุข 

การยกสถานค้าบริการใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินของทางการมีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลต้องการกำจัดเครือข่ายค้ามนุษย์ที่มักอยูเบื้องหลังอุตสาหกรรมนี้ ทั้งการบังคับโสเภณีจ่ายค่าเช่ากระจกหน้าร้านที่ใช้เรียกลูกค้า เพราะมีโสเภณีไม่น้อยที่ถูกเจ้าของซ่องบังคับทำงานเพื่อจ่ายค่าเช่าถึงแม้ว่าพวกเธอจะป่วย หรือแม้แต่การบังคับทำงานในวันหยุด

นโยบายการจัดระเบียบพื้นที่โคมแดง(Project 1012) ที่ตั้งตามรหัสไปรษณีย์ของเขตพื้นที่แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2007เป็นต้นมา เพื่อลดอัตราอาชญากรรม เครือข่ายค้ามนุษย์ ให้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้น้อยลง โดยการไล่ปิดซ่องโสเภณีและแทนที่ด้วยโครงการที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ คาเฟ่ ร้านค้าขายสินค้าต่างๆ โดยการบังคับให้เจ้าของเหล่านี้โอนสัญญาเช่ากลับมาเป็นของรัฐ(ตามข้อมูลของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษระบุว่า ทีดินทุกผืนในอัมสเตอร์ดัมเป็นของรัฐที่ปล่อยเช่าให้ประชนทำธุรกิจ) และส่งเสริมให้ธุรกิจใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพหน้าใหม่ เข้ามาทำธุรกิจมากขึ้น ด้วยการให้เงินสนับสนุน และปรับค่าเช่าพื้นที่ให้ถูกลง

สื่อทั่วโลกให้ความสนใจโมเดลดังกล่าว เพราะทำให้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในย่านโคมแดง แต่รัฐบาลเองก็ยังประสบปัญหาเยียวยาโสเภณีที่ถูกกำจัดพื้นที่ทำกิน

ซ่องโสเภณี เพื่อโสเภณี
อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจมาก คือโครงการซ่องที่ดำเนินการโดยเครือข่ายโสเภณี โดยเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา นายกเทศมนตรีกรุงอัมสเตอร์ดัม เดินทางไปเปิดซ่องแห่งใหม่ใจกลางเรด ไลท์ ดิสทริค ที่กินพื้นที่กว่า 14 หน้าต่างในย่านโคมแดง โดยซ่องโสเภณีแห่งนี้ มีโมเดลธุรกิจที่สานฝันโสเภณีให้เป็นจริง คือการลดการพึ่งพามาเฟีย และถือเป็นโมเดลที่ปฏิวัติวงการโสเภณีทั่วโลก 

โครงการนี้เป็นของมูลนิธิMy Red Light โครงการที่ก่อตั้งโดยโสเภณีในอัมสเตอร์ดัมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับโสเภณีและลดการพึ่งพามือที่สาม ที่มักจะเป็นเจ้าของซ่องโสเภณีและเอาเปรียบผู้ค้าบริการบ่อยครั้ง โดยโครงการนี้จะเปิดให้โสเภณี สามารถเลือกเช่าพื้นที่หน้าต่างเพื่อใช้ทำมาหากินได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่านนายจ้าง และพวกเธอยังทำงานในช่วงเวลาที่ต้องการ ปราศจากการบังคับจากเจ้าของสถานที่ค้าบริการ

พื้นที่ทั้งหมดบริหารจัดการโดยมูลนิธิ ที่มีการสร้าง ตกแต่ง และบรรยากาศที่ดีกว่าซ่องอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สำหรับโสเภณีที่ทำให้พวกเธอสามารถสนทนาและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ยามว่าง โดยปราศจากการรบกวนของลูกค้า และยังมีการจัดเวิร์คช็อปต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงคุณภาพการบริการและคุณภาพชีวิต เช่นเทคนิคการทำให้ลูกค้าพอใจ การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย อีกด้วย 


พัทยา VSอัมสเตอร์ดัม
หันกลับมามอง"ย่านโคมแดง"ในไทยอย่างพัทยา ที่กลับมาเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูอีกครั้ง เมื่อไม่นานนี้ หนังสือพิมพ์เดลีย์ มิเรอร์ ของอังกฤษพาดหัวว่าเป็นเมืองคนบาปและเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ ที่มีโสเภณีทำงานมากถึง 27,000 คน เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลไทยกังวลอย่างมาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยถึงกับออกมาบอกว่าต้องการลบภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียเหล่านี้ออกไปให้หมด

โครงการจัดระเบียบต่างๆ เพื่อลบล้างภาพลักษณ์"เมืองหลวงแห่งเซ็กส์"ของพัทยา ดูเหมือนว่าจะถูกเร่งรัดในช่วงนี้เป็นพิเศษเพราะชลบุรีเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เมกะโปรเจ็กต์ที่รัฐบาลไทยพยายามสร้างให้สอดรับการลงทุนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โดยการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปประเทศอื่นๆ พัทยาจะถูกชูขึ้นมาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความทันสมัย

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามธุรกิจสีเทาของพัทยาทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะยังขาดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งในพัทยายังมีแก๊งมาเฟียต่างชาติที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้าบริการ นอกจากนี้ การนำโสเภณีขึ้นมาอยู่บนดิน ดูเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากของสังคมไทย ที่มีจารีตประเพณีตีกรอบไว้อย่างแน่นหนา แต่หากทำได้จริง การกำจัดเครือข่ายค้ามนุษย์และอาชญากรที่เกี่ยวข้องคงทำได้ง่ายกว่านี้มากทีเดียว 

ปรับทัศนคติ

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับถึงการจัดการที่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม คือทัศนคติของสังคมและรัฐบาลไทย ที่อาจมองว่าโสเภณีเป็นเรื่องผิดบาปที่สร้างความเสื่อมเสียและควรจำกัดเพื่อภาพลักษณ์ที่ขาวสะอาดขึ้น แต่ในเมืองพัทยา ที่เติบโตและรุ่งเรืองมาได้เพราะมี"การท่องเที่ยวทางเพศ"เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ การกำจัดภาพลักษณ์เหล่านี้จะทำได้ด้วยวิธีการใด ?และจุดยืนอื่นๆที่รัฐบาลพยายามสร้างให้แก่เมืองพัทยา(เช่น เมืองแห่งกีฬา เมืองแห่งการประชุม เมืองแห่งอุตสาหกรรมการให้บริการทางการแพทย์) จะสามารถทดแทนรายได้ที่หดหายไปของชาวเมืองพัทยาได้จริงหรือไม่? มากน้อยและยั่งยืนแค่ไหน? 

อีกหนึ่งคำถามที่ต้องการคำตอบคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ให้บริการทางเพศ ที่แม้แต่ในเมืองที่มีโมเดลการจัดการธุรกิจทางเพศเป็นรูปธรรมอย่างอัมสเตอร์ดัม ก็ยังต้องปวดหัวกับการแก้ไขปัญหานี้ โสเภณีจำนวนมากที่ทำธุรกิจทางเพศมาทั้งชีวิต ไม่ได้รับการสนับสนุนให้พวกเธอ"มีชีวิตใหม่"อย่างแท้จริง ทำให้พวกเธอต้องก่อหวอดประท้วง ถามรัฐบาลว่า หากยึดพื้นที่ทำกินของพวกเธอ แล้วเธอจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?

หากโมเดลการจัดการธุรกิจทางเพศในพัทยาขาดความยั่งยืน สุดท้ายการจัดการอาจเป็นเพียงแค่"แมวไล่จับหนู"เท่านั้น ที่สุดท้ายแล้วผู้ค้าบริการก็ยังไม่ได้รับโอกาสใหม่ในการดำรงชีวิต และเครือข่ายผู้ค้ามนุษย์ โสเภณี จะกระจายตัวไปทำธุรกิจค้าบริการตามพื้่นที่อื่นๆของไทย เพราะพัทยาไม่ใช่เมืองแห่งอุตสาหกรรมทางเพศในไทยเพียงแห่งเดียว 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog