ไม่พบผลการค้นหา
มีอะไรใน Open House ร้านหนังสือขนาดใหญ่ใจกลางเมืองในยุคดิจิทัล คุยกับคุณเชน อดีตคนขายหนังสือที่ชิคาโก้ ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจเจ้าของแกเลอรี่ศิลปะ, งานดีไซน์ ผู้มองสิ่งที่ทำคือการลงทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ   

มีอะไรใน Open House ร้านหนังสือขนาดใหญ่ใจกลางเมืองในยุคดิจิทัล คุยกับคุณเชน อดีตคนขายหนังสือที่ชิคาโก้ ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจเจ้าของแกเลอรี่ศิลปะ, งานดีไซน์ ผู้มองสิ่งที่ทำคือการลงทุนทางวัฒนธรรมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนประเทศ   

 

ประสบการณ์ใหม่ ความรู้สึกเซอร์ไพรส์ การพบปะผู้คน ความสัมพันธ์ระหว่างหนังสือ งานศิลปะ งานดีไซน์ และสถาปัตยกรรม คือสิ่งที่เจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้คาดหวัง แม้จะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคดิจิทัล ยุคซึ่งทุกคนมีช่องทางการสื่อสารมากขึ้น แต่เขายืนยันว่าปฏิสัมพันธ์บางอย่าง การสื่อสารในโซเชียลมีเดียก็เข้ามาแทนที่ไม่ได้ 

 

สัมภาษณ์คุณเชน สุวิกะปกรณ์กุล เจ้าของร้านหนังสือ Hardcover ที่ Open House Bookshop ชั้น 6 Central Embassy ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองบนที่ดินราคาแพงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวบรวมหนังสือที่มีเนื้อหาให้เลือกหลากหลาย ประวัติศาสตร์ ศิลปะ อาหาร วรรณกรรม หนังสือเด็ก ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี 

นอกจากร้านหนังสือแล้วเขายังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Serindia Publications เผยแพร่ความรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ โดยเฉพาะวัฒนธรรมหิมาลัย ทิเบต เป็นสำนักพิมพ์ซึ่งก่อตั้งโดยพี่ชายฝาแฝดสามีผู้ล่วงลับของ ‘อองซาน ซูจี’
 


คุณเชน ยังก่อตั้ง Serindia Gallery แกเลอรี่ศิลปะโดยการปรับปรุงจากบ้านเก่าซึ่งในอดีตเป็นบ้านของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมีร้านหนังสือ ‘Hardcover’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และร้าน ‘Editions’ ที่ TCDC อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ย่านเจริญกรุง

-ร้านหนังสือยังเป็นสิ่งจำเป็นแม้ในยุคดิจิทัล

 

บางคนต้องการจะพูดว่าดิจิทัลกับไม่ดิจิทัลมันต่อสู้กัน แต่จริงๆ มันใช้ไม่เหมือนกัน เราต้องเข้าใจดิจิทัลใช้เพื่อความสะดวก ต้องการรู้อะไรเร็วๆ แต่ว่าถ้าต้องการข้อมูลที่เจาะลึกหรือว่าต้องการข้อมูลที่เป็นจริงเป็นจังมีการกลั่นกรองแล้ว ก็ต้องกลับมาหาหนังสือ


 
อย่างข่าวสารในโลกออนไลน์ บางทีข่าวเท็จก็เยอะแยะไปหมด ข้อมูลก็ข้อมูลเท็จเต็มไปหมด เพราะในโลกออนไลน์คนทั้งโลกเป็นผู้ให้ข้อมูล (content provider) คนอ่านต้องกลั่นกรองออกมา แต่หนังสือเป็นอีกแบบ เพราะมีสำนักพิมพ์ มีบรรณาธิการกลั่นกรอง เลือกมาแล้วว่านี่เป็นหัวข้อที่ควรจะรวบรวมเก็บเอาไว้บันทึกเป็นหลักฐานสิ่งพิมพ์ เป็นอะไรที่ค่อนข้างถาวร ไม่เหมือนกับดิจิทัล


 
ดิจิทัลมีความไม่ถาวรอยู่ ถ้าวันหนึ่งไม่มีไฟฟ้าหรือว่าฮาร์ดดิสเสีย ก็จะหายวับไปกับตา เพราะฉะนั้น สิ่งพิมพ์ ถือว่าเป็นอะไรที่ถาวร เหมือนกับฟิล์ม ฟิล์มยังถือว่าเป็นถาวรกว่าดิจิทัลซึ่งต้องคอยดูแลแบ็คอัพข้อมูลอยู่เรื่อยๆ ส่วนฟิล์มคือการเก็บอย่างถาวร permanent archive 

-ธุรกิจร้านหนังสือในสภาพเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง  

 

ก็ต้องระวังเรื่องการลงทุนและการบริหารจัดการ  คือเหมือนคนละเกมกันแล้วแต่ธุรกิจ เรามองว่าในอนาคตอยากให้เกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าอยากจะเป็นเศรษฐีพันล้าน ก็ต้องวางเกมใหม่ตั้งแต่ต้นว่าอันนี้ต้องตั้งเป็นแบบนี้ อีก 2-3 ปี เป็น IPO เหมือนอเมซอน (Amazon) เขาก็ไม่อยากจะเป็นร้านหนังสือ 


เรายังหน้าด้านน้อยกว่าเขา เมื่อก่อนเขาไม่มีหนังสือเลยด้วยซ้ำ อาศัย “ระบบ” ตัวเองไม่มีหนังสือ แต่เขารู้ว่าอีก 3 ปี จะเข้าตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ฉะนั้น เขาก็ทำโน่นทำนี่ ทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดลูกค้าขึ้นมา แล้วก็ทำลายธุรกิจร้านหนังสือที่อเมริกา เพราะเอาหนังสือมาลดราคา มาลดแลกแจกแถม ทำทุกอย่างเพื่อให้ถึงจุดนั้นเพื่อการเข้าตลาดหุ้น ดังนั้น เป็นคนละเกม


อเมซอนไม่ใช่หนังสือ หนังสือเป็นเหยื่อการสร้างธุรกิจเขา ตอนนี้ขายของซุปเปอร์มาเก็ต เป็นระบบโลจิสติกส์ เริ่มต้นมาจากว่า ใช้โอกาสและช่องโหว่ในการจัดจำหน่าย เพื่อที่จะให้ตัวเองเกิดขึ้นมา 

 

ก่อนมีอินเตอร์เน็ต เราก็สู้มาตั้งแต่ต้นๆ เมื่อก่อนมีคนก็โทรบอกว่า อเมซอนขายราคาเท่านี้ เราก็บอก ตามใจคุณ แต่สุดท้ายลูกค้าก็กลับมาหาเรา เพราะสิ่งที่เราเสนอ เขาก็เสนอไม่ได้

อเมซอน บางทีลูกค้าสั่งแล้วไม่ได้ของ มีบางสำนักพิมพ์เขาก็ไม่ขายของบนอเมซอนเลย แต่ในร้านเรามีหนังสือของสำนักพิมพ์นั้นขายเพราะเขาก็ต้องปกป้องตัวเองเหมือนกัน อเมซอนมีอัลกอริทึมที่ค่อนข้างจะซับซ้อน ใช้คอมพิวเตอร์ใส่สูตรคิดราคา ถ้าหนังสือมาจากที่ต่างๆ คิดราคาแต่ละราคา  


อย่างตอนนี้ เขาทำลายทุกสิ่งอย่างแล้ว แล้วเขาก็จะมาเปิดร้านหนังสือใหม่ อยากให้คนรักเขาอีก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสำเร็จขนาดไหน เขาก็จะมีกิมมิคอยู่เรื่อยๆ เขาไม่ได้ตอบลูกค้า เขาตอบตลาดหุ้น คือมันคนละเกมกัน 

 

ขณะที่หนังสือที่เราเลือกมาเพราะเรารู้ว่าคนต้องอ่าน ต้องใช้ หรือมาที่นี่สามารถมาถามหาหนังสือได้ ถ้าไม่มีเล่มไหน เราก็สามารถแนะนำให้ดูเล่มอื่นๆ ที่มีข้อมูลคล้ายๆ กัน 

-ทำร้านหนังสือบนห้างสรรพสินค้าที่ราคาที่ดินแพงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย อยู่ได้อย่างไรในทางธุรกิจ

 

อันนี้เหมือนกับเป็นคอนเส็ปใหม่ ซึ่งทางห้างก็เข้าใจว่าจะต้อง win-win situation เขาก็ดีด้วย เราก็ดีด้วย ต้องขอขอบคุณทางเซ็นทรัลเอมบาสซี่ ที่ให้ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์อย่างคุณเต้ บรม พิจารณ์จิตร ได้วางคอนเส็ป Open House ขึ้นมาตามที่คิด 


เราก็ดู location แล้ว ดูปัจจัยแล้ว เช่น ที่นี่มีโรงแรมพาร์คไฮแอท  และกลุ่มเป้าหมายเราค่อนข้างจะชัดเจน

 


ประกอบกับสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน คิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นพื้นที่ที่ดีสำหรับเขาด้วย ดีสำหรับเราด้วย แล้วเราก็ค่อนข้างชัดเจนในการเลือกหนังสือ ที่จะนำมานำเสนอที่นี่ 

 

 

-ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ 

 

ลูกค้ามีทั้งคนไทยและต่างชาติ  แน่นอนมีคนไทยมากกว่าโดยสัดส่วน ในตลาดหนังสือ พอร้านหนังสือหดตัวไป ทุกคนพูดว่าสิ่งพิมพ์จะหายไป ทุกคนพูดเหมือนกับแช่งตัวเอง คือความจริงแล้วมันไม่เป็นแบบนั้น ถ้าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องรู้จักโอกาสและใช้ปัจจัยให้ถูกต้องและรู้ความคาดหวังของผู้บริโภคว่าต้องการอะไรอยู่ตอนนี้ 

อย่างตอนนี้เราต้องการสร้างประสบการณ์ต้องการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความคิด ให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คนต้องการ เพราะว่าทุกคนต้องการที่จะทำอาชีพตัวเองให้ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สถาปนิก นักออกแบบ หรืออาชีพอะไรก็ตามต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และอะไรก็ตามที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ก็ต้องหนังสือ งานศิลปะ งานดีไซน์ การพบปะผู้คน เป็นประสบการณ์ที่ตอบพฤติกรรมของคน จะมากน้อยเท่าไหร่ ก็ทำให้ธุรกิจอยู่ได้  

นอกจากนั้น เราเห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ค่อนข้าง international อยู่แล้ว แล้วก็มีอะไรที่น่าสนใจเยอะหลากหลาย เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน เราก็มีจุดเด่นอยู่หลายๆ อย่างที่ชาวต่างชาติต้องการที่จะมาแล้วก็มาอีก เขามีเพื่อน สร้างความสัมพันธ์เกี่ยวกับเมืองไทย รักเมืองไทย เราก็คิดว่าตลาดมีความหลากหลายพอจะเซิร์ฟตรงนี้  ส่วนต้องปรับสเกลก็แล้วแต่ที่เราจะถนัด 

- Hardcover ที่ Open House ไม่ใช่ร้านแรกของคุณเชน


หลังทำ exhibition เกี่ยวกับหนังสือ art book จากสำนักพิมพ์ Taschen แล้วมีโอกาสเปิดเป็นป๊อปอัพ ช็อป ที่เซ็นทรัลเวิล์ด หน้าสตาร์บัคส์ที่ชั้น 3 ทำเป็นร้านหนังสืออาร์ตขึ้นมา ก็เลยรู้สึกว่า อาจจะถึงเวลาแล้วที่จะกลับมาทำร้านหนังสืออีก เพราะมาทำเป็นสำนักพิมพ์แล้ว แกเลอรี่แล้ว ยังค่อนข้างติดใจ เรื่องจัดจำหน่าย 

บางทีหนังสือมันยากตรงจัดจำหน่ายและก็โลจิสติกส์ด้วย ถ้าคนไม่รู้จักมันจริงๆ ก็จะยาก และในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์ ถ้าทำออกมาไม่มีที่ขายก็จะหัวปั่น จะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่าออนไลน์คนต้องรู้ว่าต้องการอะไรจึงจะสั่งทางออนไลน์ 

 

บางทีออนไลน์ไม่ได้หวือหวาอย่างที่คนคิด เพราะฉะนั้น เราก็ต้องหาช่องทางที่เราสามารถจะขายหนังสือที่สำนักพิมพ์ตัวเองทำด้วย ไม่งั้นต้องร่อนเร่หาสายส่งหลายประเทศซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อน 

 

เราก็ลองทำขึ้นมา หลังจากได้ทำ เป็นป๊อปอัพ ช็อปที่เซ็นทรัลเวิล์ด ก็ทำร้านหนังสือที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มีพื้นที่เปิด เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างย่อมเยาว์ สามารถจะทำอะไรแบบนี้ให้ดูยูนีคได้ ก็เลยทำร้านหนังสือที่ชื่อฮาร์ดคัฟเวอร์ (HARDCOVER) ขึ้นมา จึงมีร้านหนังสือที่หอศิลป์ฯ และเซ็นทรัลเวิล์ดในเวลาไล่เลี่ยกัน

- Hardcover ที่ Open House เป็นร้านใหญ่ที่สุด เท่าที่คุณเชนทำร้านหนังสือในไทย ได้พบความแตกต่างอย่างไร 

 

แตกต่างกันเพราะคนหลากหลายมากขึ้น สนุกที่ได้จัดหนังสือทำงานศิลปะ สามารถทำให้คนเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของเหล่านี้ มันเป็นการลงทุนทางด้านวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เป็น cultural enterprise สิ่งที่ทำ ไม่ใช่แค่หนังสือ เป็นทั้งงานดีไซน์ งานอาร์ต แล้วก็เป็นการสร้างธุรกิจที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศ 

เมื่อก่อนร้านหนังสือ เป็นที่พบปะผู้คน ที่นี่ก็ทำให้ได้เจอผู้คนหลากหลาย และบางทีตรงนี้เป็นสิ่งที่คนต้องการมากกว่าโซเชียลมีเดียเสียอีก ถึงจะมีโซเชียลฯ ก็แทนกันไม่ได้ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน บางทีเราอาจจะไม่อยากตอบอีเมลล์ มากเท่ากับโทรคุย ลูกค้าบางคนเคยแต่คุยโทรศัพท์ มาเจอที่ร้านก็ดีใจ ที่นี่มีหลายๆ คนไม่เคยเจอกันมาก่อนก็ได้เจอ แล้วเขาก็ได้มาเจอคนอื่นด้วย 

 

ร้านหนังสือยุคก่อนดิจิทัล คนเดินเข้าร้านเยอะ จะเจอสิ่งที่ตัวเองสนใจและเป็นแหล่งพบปะผู้คน อย่างที่อเมริกาก็มีร้านหนังสือ Barnes & Noble หรือ Borders ก็เป็น social hangout สมัยก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดีย คนก็จะมาร้านหนังสือ เพราะมีอะไรให้ดูที่น่าสนใจและมาพบปะผู้คน

-ประสบการณ์ขายหนังสือในร้านหนังสือที่ชิคาโก้ 

 

ขายหนังสือที่นั่น 15 ปี ร้านนั้นค่อนข้างเป็นเฉพาะทางคือขายหนังสือเกี่ยวกับศิลปะเอเชียทั้งหมด ศิลปะจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ฉะนั้น คนที่มาหาหนังสือก็เฉพาะทาง ขายตรงหลายช่องทาง แม้จะมีหน้าร้านแต่ก็ไม่ได้เปิดมากนัก คนที่รู้จักเท่านั้นจึงมาหา แต่ 95% ธุรกิจมาจากการขายผ่านแคตตาล็อค ไม่ใช่ออนไลน์ คือสมัยก่อนที่จะมีอินเตอร์เน็ต ส่งแคตตาล็อคไปหาลูกค้า ลูกค้าก็โทรสั่ง แต่หลังจากมีอินเตอร์เน็ตลูกค้าก็เหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนหนทางที่จะมาติดต่อสื่อสารกับเรากับความคาดหวังเขาอาจจะมากขึ้น เพราะมี database online  

-ยุคโซเชียลมีเดีย ช่วยธุรกิจหนังสือแค่ไหน 

 

ก็ช่วยเยอะ  แต่พฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนเป็นความต้องการพื้นฐาน ทุกคนยังมีความต้องการข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการสร้างสรรค์เหมือนเดิม แต่การสื่อสาร การค้นหา การใช้สื่อต่างๆ ไม่เหมือนกัน และความคาดหวังกับร้านหนังสือก็จะไม่เหมือนเดิม 

-ทำแกลเลอรี่ศิลปะและร้านหนังสือได้ประสบความสำเร็จในไทย 

 

ด้วยความที่เราทำหนังสือศิลปะมา ก็คิดว่า คนน่าจะได้เห็นของจริงบ้าง เพราะฉะนั้น อะไรที่เรานำเสนอได้ ก็อยากที่จะนำเสนอ และศิลปินที่เรารู้จักมา เราก็อยากจะโชว์งานของเขา นอกจากเห็นในหนังสือเป็นแบบนี้ สวยมาก ชอบมาก พอเห็นของจริงอาจจะยิ่งหลงรักมันไปเลย เป็นการสร้างพื้นที่ให้ศิลปินได้โชว์งานด้วยและเป็นประสบการณ์ใหม่ของคนที่เข้ามาชม 

สิ่งที่เราอยากทำ โดยเฉพาะที่นี่ เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ การสร้างสัมพันธ์ระหว่างหนังสือ งานศิลปะ งานดีไซน์ และก็สถาปัตยกรรม คือ คนเข้ามา จะเกิดแรงกระตือรือร้นที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้เห็นงานศิลปะด้วย เรามีแกเลอร์รี่อยู่ใน Art Tower เรามีหนังสือศิลปะ เรามีงานดีไซน์ให้ดู และสถาปัตยกรรมหรือการดีไซน์สเปซ ก็เป็นความรู้ใหม่ เป็นความรู้อย่างหนึ่งสำหรับคนที่มา 

ทำหนังสือมานาน ส่วนหนึ่งก็เห็นว่าเป็นร้านหนังสือ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ที่ใส่ชีวิตลงไปในพื้นที่นี้ สเปซมันสวยอย่างนี้ เราก็ต้องใส่ชีวิตเข้าไป

 

เราบอกเด็กๆ ที่ทำงานกับเราตลอดว่า ร้านหนังสือเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ต้องทำให้มันมีชีวิตชีวาตลอดเวลา 


เราจะวิ่งเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ตลอดเวลา ให้มันมีชีวิต อย่างเช่นการเรียงหนังสือ เราก็จะจับหมวดหมู่บ้าง ไม่จับหมวดหมู่บ้าง ให้มันเข้ากับธีมหรือคอนเท็กซ์อะไรบางอย่าง คือ ถ้าจะมาเรียงแบบดาต้าเบสหนึ่งสองสามสี่อย่างนี้ มันก็เป็นเหมือนเอาดาต้าเบสจากคอมพิวเตอร์มาเรียง ถ้าคนที่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรก็ไปเสิร์จออนไลน์ก็ได้  

 

แต่ที่นี่คือเราเสนอประสบการณ์ใหม่ สร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นจากหนังสือ งานศิลปะ งานดีไซน์ และสถาปัตยกรรม 

การเรียงตามดาต้าเบส อาจจะเรียงตามอาร์ตติส เรียงตามคนแต่ง แต่ว่าที่นี่จะจัดกรุ๊ปหลวมๆ เช่น แฟชั่น กระเป๋า รองเท้า อยู่ด้วยกัน อะไรที่เป็นแบรนด์เนม อะไรที่เป็นประวัติศาสตร์ ประวัติแฟชั่น สไตลล์ต่างๆ อยู่ด้วยกัน งานศิลปะหรือหนังสือโฟโต้กราฟฟี แยกหลวมๆ ให้ได้ใจความ 

พอเรามาสร้างใจความ สร้างเนื้อหา เขาก็จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อนี้ กับหนังสือเล่มนี้ กับงานศิลปะ ก็จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีอะไรที่เซอร์ไพรส์อยู่ตามเชลท์ต่างๆ 

-เลือกหนังสืออย่างไร

 

เลือกหนังสือเองและก็มีผู้จัดการ 2-3 คน ที่อยู่สาขาต่างๆ ทำงานเป็นทีม เราจะคุยกับผู้จัดการว่าอะไรที่เราชอบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เราต้องถามคนหน้าร้านว่าต้องการอะไรบ้าง เช่น อันนี้คนสั่งแน่นอน อันนี้ไม่สั่ง อันนี้อย่าเลย 

เราจะปรึกษากัน ต่างคนต่างมีลิสต์ของตัวเอง คนหน้าร้านจะรู้จักลูกค้ามากที่สุด นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เราพยายามจะมาอยู่ที่ร้านด้วย จะได้เจอลูกค้า 

 

ฉะนั้น เวลาซื้อ เราก็จะคุยกับผู้จัดการหน้าร้านด้วย ถ้าลูกค้าไม่ซื้อ เราก็สั่งน้อยหน่อย แต่ขอให้มีบ้าง แต่อะไรที่ลูกค้าต้องการมาก เช่น หนังสือเด็ก หรือหนังสืออะไรที่เราไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ ทีมเราก็จะบอกเราว่าอันนี้คนมาถามหาเยอะ ก็ต้องสั่งเพิ่ม ก็ทำงานเป็นทีม ข้อมูลก็มาจากหลายแบบ มาจากลูกค้านี่แหละ 

-สำนักพิมพ์ Serindia เดิมเป็นของพี่ชายฝาแฝดสามีของคุณอองซาน ซูจี ปัจจุบันคุณเชนเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ได้เข้ามาดูแลต่อได้อย่างไร

 

เจ้าของเดิมผู้ก่อตั้งชื่อคุณแอนโทนี แอริส เป็นพี่ชายฝาแฝดของคุณไมเคิล แอริส สามีคุณอองซานซูจี คุณไมเคิล แอริส เป็นโปรเฟสเซอร์สอนทิเบตศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เป็น 1 ในนักเขียนที่เขียนให้สำนักพิมพ์ ทำงานวิชาการอย่างเดียวไม่ได้เกี่ยวข้องกับสำนักพิมพ์ในแง่ธุรกิจของสำนักพิมพ์ Serindia ซึ่งมีคุณแอนโทนีดูแล พอหลังจากคุณไมเคิลเสียชีวิตไป โลกก็เปลี่ยนไปด้วย มีอินเตอร์เน็ตเข้ามา คุณแอนโทนีก็อยากได้คนรุ่นใหม่มาช่วยเขาทำต่อ 

 

เขาก็เลยมาเสนอขายให้เราทำสำนักพิมพ์ต่อ เราก็รู้สึกดีใจที่ได้ทำต่อ เพราะว่าเป็นสายงานที่เราทำมาอยู่แล้ว และจะได้ทำอะไรดีๆ ต่อไปทางด้านนี้ด้วย ต่อมาคุณแอริสเสียชีวิตไปในปี 2015

 

สำนักพิมพ์ serindia เผยแพร่งานศิลปะ งานทางด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ เน้นไปทางด้านวัฒนธรรมหิมาลัย ทิเบต เนปาล เพราะคุณไมเคิล แอริส หนึ่งในนักเขียน สอนทางด้านวัฒนธรรมหิมาลัย ทิเบต เนปาล ภูฏาน 

 

เราก็เหมือนสืบสานต่อที่เขาทำมา และก็เข้ากับสิ่งที่เราทำมาก่อนด้วย เพราะเราทำหนังสือเกี่ยวกับศิลปะเอเชียโดยเฉพาะ

 

ฉะนั้น เราก็รู้จักทางด้านนี้เป็นอย่างดี เวลาเปลี่ยนจากการเป็นคนขายหนังสือ จัดจำหน่ายหนังสือ มาเป็นสำนักพิมพ์เอง มันก็ไปในสเต็ปที่เราคิดว่าเราทำได้ เพราะเรามีความรู้จากการได้ขายหนังสือ ได้สัมผัสกับลูกค้า แล้วได้แคตตาล็อคหนังสือเอง ลงดาต้าเบส ด้วยตัวเองก่อนมีอินเตอร์เน็ต

 

พอจะมาทำสำนักพิมพ์ ก็รู้สึกค่อนข้างสบายตัวว่า เรามาทำอะไรที่เรารู้จักอยู่แล้ว ไม่รู้สึกฝืน เพียงแต่ว่าต้องมาดูแลเรื่องการจัดการอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ขายของอย่างเดียว แต่ต้องดูแลคอนเทนท์ ดูแลข้อมูล ดูแลนักเขียน หลายๆ อย่าง ไม่เหมือนกัน 

-Open House มีมุมหนังสือเก่า เซฮันโด (Seihandō)

 

เซฮันโด คอเลคชั่น แปลว่าหอหนังสือที่เป็นปกแข็ง แต่ไม่ได้แปลว่าหนังสือทุกอย่างต้องเป็นปกแข็ง มุมนี้เป็นหนังสือเก่า ประวัติศาสตร์ ศิลปะที่เราคุ้นเคย 

อย่าง serindia หมายถึงเส้นทางสายไหมระหว่างจีนกับอินเดีย ฉะนั้น เรามีหนังสือ ที่เกี่ยวกับเส้นทางสายไหมเยอะ หนังสือเก่า exhibition เก่าๆ หนังสือศิลปะจีน เอามารวบรวมเป็นคอเลคชั่น สามารถเล่าเรื่องราวได้ 

 

บางทีหนังสือสมัยนี้สำนักพิมพ์ พิมพ์น้อยลง จะพิมพ์อะไรก็คิดมากขึ้น ฉะนั้น ชีวิตหนังสือแต่ละเล่มมันสั้น ปีสองปีก็จะหายไปแล้ว ถ้าเห็นวันนี้ เดี๋ยวอีกปีสองปีก็อาจจะหาไม่ได้ ก็จะกลายเป็นหนังสือเก่า หนังสือที่คนเก็บๆ เอาไว้ มีความผูกพันกับมัน 

ในมุมนี้มีหนังสือคลาสสิคเครื่องถ้วยชามจีน เครื่องลายครามจีน  เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว หนังสือเก่าสวย หรือหนังสือประวัติศาสตร์ปกแข็งก็ทำน้อยลง 

 

บางเล่มอายุ 100 ปี เช่น พิมพ์ปี1894 ใช้ศิลปะในการทำหนังสือ มีการปั๊มทอง ทำรูปโดยไม่มีดิจิทัล สมัยก่อนเป็นงานแฮนด์เมด บางเล่มมีลายเซ็นคนแต่ง บางทีคนสะสมเครื่องถ้วยชามจีน ก็อยากได้หนังสือไปอยู่ในห้องสมุดของเขา

-คุณเชน ไม่ได้จบโบราณ ไม่ได้จบประวัติศาสตร์  แต่ทำร้านหนังสือด้านนี้ 

 

เรียนคณะวารสารศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น เอแวนสตัน และอยู่ร้านหนังสือที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา เรียนจบโฆษณาและไดเร็ค มาร์เก็ตติ้ง 

 

ตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียน ก็ชอบงานพิมพ์อยู่แล้ว เขียนบนกระดาษไข พิมพ์โรเนียว พอมีโอกาสทำร้านหนังสือก็ลงตัว

ส่วนตอนเรียนธรรมศาสตร์ งานโฆษณามาแรง ตอนเราเรียนเอกโฆษณา ก็สนใจครีเอทีฟ ได้เปิดหูเปิดตากราฟฟิคดีไซน์ งานศิลปะ ก็มาจากงานโฆษณาด้วย จะเอาองค์ประกอบมาสื่อสารยังไงจึงจะโน้มน้าวใจคน 

 

ส่วนการทำร้านหนังสือด้านนี้ เรียนรู้จากหนังสือและมีเมนเทอร์ที่ดีเป็นคนที่สอนเราให้คำแนะนำเรา พอเข้ามาสู่หนังสือทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเอเชีย ก็จะไปทางด้านของเก่าของโบราณเสียส่วนใหญ่ เราก็ต้องรู้ตั้งแต่โบราณคดีศึกษา ประวัติศาสตร์ และดูของด้วย และที่ดีอย่างหนึ่งคือ ตอนอยู่อเมริกาก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีของจริงให้ดู ก็ได้เรียนรู้จากการดูและสัมผัสของจริงและหนังสือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมัน เพื่อที่จะได้เป็นความรู้ติดตัวเราไป 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog