ชื่อของ "ไผ่ ดาวดิน" คือนักศึกษาแถวหน้าที่กล้าออกมาคัดค้านการรัฐประหาร แม้ชีวิตของเขาจะขาดจากอิสรภาพ เพราะยังถูกคุมขังในเรือนจำที่ จ.ขอนแก่น แต่การต่อสู้ของเขาทำให้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูในปี 2560
“ไผ่ ดาวดิน” หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534 ปัจจุบันอายุ 25 ปี เป็นคนอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เติบโตในครอบครัวที่มีแม่ (พริ้ม บุญภัทรรักษา)เป็่นทนายความ ส่วนพ่อ(วิบูลย์ บุญภัทรรักษา)ก็เป็นทนายความสายสิทธิมนุษยชน ร่วมทีมทองใบ ทองเปาว์
สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา "ไผ่ ดาวดิน" เคยเป็นนักดนตรีพื้นเมือง เล่นดนตรีได้หลายชนิด และเคยเข้าร่วมแข่งดนตรีจนได้รางวัลอันดับหนึ่งภาคอีสานทั้งรุ่นประชาชนและเยาวชน
ปัจจุบัน "ไผ่"เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเคลื่อนไหวในนามกลุ่มดาวดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นักศึกษาดาวดิน เริ่มเป็นที่รู้จักเป็นอย่างมาก หลังจากสมาชิกในกลุ่ม 5 คน แสดงสัญลักษณ์ 3 นิ้วคัดค้านการรัฐประหารต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2557
"ไผ่ ดาวดิน" มีประวัติเคยผ่านการควบคุมตัวและถูกคุมขังในเรือนจำจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลังรัฐประหาร
ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 "ไผ่ ดาวดิน" พร้อมกลุ่มเพื่อนขบวนการประชาธิปไตยและดาวดิน รวม 14 คน ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหาร ได้ถูกจับและดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยั่วยุปลุกระดมประชาชน และศาลทหารได้อนุมัติฝากขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขังผลัดที่ 2 ทำให้ "ไผ่" และเพื่อนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
และในช่วงรณรงค์ประชาติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2559 "ไผ่"พร้อมเพื่อนและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสาน ร่วมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 จนถูกจับกุมขณะเดินแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว พร้อมถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ด้วยข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และส่งฟ้องศาลจังหวัดขอนแก่น
ในช่วงที่ถูกควบคุมตัว "ไผ่"ประท้วงด้วยการอดอาหารเป็นเวลา 10 วันจนล้มป่วย เพื่อต่อสู้ในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
23 สิงหาคม 2559 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว นายจตุภัทร์ โดยอนุญาตในวงเงินประกัน 10,000 บาทและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือชุมนุมทางการเมือง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 "ไผ่ ดาวดิน" ถูก พันโท พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ 23 แจ้งความจับในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการโฆษณา จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติ รัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย พร้อมคัดลอกข้อความบางส่วนมาโพสต์บนเฟซบุ๊ก
จากนั้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2559 หลังศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้เงินสด 4 แสนบาทหลังศาลให้ประกันตัวเพราะเห็นว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ "ไผ่ ดาวดิน" ก็ถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวและถอนประกันตัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เพราะยังมีการโพสต์ข้อความเย้ยอำนาจรัฐ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา "ไผ่" ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว
แม้วันนี้ (18 พ.ค.) เขาจะได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเสนอชื่อโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่ผ่านมามีคนไทยคนแรกที่เคยได้รับรางวัล คือ นางอังคณา นีละไพจิตร เมื่อปี 2549
แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามจากบิดาของ"ไผ่"ที่ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินประกัน 7แสนบาท เพื่อขอให้ปล่อยตัว "ไผ่" ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี2560 ที่เมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่จัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ที่ก่อตั้งขึ้นจากเหยื่อที่ถูกปราบปรามเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหารโดยนายพลชุนดูฮวาน ที่เมืองกวางจู เมื่อปี 2523
และแม้ผู้อำนวยการมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก จะเคยส่งจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ "ไผ่ ดาวดิน" ได้รับประกันตัว เดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่เป็นผล
ทำให้ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา บิดา-มารดา "ไผ่ ดาวดิน" เป็นตัวแทนบุตรชายของตัวเองเดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อรับรางวัลแทน
"อยากให้เสรีภาพเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนเอง และขอบคุณที่เห็นคุณค่าของการต่อสู้เพื่อสิทธิ และขอให้สิทธิเสรีภาพจงมีแก่ทุกคน" ไผ่ ดาวดิน เขียนสุนทรพจน์ รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017
"ไผ่" เคยบอกผ่าน เว็บไซต์ไอลอว์ ในครั้งหนึ่งด้วยว่ามีความฝันอยากเป็นผู้พิพากษา มีเงินเดือนเป็นแสนเพื่อจะได้มีรถดีๆไว้ขับ มีบ้านดีๆ เพราะเห็นบิดาของตัวเองทำงานเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนแล้วมีฐานะยากจน
ภาพ - facebook ดาวดิน สามัญชน
facebook วิบูลย์ บุญภัทรรักษา