ไม่พบผลการค้นหา
แม้วันนี้จะไม่มี"รัฐบุรุษอาวุโส" ปรีดี พนมยงค์ แต่มรดกที่เขาได้ทิ้งไว้จนถึงปัจจุบัน คือระบอบประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ-รัฐสภา-สถาบันการศึกษาชั้นนำประเทศ-ธนาคารแห่งประเทศไทย

แม้วันนี้จะไม่มี"รัฐบุรุษอาวุโส" ปรีดี พนมยงค์ แต่มรดกที่เขาได้ทิ้งไว้จนถึงปัจจุบัน คือระบอบประชาธิปไตย-รัฐธรรมนูญ-รัฐสภา-สถาบันการศึกษาชั้นนำประเทศ-ธนาคารแห่งประเทศไทย

วันนี้(11 พ.ค. 2560) เป็นวันครบรอบ 117 ปี รัฐบุรุษอาวุโส "ปรีดี พนมยงค์" อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย (ครั้งแรก 24 มี.ค.-3มิ.ย. 2489 ครั้งที่สอง 8-9 มิถุนายน 2489 ครั้งที่สาม 10 มิ.ย.-20 ส.ค. 2489) และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8

และวันนี้ถือเป็นปีที่ 34 ของการครบรอบการอสัญกรรม (2 พ.ค. 2526) ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศ 

"รัฐบุรุษอาวุโส"ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตโดยลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลา 34 ปี โดยลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างปี 2492-2513 รวม 21 ปี  และลี้ภัยมาพำนักในประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี 2513-2526 รวมเวลา 13ปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ตลอดชีวิต 83ปี ลมหายใจของ "รัฐบุรุษอาวุโส" ได้ทิ้งมรดกชิ้นสำคัญไว้ให้กับประเทศของเขาจนถึงปัจจุบัน

-เปลี่ยนแปลงการปกครองกำเนิด "รัฐธรรมนูญ"

ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475   ผลงานชิ้นสำคัญช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของ "ปรีดี" คือเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 จำนวน 39 มาตรา และเป็นครั้งแรกที่อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎร (มาตรา 1 พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2475)

เป็น1 ใน 7 คนที่ร่วมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475  ซึ่งถือเป็นฉบับถาวร

มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนุญ ฉบับถาวร พ.ศ.2475 ที่บังคับใช้มา13 ปี 4 เดือน 29 วัน ให้เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จนเกิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ที่ยกเลิก ส.ส.ประเภทที่สองที่มาจากการแต่งตั้ง โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบรัฐสภาที่มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพฤฒสภา (สภาสูง) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489ฉบับนี้ ถูกยกย่องว่ามีความเป็นประชาธิปไตย และฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เป็นผลผลิตที่เกิดจากแนวคิดของ "รัฐบุรุษอาวุโส" แต่บังคับใช้ได้เพียง 1 ปี 6เดือน ก็ถูกยกเลิกจากเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

-จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

"ปรีดี"มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2476  และสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 

"ปรีดี"จึงเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และ เพื่อสนองเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ว่า "จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร"  

หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในระยะแรกจะเกี่ยวกับกฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต โดย "ปรีดี" ทำหน้าที่เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทายลัยจนถึงปี 2495 ตำหน่งดังกล่าวถูกยกเลิกและเปลี่ยนมาเป็นอธิการบดีแทนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

-ไทยรอดพ้นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมสงครามฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา  "ปรีดี" รับตำแหน่งหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทยโดยใช้นามแฝงว่า "รูธ"

และในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ประกาศสันติภาพ ทำให้การประกาศสงครามของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ส่งผลให้ประเทศไทย รอดพ้นการแพ้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม 

- จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

"ปรีดี"มีส่วนสำคัญในการจัดตั้ง "ธนาคารชาติ" หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินที่สำคัญที่สุดของรัฐ โดยขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีส่วนผลักดันให้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเตรียมการจัดตั้งธนาคารชาติไทยต่อคณะรัฐมนตรี

และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้เปลี่ยนชื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจนประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2482 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพนักงานสำหรับการทำงานในธุรกิจธนาคารกลางและบริหารเงินกู้ของรัฐบาล

สำนักงานธนาคารชาติไทยดำเนินงานได้เพียงปีเศษ ก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จนเกิดการเปลี่ยนฐานะของธนาคารชาติไทยมาเป็นธนาคารกลาง และประกาศใช้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2485

-กำเนิด "ระบอบรัฐสภา"

ครั้งหนึ่ง "ดุษฎี พนมยงค์" บุตรสาวของ "ปรีดี" เคยระบุกับ "มติชน" หากจะให้พูดถึงมรดกที่ "ปรีดี" ทิ้งไว้นับแต่ พ.ศ.2475  "ดุษฎี" ตอบทันทีว่า "ระบอบรัฐสภา"

"ปรีดี" มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดฝ่ายนิติบัญญัติ ในรูปแบบสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพราะเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

และ "ปรีดี" ก็ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการคนแรก  (28 มิ.ย. 2475 - 11 เม.ย.2476) ของสภาผู้แทนราษฎรสยาม ด้วยตำแหน่งดังกล่าว ทำให้เขามีบทบาทด้านนิติบัญญัติในการวางหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้แก่ราษฎร โดยเป็นผู้ยกร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉบับแรก

อ้างอิง - หนังสือ ชีวิตและงาน ดร.ปรีดี พนมยงค์  (สุพจน์ ด่านตระกูล - กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ,2552)

ปรีดี พนมยงค์ ชีวิตและผลงาน พ.ศ.2443-2526

พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐบุรุษอาวุโส

ธนาคารแห่งประเทศไทย 

ภาพ - pridi-phoonsuk.com

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog