ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อเทียบกับผลกระทบแล้ว นับว่าไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากกำลังการผลิตสำรองในประเทศไทยมีมากถึง 15% และเทคโนโลยีดังกล่าวก็มีราคาแพง และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังคงก่อมลพิษในปริมาณที่มากอยู่ดี

นักวิชาการชี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อเทียบกับผลกระทบแล้ว นับว่าไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากกำลังการผลิตสำรองในประเทศไทยมีมากถึง 15% และเทคโนโลยีดังกล่าวก็มีราคาแพง และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังคงก่อมลพิษในปริมาณที่มากอยู่ดี

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าถ่านหิน...ทางเลือกที่ต้องแลก” โดยเชิญนักวิชาการและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบร่วมแลกเปลี่ยน ระบุ โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่คุ้มค่ากับมลพิษที่ก่อขึ้น เผยไทยมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นแล้ว พร้อมเสนอพัฒนาระบบสายส่งไฟ หรือพลังงานทางเลือกให้มีความเสถียรและยั่งยืนแทน

โดยในส่วนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าจากสถิติที่ผ่านมา ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประเทศไทยผลิตเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลกแล้ว นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ก่อมลพิษในระดับที่สูงพอสมควร และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของกาารก่อมลพิษด้วย โดยพบว่าในหลายโครงการ ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์สำคัญในการกรองมลพิษออกจากการเผาไหม้ ก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ทั้งนี้ หากถามถึงความคุ้มค่าของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อเทียบกับผลกระทบแล้ว นับว่าไม่มีความคุ้มค่า เนื่องจากกำลังการผลิตสำรองในประเทศไทยมีมากถึง 15% หากเดินเครื่องทำการผลิตโดยพร้อมเพรียงกัน ติดเพียงปัญหาที่ระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่ทั่วถึงพอในบางภูมิภาคเท่านั้น ดังนั้น แทนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ควรมีการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าให้เพียงพอมากกว่า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณที่มากกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆอยู่แล้ว

ด้านนางสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้แทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในการกำหนดนโยบายและพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีการมีส่วนร่วมทางตรงจากประชาชนในพื้นที่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบเลยแม้แต่น้อย รวมทั้งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างลึกซึ้งมากพอในทางปฏิบัติจริง

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ระบุว่าแม้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถจำกัดปริมาณมลพิษที่ก่อเกิดจากพลังงานถ่านหินได้ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก็มีราคาแพง และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังคงก่อมลพิษในปริมาณที่มากอยู่ดี โดยเฉพาะในมาตรฐานของกฎหมายไทย ที่อนุญาตให้มีมลพิษในระดับที่มากเกินค่ามาตรฐานของโลกที่ควรจะเป็น

ดังนั้น หากมาพิจารณาถึงทางเลือกอื่นๆ จะพบว่ามีพลังงานทางเลือกอื่นอีกหลายประเภท และแม้จะมีข้อโต้แย้งมาว่าพลังงานทางเลือกมีความไม่เสถียรก็จริง แต่นั่นก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการให้มีพลังงานทางเลือกหลายประเภท ตลอดจนการอาศัยเทคโนโลยีในการจัดเก็บไฟฟ้าได้ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาหลายประเทศ ก็มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างได้ผลแล้ว ดังนั้น จึงควรจะมีการพิจารณาถึงการใช้ทางเลือกเหล่านี้ด้วย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog