จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนไทยมีบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น (รวมเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถาม) 89.3 ล้านบัญชี ซึ่งลดลงร้อยละ 1.43 หรือลดลง 1.29 ล้านบัญชี เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559
ขณะที่ เมื่อรวมทุกประเภทบัญชีเงินฝากของคนไทย มีจำนวน 12.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 88 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไทย ซึ่ง ณ สิ้นปี 2559 ประเทศไทยมีจีดีพีคิดเป็น 14.4 ล้านล้านบาท มีรายได้ต่อหัวประชากร 212,862 บาทต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะดูเฉพาะ “บัญชีเงินฝากออมทรัพย์” ของคนไทยเมื่อสิ้นเดือน ก.พ. 2560 คนไทยมีบัญชีออมทรัพย์ 78.9 ล้านบัญชี จำนวนบัญชีลดลงจากสิ้นปีก่อนร้อยละ 0.45 แต่มูลค่าเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.68 มาอยู่ที่ 7.04 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2559 คนไทยมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 6.86 ล้านล้านบาท
โดยบัญชีฝากออมทรัพย์ ที่มีจำนวนเงินในบัญชีต่ำกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99 ของจำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบ แต่มีมูลค่าของเงินฝากรวมกันเพียง 2.14 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปที่มีสัดส่วนจำนวนบัญชีเพียงร้อยละ 1 แต่มีเงินในบัญชีกลุ่มนี้มากถึง 4.9 ล้านล้านบาท
ประกอบกับปัจจุบันถึงก่อนปี 2563 ประเทศไทยอยู่ระหว่างการทยอยลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมาย โดยปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 15 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน แต่หลังจากวันที่ 11 สิงหาคม 2561 - 10 สิงหาคม 2562 จะลดลงวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน และจะทยอยลดลงไปเรื่อยๆ กระทั่งหลังวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป รัฐบาลจะคุ้มครองเงินฝากเพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน เท่านั้น
ขณะที่ บัญชีเงินฝากทุกประเภทในระบบทั้งหมด ที่มีจำนวนเงินมากกว่า 1 ล้านขึ้นไป มี 1.43 ล้านบัญชี หรือมีสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด และมีเงินในบัญชีประมาณ 9.77 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 77
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย