คนกรุงเทพฯ ต้องการการจัดการหาบเร่แผงลอย หรือทางเดินเท้าอย่างไร เป็นคำถามที่ยังไร้การศึกษาวิจัย หรือขาดข้อมูลเชิงประจักษ์จากภาครัฐ ผู้กำลังเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มข้น พวกเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาจากหาบเร่แผงลอยมีอยู่จริง ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐใช้สร้างความชอบธรรมในปราบปรามเสมอมา แต่ประโยชน์ของหาบเร่ ในฐานะแหล่งอาหารราคาถูก สะดวกสบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นเสน่ห์ที่ทั่วโลกยกย่อง ฯลฯ ก็สร้างความชอบธรรมให้เจ้าของหาบเร่แผงลอยใช้ต่อรองกับรัฐอยู่เช่นกัน
“ต้องมองหาบเร่แผงลอยเป็นเหรียญ 2 ด้าน” เป็นข้อโต้แย้งที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ย้ำตลอดการให้สัมภาษณ์ประเด็นการจัดการหาบเร่แผงลอย
ผลการศึกษาพฤติกรรมการเดินเท้าของคนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2558 จากโครงการ “เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี” ของ UddC ระบุว่า สภาพปัญหาที่กระทบต่อการเดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คนกรุงเทพฯพบเจอในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย
มีสิ่งกีดขวาง เดินไม่สะดวก 44.5 %
ไม่มีร่มเงาในการบังแดดและฝน 44.2 %
ทางเดินมืด แสงสว่างไม่เพียงพอ 44 %
ทางเท้าสกปรก มีขยะมูลฝอย 40.1 %
ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ราบเรียบ 39.3 %
“ผลชี้มาว่า คนเห็นว่า มีแผงลอยทำให้ถนนมีชีวิตชีวา แต่คนก็ไม่ชอบที่ แผงลอยทำให้ทางเท้าสกปรก วางเบียดเกะกะ แต่ถ้าเราสามารถจัดสรรพื้นที่ให้แผงลอย ให้สามารถจำหน่ายอาหารราคาถูก หลากหลาย ให้คนในเมือง โดยออกแบบพื้นที่ให้เขา มีที่ทิ้งขยะ มีระบบน้ำ-ไฟ ให้พวกเขาสามารถดำเนินกิจการได้ มันก็น่าจะลงตัวกับทุกฝ่าย”
ผู้อำนวยการยูดีดีซี ย้ำว่า ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ประสบปัญหาหาบเร่แผงลอย
ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยของภาครัฐ หากย้อนเมื่อ 60 ปีก่อน ภายหลังอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ประกาศนโยบาย “Green & Clean Singapore” หาบเร่แผงลอย มรดกตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคมอังกฤษ ตกเป็นเป้าที่ต้องจำกัด เนื่องจากเป็นแหล่งระบาดโรคติดต่อ ทั้งไทฟรอยด์และอหิวาต์ ทำให้พื้นที่สาธารณะสกปรก และกีดขวางการสัญจรบนทางเดินเท้า การขยายตัวของแผงลอยจึงสวนทางกับการยกระดับสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1
การไล่กวางล้างหาบเร่แผงลอยจึงเกิดขึ้น หากเป็นการกำจัดแบบ “แมวไล่หนู” ไร้วี่แววจะประสบความสำเร็จ
“นโยบายช่วงแรกเหมือนเรา เริ่มไล่ปรับ ไล่จับ เจ้าหน้าที่เทศกิจยึดอุปกรณ์ทำมาหากินของแผงลอย ผลปรากฏว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ แผงลอยก็หนีจากตรงนั้นไปตั้งตรงนี้ ไล่จับกันไปกันมา ไม่สามารถกวางล้างแผงลอยจากถนนสิงคโปร์ได้ นอกจากนี้ ประชาชนก็เห็นใจแผงลอย เพราะเป็นคนมีรายได้น้อย และที่สำคัญคนก็ยังต้องพึ่งพาอาหารราคาไม่แพง ท้ายที่สุดรัฐบาลกลับศึกษาพบว่า แผงลอยเหล่านี้แหละ เป็นตัวดูดซับอัตราการว่างงาน ในกลุ่มประชากรทีมีการศึกษาไม่สูงมาก และไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานขั้นสูงได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานของสิงคโปร์ไม่สูง อันนี้สำคัญ”
หลังรัฐบาลสิงคโปร์พบว่ามาตรการปราบปรามไม่ประสบผลสำเร็จ Hawker Center หรือ ศูนย์แผงลอย จึงถือกำเนิดขึ้น กระจายในย่านที่อยู่อาศัย หน้าตาเป็นอาคารโปร่ง อาจติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือภายใน Hawker Center วางระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่เหมาะสำหรับการจำหน่ายอาหารครบครัน ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ระบบกำจัดขยะ ตู้แช่แข็งส่วนกลาง ฯลฯ แถมยังให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเดิมเช่าในราคาต่ำ และเปิดโอกาสให้เช่าในพื้นที่ในทำเลเดิมที่ตนเคยค้าขาย แรงจูงใจเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ Hawker Center กลายเป็นสาธารณูปโภคสำคัญของย่าน ปัจจุบันกระจายทั่วประเทศ 113 แห่ง โดยรัฐบาลลงทุนไปหลายล้านดอลลาร์
หากผู้ช่วยศาสตร์นิรมล บอกว่า คนกรุงเทพฯใช้ชีวิตไม่เหมือนคนสิงคโปร์ เพราะคนสิงคโปร์ใช้ชีวิตกันในย่าน หรือ เดินทางจากที่อยู่อาศัยไปที่ทำงานในระยะไม่ไกล ในขณะที่คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่อาศัยในย่านชานเมือง ห่างไกลจากที่ทำงาน หลายคนไม่มีเวลาในทำอาหารรับประทานเองในบ้าน หาบเร่แผงลอยจึงตอบสนองปัญหาดังกล่าว
“หาบเร่แผงลอยของเราทำหน้าที่เหมือนของสิงคโปร์ในอดีต คือให้บริการอาหารราคาถูกกับแรงงานที่มีรายได้ไม่สูง แรงงานของเราไม่อยู่กับที่แต่เคลื่อนที่ไปมา เป็นเหตุให้หาบเร่อยู่ตามสถานีรถไฟฟ้า ทางเท้า เพราะเป็นทางที่แรงงานผ่าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของแรงงานกรุงเทพฯ เราจะออกแบบเมืองอย่างไร ที่ทำให้คนกรุงเทพ มีตลาดใกล้บ้าน มี Hawker Center ในที่อยู่อาศัยตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการยูดีดีซี บอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ตอบคำถามว่า การจัดการหาบเร่แผงลอยอย่างไรที่เหมาะสมสำหรับวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ จึงต้องถามคนกรุงเทพฯกลับว่าต้องการการจัดการหาบเร่แผงลอยและทางเดินเท้าแบบไหน ระหว่างไม่ต้องทำอะไร เป็นเสน่ห์ที่หลายคนชอบ เป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม และเป็นเครื่องมือดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างขยะและสิ่งปฏิกูลที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หรือ คนกรุงเทพฯ ต้องการสิงคโปร์โมเดล ที่อาจไม่มีชีวิตชีวา
หรือ พบกันครึ่งทาง มีการจัดวางหาบเร่แผงลอยบนบางช่วงถนน โดยศึกษาว่าพื้นที่บริเวณใดเหมาะสม ศึกษาลักษณะของย่าน กิจกรรมใช้สอยที่เกิดขึ้น และความต้องการของผู้อยู่อาศัย ซึ่งคนในย่านควรได้สะท้อนความต้องการ
“ตอนนี้รัฐบาลให้ความสนใจคือเสน่ห์ ทรัพยากรทางวัฒนธรรม สร้างกิจกรรมทางการท่องเที่ยวหลายด้าน มีแม่เหล็กเป็นกลุ่มแผงลอย เช่น เยาวราช ข้าวสาร แต่อีกมุมที่เราไม่ได้มอง อีกด้านของเหรียญที่เราไม่ได้มอง อย่าลืมว่าสิ่งที่แผงลอยเหล่านี้ ผลิตและทิ้งในแต่ละวันไม่น้อย ระบบสาธารณูปโภคของเรา ไม่ได้รับการออกแบบ เพื่อรองรับของเสียที่ทิ้งในพื้นที่สาธารณะ เคยสังเกตมั้ยคะว่า เวลาเดินทางเท้าทุกย่านของกรุงเทพ จะมีกลิ่น จะมีคราบ นั่นก็มาจากออแกนิกที่ทิ้งจากหาบเร่แผงลอย และเป็นปัจจัยสำคัญทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลอง มีคุณภาพลดลง นอกจากนั้น เราควรมองหาบเร่แผงลอยในแง่ความปลอดภัยสาธารณะ โดยเฉพาะการทอด จะทำให้เกิดอุบัติเหตุอะไรก็ได้”
หาบเร่แผงลอยบนเหรียญด้านหนึ่ง คือแหล่งอาหารที่คนรายได้ต่ำในเมืองสามารถเข้าถึงได้ คือแหล่งสร้างรายได้ คือแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ คือเสน่ห์ที่ทั่วโลกยอมรับและรัฐบาลก็ยอมรับเช่นกัน แต่เมื่อพลิกเหรียญอีกด้าน หาบเร่แผงลอยคือสาเหตุของสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด คือสิ่งกีดขวางการสัญจร และคือสาเหตุของอันตรายต่อชีวิตคนเมือง
ไม่ว่าทางเลือกใดจะเป็นทางออกสำหรับแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอย แต่สิ่งที่นักวิชาการผังเมืองฝากถึงภาครัฐ คือการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน เพื่อหาคำตอบที่คนกรุงเทพฯต้องการ และรัฐต้องยอมรับว่าแผงลอยมีอยู่จริงและมีประโยชน์
“ถ้ารัฐบาลเห็นจริงๆว่า หาบเร่แผงลอยมีอยู่จริงและมีประโยชน์ต่อคนในเมือง เป็นที่พึ่งพิงด้านปากท้องของแรงงานในเมือง ก็ถึงเวลาแล้ว ที่จะคิดกันจริงๆว่า แต่ละย่าน แต่ละถนน ควรมีแผงลอยหรือไม่ อย่างไร ตรงไหน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สร้างระบบ 'หาบเร่แผงลอย' ถอนบทเรียนสิงคโปร์