ไม่พบผลการค้นหา
ครบ 3 ปี 'พอละจี' ไม่กลับบ้าน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปหลังออกจากบ้านในวันที่ 17 เม.ย. 2557 ผ่านมา 3 ปี แล้ว โอกาสที่จะได้เห็นเขากลับบ้านก็ดูจะเป็นเพียงความฝัน ขณะที่กระบวนการยุติธรรมและการสืบสวนหาสาเหตุและผู้เกี่ยวข้องกับการหายตัวของเขา ก็ดูเลือนรางไม่แพ้กัน

วอยซ์ทีวี ย้อนดู 7 ข้อเท็จจริงควรรู้ที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่นายพอละจีหายตัวไป


1. บิลลี่คือใคร

นายพอละจีเป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงวัย 30 ปี และอดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ก่อนที่จะหายตัวไป เขาเป็นพยานคนสำคัญในคดีที่ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เรียกค่าเสียหายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น และหน่วยงานต้นสังกัด

จากกรณีที่นายชัยวัฒน์และพวกเข้ารื้อเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน 20 ครอบครัวในช่วงเดือนพ.ค. 2554 ตามนโยบายขับไล่ชนกลุ่มน้อยออกจากป่าของรัฐบาล แม้จะมีผลการศึกษาระบุว่าชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ได้ต้ังรกรากบริเวณดังกล่าวมากว่า 100 ปี

นายพอละจีถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ขณะถูกควบคุมตัวโดยนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อสอบปากคำ โดยนายชัยวัฒน์ยอมรับว่าได้จับตัวนายพอละจีไว้จริง เพื่อตักเตือนเรื่องพฤติกรรมบุกรุกป่าและครอบครองรังผึ้งและน้ำผึ้งป่า 5 ขวด แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว ขณะที่นักศึกษาฝึกงาน 2 คน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ระบุตรงกันว่าเห็นนายพอละจีขับรถมอเตอร์ไซค์ออกไปภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว

2. คดีความไม่คืบ - ฟ้อง 'อุ้มหาย' ไม่ได้

หลังเกิดเหตุ น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของนายพอละจี พร้อมด้วยชาวบ้านเข้าแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน และได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับการตำรวจภูธรเพชรบุรี เพื่อขอความเป็นธรรมและขอให้เร่งติดตามคดีนี้

ต่อมามีการตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้สรุปสำนวนส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินคดีกับนายชัยวัฒน์ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขณะนี้เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ท. 

สำหรับคดีอาญาเกี่ยวกับการบังคับสูญหาย หรือ ‘อุ้มหาย’ นายพอละจี ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากญาติหรือครอบครัวเหยื่อไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะศาลไม่นับว่าเป็น "ผู้เสียหาย" ขณะเดียวกันไทยก็ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการบังคับสูญหายออกมา

3. ศาลยกคำร้อง ‘คำสั่งปล่อยตัวบิลลี่’

ภรรยาของบิลลี่ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและออกคำสั่งให้นายชัยรัตน์และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ปล่อยตัวนายพอละจี โดยศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกคำร้อง เนื่องจากคำให้การของนักศึกษาฝึกงานระบุว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจีไปแล้ว 

ส่วนศาลฎีกายกคำร้องเช่นกัน ระบุว่ากระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะก่อนมีการเรียกตัวผู้ต้องหา ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งชี้ว่าคำร้องมีมูล นอกจากนี้ คำให้การของพยานสองคน คือ บิดาของนายพอละจี และกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ไม่มีน้ำหนักพอเพราะไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ 

4. ดีเอสไอ (ยัง) ไม่รับเป็นคดีพิเศษ

ผ่านมาราว 1 ปีเศษ ไม่มีความคืบหน้า น.ส.พิณนภา เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ โดยขอให้ดีเอสไอรับสอบสวนคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และเร่งรัดการสืบสวน แต่เมื่อเดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา มีรายงานว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่านายพอละจีเสียชีวิตแล้วหรือไม่ และไม่มีหลักฐานใหม่ที่จะทำให้คดีเข้าองค์ประกอบที่จะรับเอาไว้เป็นคดีพิเศษ 

นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าการทำให้คดีอุ้มหายเป็นคดีพิเศษ เป็นกลไกที่จะช่วยคุ้มครองครอบครัวของเหยื่อที่หายตัวไป เนื่องจากในหลายกรณี เหยื่อเป็นคู่พิพาทกับผู้มีอิทธิพลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หากปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบเอง อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจหรือไม่เป็นธรรมได้

ล่าสุด น.ส.พิณนภา เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้ามาตรวจสอบคดีเพิ่มเติมกับนางโพโระจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจีแล้ว ​เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา

5. คู่กรณี ได้รับการเลื่อนขั้น

2 เดือนหลังจากที่เกิดเหตุ กรมอุทยานฯ มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ให้ไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากผลการสอบสวนพบว่า นายชัยวัฒน์กระทำความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติราชการพลเรือน ในการจับกุมตัวนายบิลลี่ แต่ไม่ลงบันทึกและส่งตัวให้พนักงานสอบสวนตามระเบียบของทางราชการ 

แต่แล้วกรมอุทยานฯ ก็สั่งย้ายนายชัยวัฒน์กลับมาทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกครั้ง ในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ต้องกลับมาปฏิบัติภารกิจให้เสร็จ" และเมื่อกลางปี 2559 นายชัยวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าชุดพญาเสือศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า และดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน

(นายคออี้ มีมิ หรือปู่คออี้ กะเหรี่ยงอาวุโสจากชุมชนบ้านกะเหรี่ยงป่าแก่งกระจาน หนึ่งในผู้ฟ้องคดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อเผาบ้านเรือนชาวบ้านตามนโยบายทวงคืนผืนป่า เมื่อปี 2554)

6. เหตุจูงใจที่อาจทำให้ 'บิลลี่' สูญหาย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยระบุเอาไว้ว่า การหายตัวไปของบิลลี่อาจมาจากภาพถ่ายซึ่งนายบิลลี่เป็นผู้บันทึกไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นการตัดไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมในกระบวนดังกล่าวหรือไม่

ด้านรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือเอไอ ระบุว่า บิลลี่จะต้องให้ปากคำต่อศาลปกครองในวันที่ 18 พ.ค. 2557 ในฐานะพยานในคดีที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ฟ้องต่อศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกรณีเข้าไลรื้อและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านเมื่อปี 2554 และขอสิทธิอาศัยทำกินในพื้นที่เดิม

สำหรับคดีนี้ ศาลพิพากษาเมื่อปี 2559 ว่าการไล่รื้อเป็นไปตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงไม่มีสิทธิทำกินในที่ดินซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะไม่ใช่ชุมชนดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม การเผาทำลายข้าวของเครื่องใช้โดยเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่สมควร ศาลสั่งให้ชดใช้ชาวบ้านคนละ 10,000 บาท ส่วนคำขออื่น เช่น ขอสิทธิทำกินในพื้นที่เดิม และให้ภาครัฐดำเนินตามนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ให้ยกทั้งหมด 

รายงานของเอไอยังระบุด้วยว่า มีการพยายามทำลายหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์พบว่ามีการล้างทำความสะอาดคราบเลือดในรถยนต์ของนายชัยวัฒน์หลายครั้ง ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอของลูกชายนายพอละจี

(ภายหลังการหายตัวไปมีการก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก Where is Billy? เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีอุ้มหาย)

7. กฎหมาย 'อุ้มหาย' ยังไม่คลอด

ข้อมูลขององค์กร Protection International เปิดเผยว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยสูญหายและถูกฆ่าทั้งหมด 59 คน โดยกรณีล่าสุดเมื่อปี 2559 คือการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้ที่หากินในพื้นที่ซึ่งภายหลังได้รับการประกาศเป็นเขตป่าสงวน 

แต่ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของไทยยังไม่สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณี 'อุ้มหาย' ได้เนื่องจากไม่มีกฏหมายรองรับ อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนพ.ค. 2559 รัฐบาลได้เห็นชอบให้มีการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ารัฐบาลได้ระงับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวชั่วคราว จนทำให้โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) แสดงความรู้สึกผิดหวัง เนื่องจากเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยใช้ยืนยันกับนานาชาติว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษชนพัฒนาขึ้น โดยตัวแทนของรัฐบาลได้ออกมาระบุภายหลังว่า กำลังเดินหน้าเรื่องนี้ แต่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขกฎหมาย

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ที่มีการยกร่างไปแล้ว มีสาระสำคัญ คือ 

1. กำหนดบทลงโทษอย่างหนักต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปทรมานประชาชนและอุ้มประชาชนหายไปจากสังคม

2. กำหนดนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” ให้กว้างขวางขึ้น โดยให้รวมถึงบุพการี คู่สมรสของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงมีสิทธิได้รับการเยียวยา

3. กำหนดความผิดทางอาญาแก่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่รู้เห็นและทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไปทรมานหรืออุ้มหายแล้วไม่ยับยั้ง ห้าม หรือลงโทษ

4. การห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐจับกุมคุมขังบุคคลในที่ที่ไม่เปิดเผย

5. การแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนคดี ช่วยเหลือเยียวยาญาติผู้ที่ถูกทรมานและอุ้มหาย และคุ้มครองผู้เสียหายหรือผู้แจ้งความในคดีทรมานและบังคับสูญหาย ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง อาญา และคดีอื่นใด

นอกจากนี้ เพื่อหยุดวงจรลอยนวลพ้นผิดจากการบังคับสูญหาย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย เคยเสนอให้มีการรื้อฟื้นคดีเกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายในไทยทั้งหมด และทำให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

ข้อมูล: Amnesty Internationalสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)


อ่านเพิ่มเติม 

จาก 'บิลลี่' ถึง 'ชัยภูมิ' และปัญหาการละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์

- UN ผิดหวังไทย แขวนร่างกฎหมาย เอาผิดอุ้มหาย-ทรมาน

'แด่นักสู้ผู้จากไป' ชุดภาพถ่ายสะท้อนอิทธิพลมืดในรัฐไทย

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog