ผลสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้หญิงอินโดนีเซียที่มีการศึกษาสูงและอยู่ในเมือง เสี่ยงประสบความรุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะความรุนแรงภายในครอบครัว
ผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงส่งเสริมและปกป้องผู้หญิงและเด็กของอินโดนีเซียเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงเกือบ 9,000 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การสำรวจลักษณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียและกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติหรือ UNFPA ระบุว่า ผู้หญิงอินโดนีเซียที่อายุ 15 ปี ถึง 64 ปี กว่า 1 ใน 3 เคยประสบกับความรุนแรง
นอกจากนี้ ผู้หญิงในเขตเมือง และมีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะเจอความรุนแรงมากกว่าผู้หญิงในชนบทและการศึกษาน้อย และการสำรวจยังพบว่า ผู้หญิงประมาณ 1 ใน 4 เคยถูกทำร้ายร่างกายโดยสามีของตัวเอง ขณะที่ความรุนแรงทางเพศโดยบุพการี ครู เพื่อนและคนแปลกหน้ามีสูงถึงร้อยละ 14.4
ผู้ร่วมจัดงาน Women’s March Jakarta มองว่า นี่เป็นผลจากค่านิยมของอินโดนีเซีย เช่น วัฒนธรรมชวาดั้งเดิมจะบอกให้ผู้หญิงคอยเชื่อฟังผู้ชาย ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายของ LBH APIK บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้หญิงกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้นก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรง
ปีที่แล้ว กระทรวงพัฒนาสังคมระบุว่า มีผู้หญิงหลายคนทั่วอินโดนีเซียที่ไม่กล้าแจ้งความความหลังถูกกระทำรุนแรง ทำให้รัฐบาลมีข้อมูลที่น่าเชื่อถืออยู่จำกัด จนมองไม่เห็นภาพรวมที่แท้จริงเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยที่ผ่านมามีการประเมินว่า มีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายประมาณ 3 - 4 ล้านคนทั่วประเทศ แต่การสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้หญิงที่เคยถูกทำร้ายสูงกว่าที่ประเมินเอาไว้