เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ที่ภิกษุณีธัมมนันทา หรือชื่อเดิม รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ออกบวชครองผ้าเหลืองเผยแผ่พระธรรมอย่างแน่วแน่ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการมีอยู่ของภิกษุณีในสังคมไทย ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าผิดหลักพระธรรมวินัย และนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อภิกษุณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวหลายกรณี
วันนี้ ภิกษุณีธัมมนันทาเป็นเจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม จ.นครปฐม ซึ่งเป็นวัดสำหรับนักบวชหญิงแห่งแรกๆ ในไทย ตามรอยมารดาผู้สร้างวัดแห่งนี้ โดยมารดาของเธอก็เป็นภิกษุณีเช่นกัน แต่ได้รับการบวชในฝ่ายมหายานที่ประเทศไต้หวัน ขณะที่ภิกษุณีธัมมนันทาได้รับการบวชในฝ่ายเถรวาทที่ประเทศศรีลังกา โดยมีพระภิกษุเป็นอุปัชฌาย์และภิกษุณีเป็นปวัตตินี ซึ่งท่านมองว่าถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยที่ให้การอุปสมบทภิกษุณีทำโดยสงฆ์ 2 ฝ่ายแล้ว ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ทำหน้าที่สอบถามอันตรายิกธรรม ฝ่ายภิกษุสงฆ์ให้การอุปสมบท
แม้กระนั้น เรื่องของภิกษุณียังเป็นข้อถกเถียงไม่รู้จบ คณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทของไทยนำโดยมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่ยอมรับสถานะของภิกษุณี โดยยึดตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สั่งห้ามภิกษุสงฆ์บวชภิกษุณี โดยอ้างว่าภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทได้ “สิ้นสายไปแล้ว” ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญที่ใกล้ชิดกับองค์กรสงฆ์ ไม่ยอมรับการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกาว่าเป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย เนื่องจากเป็นการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่และวิธีการรื้อฟื้นอาจไม่ถูกต้องเท่าไรนัก
มีการรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในไทยมา 2 ครั้งแล้ว แต่การบวชของภิกษุณีธัมมนันทา เรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทางให้ผู้หญิงไทยตามรอยไปบวชที่ประเทศศรีลังกา จนปัจจุบันมีภิกษุณีราว 100 รูปทั่วประเทศไทย
วอยซ์ ทีวี สัมภาษณ์พิเศษ ภิกษุณีธัมนันทา หรือ “หลวงแม่” ในวันที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม จัดพิธีบรรพชาสามเณรีชั่วคราวเมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมบรรพชา 24 คน
วอยซ์ ทีวี: ทำไมผู้หญิงเลือกที่จะบวชภิกษุณี?
หลวงแม่ธัมมนันทา: ผู้หญิงอยากบวชมานานแล้ว แต่ไม่มีพื้นที่ที่เปิดให้ แล้วผู้หญิงก็เห็นว่าการเป็นแม่ชีไม่สมศักดิ์ศรี แม่ชีที่มีการศึกษาก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ดูแลทำความสะอาดครัวของวัด ผู้หญิงเหล่านี้ไม่อยากทำหน้าที่เพียงเท่านั้น พวกเขาอยากที่จะเข้ามาเรียน เข้ามาสอน เข้ามาทำหน้าที่ให้การศึกษากับสังคมส่วนใหญ่ หลังจากที่หลวงแม่บวชได้ปีหนึ่ง และเริ่มเห็นว่าตำรวจไม่จับหลวงแม่แน่ๆ แล้ว เนื่องจากไม่ผิดกฎหมาย ผู้หญิงเหล่านี้ก็ได้กำลังใจและแสวงหาทางไปบวชกันเอง ที่วัตรแห่งนี้ก็มีเพียง 17 รูปเท่านั้น แต่คนที่เขาแสวงหาเส้นทางการบวชมีอยู่มากมาย 80-90 รูป ก็ไปสังกัดอยู่กับสำนักอื่น ๆ ด้วย
วอยซ์ ทีวี: ภิกษุณีมีหน้าที่อะไรบ้าง
หลวงแม่ธัมมนันทา: ก่อนที่จะไปรับใช้สังคมก็มีหน้าที่เป็นพระก่อน คือตอนที่บวชเราบอกอุปัชฌาย์ว่าเราจะเพียรพยายาม “ทำทุกข์ให้สิ้น ทำพระนิพพานให้แจ้ง” นั่นคือหน้าที่หลัก พอหน้าที่หลักได้แล้ว เราปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน จากเมื่อก่อนที่หลวงแม่เป็นคนขี้โมโห ก็ละความโมโห ได้ทำตามธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างไร ก็เอาการปฏิบัติส่วนตนมาเล่าให้ญาติโยมฟัง ญาติโยมก็จะคลี่คลายได้ อันนี้เป็นหน้าที่หนึ่ง ก่อนที่จะไปทำงานสังคมสงเคราะห์ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เช่น ที่วัตรหากมีผู้ถวายผ้าอนามัยเป็นจำนวนมาก เราก็เห็นว่าในเรือนจำมีงบประมาณน้อยมาก ก็เลยนำไปบริจาคให้กับนักโทษหญิงที่นั่น
วอยซ์ ทีวี: การเกิดใหม่ของภิกษุณีจะนำไปสู่อะไร
หลวงแม่ธัมมนันทา: เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิง อย่างหนึ่งที่เขาจะเข้ามาวัดมากๆ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ของผู้หญิง เขาเข้ามาไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะเข้าไปนั่งตรงที่พระหรือเปล่า เพราะพระที่นี่เป็นพระผู้หญิง เขารู้สึกมีความปลอดภัย มีการปฏิบัติที่กลมกลืนกับสภาวะเพศของเขา คิดว่าผู้หญิงไทยน่าจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันผู้ชายก็จะสบายใจว่าเอาลูกสาวและภรรยามาอยู่กับหลวงแม่ จะสบายใจได้ว่าพวกเขาปลอดภัย
วอยซ์ ทีวี: ข้อสงสัยเรื่องการสิ้นสายของภิกษุณี
หลวงแม่ธัมมนันทา: สิ้นสายหรือไม่ ไม่เกี่ยงเลย ภิกษุณีเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเจตนารมณ์ตั้งแต่ต้น โดยการประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้าสิ้นสายไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์จะต้องทำนุบำรุงให้เกิดขึ้น
ความเข้าใจผิดที่ว่าสิ้นสายไปแล้วให้หมดไปเลย เกิดจากความเข้าใจผิดที่ว่าผู้หญิงที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องเริ่มต้นการบวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน แต่ไปอ่านในพระไตรปิฎกไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อแรกมีภิกษุณีก็บวชโดยภิกษุสงฆ์ได้เลย แต่ที่ให้ภิกษุณีเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบอันตรายิกธรรม หรือสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีภิกษุณี ผู้หญิงที่ขอบวชสามารถที่จะขอตอบอันตรายิกธรรมต่อพระภิกษุได้ นางก็สามารถจะบวชได้ เพราะฉะนั้นสิ้นสายหรือไม่ ก็สามารถทำได้ โดยพระธรรมวินัย
ภิกษุณีสงฆ์เป็นเรื่องพุทธ อยู่ในพุทธศาสนาตั้งแต่ต้น มีต่อมาจนถึงสิ้นพุทธศาสนาในอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 11-12 สามารถพิสูจน์ได้ เพียงแต่เราจะเห็นความดีงามของภิกษุณีหรือไม่ ถ้าเราเห็นว่านี้เป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่ท่านคิดว่าต้องวางรากฐานให้ เราก็ควรจะเคารพในเจตนารมณ์ของพระองค์ท่าน
วอยซ์ ทีวี: ความยากลำบากที่ภิกษุณีต้องเจอมีอะไรบ้าง
หลวงแม่ธัมมนันทา: ถ้าเราอยู่อย่างนี้โดยที่ไม่ต้องไปติดต่อราชการเลย ไม่มีปัญหาเลย สบายมาก ญาติโยมยอมรับดีมาก แต่เมื่อไหร่ที่ต้องไปติดต่อกับทางราชการ เราเป็นภิกษุณีแล้ว บัตรประจำตัวยังเป็นนาง แต่เราไม่มีรหัสนักบวช ทำอย่างไรจึงจะอยู่ในระบบ ก็ต้องไปติดต่อกรมการปกครอง กรมการปกครองก็จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักพุทธฯ ก็จะบอกว่ามหาเถรสมาคมยังไม่ยอมรับภิกษุณีสงฆ์ จึงไม่สามารถให้คำนำหน้าว่าภิกษุณีได้ ขั้นตอนเป็นแบบนี้ ติดอยู่ที่ระบบโครงสร้างของรัฐบาลเอง ที่ไม่ก้าวหน้าทันเหตุการณ์ การมีอยู่ของภิกษุณีได้เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจะหลับหูหลับตามันไม่สมจริง เหมือนกฎหมายไม่สมจริง
วอยซ์ ทีวี: รัฐควรมีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร
หลวงแม่ธัมมนันทา: การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์มีจริงๆ แล้ว และไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นทางการจะต้องเป็นคนทำให้มันสมจริงทางกฎหมาย ตอนนี้รัฐบาลเอาขาไปเกี่ยวกับมหาเถรสมาคม (มส.) เอาขาไปเกี่ยวกับคณะสงฆ์ อะไรที่เป็นเรื่องของสงฆ์ควรเป็นเรื่องของสงฆ์ ถ้าหากไม่ให้เราสังกัดกับภิกษุสงฆ์ เราก็ไม่อยากสังกัด เพราะการจัดการปัญหาของท่านก็ยังเยอะอยู่ แต่เราเป็นพลเมืองในประเทศนี้ มีสถานภาพสังกัดกับรัฐบาลเรา รัฐต้องสร้างหน่วยงานเพื่อดูแลภิกษุณีสงฆ์ให้มีสถานภาพตามกฎหมาย โดยไม่ต้องไปอิงกับมหาเถรสมาคมก็ได้ คิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ง่ายกว่า
วอยซ์ ทีวี: เมื่อไหร่ที่ภิกษุณีไทยจะได้รับการยอมรับ
หลวงแม่ธัมมนันทา: ภิกษุณีไทยจะได้รับการยอมรับเมื่อ 1. มีจำนวนเยอะขึ้น 2. มีคุณภาพ ในที่นี้คือมีการศึกษา และมีวัตรปฏิบัติที่เพียบพร้อม จริงๆ แล้วอาจจะมีน้อยคนได้ แต่ต้องมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ เราไปฟังจากเสียงชาวบ้าน เขาได้ประโยชน์อะไรบ้าง ได้ใส่บาตร นอกเหนือจากนั้นเราดูแลช่วยเหลือเขา ลูกจะไปเรียนต่อทำอย่างไร ถ้าภิกษุณีมีความรู้เรื่องการศึกษา ชาวบ้านจะอิงประโยชน์ตรงนี้ ขอให้แนะนำทางการศึกษาให้ โยมกับพระเป็นสังคมที่อิงอาศัยกัน
ภิกษุณีในแต่ละสำนักเน้นคุณภาพ อย่างที่เชียงใหม่ก็เป็นสำนักใหญ่มี 30 รูป มีบางสำนักเน้นปริยัติหรือการศึกษาพระธรรมวินัย แต่บางสำนักเน้นที่การปฏิบัติ หรือการฝึกจิต ทำวิปัสสนาไปตามความเป็นจริงในขบวนการพัฒนาตน ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาก็จะไปได้ ในขณะเดียวกันก็ควรจะมีการควบคุมภิกษุณีที่ออกนอกเส้นทางก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ในขณะที่องค์กรของรัฐไม่เอื้อให้เรา ภิกษุณีเองต้องตรวจสอบติติงซึ่งกันและกัน เพื่อให้เราเดินบนเส้นทางที่ถูกต้อง แต่เพราะการไม่ยอมรับ ทำให้ภิกษุณีที่ออกบวชค่อนข้างจะมีคุณภาพ คือรู้ว่าการออกบวชไม่ได้อะไร เราจะถูกลิดรอนสิทธิมากเลย แม้กระนั้นคนก็อยากจะออกบวช
วอยซ์ ทีวี: การเคลื่อนไหวของภิกษุณีในไทยต่อไปจะเป็นลักษณะไหน
หลวงแม่ธัมมนันทา: คงจะเป็นกระบวนการต่อยอดเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ พระบางรูปบอกว่าก็เราอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้แล้ว เพราะหลวงแม่ก็เป็นคนไทยทำไมต้องอนุญาตให้หลวงแม่อยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องอนุญาตก็อยู่ได้
เราจะช่วยกัน ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ที่จะช่วยกันรักษาพระศาสนาอย่างไร พระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่าศาสนาในอนาคตจะเสื่อมลงเพราะพุทธบริษัทไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพยำเกรงซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นเราต้องจริงใจ
บางครั้งการปฏิบัติของเราไม่ได้จริงใจกับคำสอนของพระพุทธเจ้า เราจะไปติดกับกับเถรวาท ซึ่งเถรวาทก็เกิดทีหลัง พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งเถรวาท เถรวาทหรือมหายานนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลัง พยายามดูที่เจตนารมณ์ความตั้งใจของพระพุทธเจ้า เราก็จะเป็นชาวพุทธที่ยั่งยืนได้
วอยซ์ ทีวี: มีอะไรที่อยากจะทิ้งท้าย
หลวงแม่ธัมมนันทา: จริงๆ แล้วพระภิกษุไทยเสียบทบาทโดยพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุไทยบวชหญิงเป็นภิกษุณี เพราะเป็นหน้าที่ที่ท่านต้องบวชภิกษุณีที่พระพุทธเจ้าระบุเอาไว้ การห้ามของสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนอาจจะถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะของสมัยนั้น บัดนี้เวลาผ่านไป ตั้งแต่ปี 2476 จนถึงตอนนี้ก็จะ 90 ปีแล้ว คำสั่งนั้นควรจะยกเลิกได้แล้ว ในสังคมปัจจุบันผู้หญิงก็สามารถบวชได้ถูกต้อง ไปรับอันตรายิกธรรมกับภิกษุณีสงฆ์ และไปบวชกับภิกษุสงฆ์อย่างถูกต้อง คำสั่งนั้นจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ได้ละเมิดผู้หญิง แต่เป็นการละเมิดสิทธิโดยพระวินัยพระภิกษุ
ขอขอบคุณภาพจาก คุณธิพลชา ชื่นศรีทอง และ วัดทรงธรรมกัลยาณี
อ่านเพิ่มเติม