คดีของนายนิกคลินสัน ปลุกกระแสการถกเถียงเกี่ยวกับความชอบธรรมของการทำการุณยฆาตให้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกอีกครั้ง ว่าในที่สุดแล้ว สิทธิในการมีชีวิตหรือจบชีวิตของมนุษย์ ควรจะอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเอง การวินิจฉัยของแพทย์ หรือถูกจำกัดและควบคุมภายใต้กรอบของกฎหมายและหลักศีลธรรม
โทนี นิกคลินสัน เป็นชายวัยกลางคนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง มีนิสัยสนุกสนานร่าเริง และชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นชีวิตจิตใจ จนกระทั่งเขาล้มป่วยอย่างกะทันหันด้วยภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันเฉียบพลันในปี 2548 ซึ่งถึงแม้เขาจะรอดชีวิตจากโรคดังกล่าวมาได้ แต่ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในภาวะล็อกอิน ซินโดรม หรืออาการอัมพาตทั้งตัว โดยไม่สามารถแม้แต่จะพูดสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ ทำได้เพียงการกลอกตาและสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์ที่แปลความหมายของการขยับของเส้นเสียงของเขา
ด้วยสภาพร่างกายที่จำกัดเช่นนี้ เรียกได้ว่านายนิกคลินสันตกอยู่ในภาวะที่ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เนื่องจากถูกกักขังอยู่ในร่างกายของตนเองที่ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ แม้แต่กิจวัตรประจำวันอย่างการขับถ่ายหรือรับประทานอาหาร ถึงแม้ความคิดความอ่านและสติสัมปชัญญะของเขาจะยังคงอยู่ครบถ้วนเหมือนคนปกติก็ตาม
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าอาการทางสมองของเขาไม่สามารถรักษาหรือฟื้นฟูได้อย่างสิ้นเชิง และสภาพร่างกายของเขา โดยเฉพาะอวัยวะต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆเนื่องจากการขาดการใช้งาน นายนิกคลินสันจึงตัดสินใจเลือกจบชีวิตของตนเอง แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ คือกฎหมายของอังกฤษ ที่ห้ามไม่ให้มีการทำการุณยฆาต หรือการที่แพทย์ช่วยจบชีวิตผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่มีทางรักษา ไม่ว่าจะด้วยการให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หรือการช่วยจบชีวิตผู้ป่วยโดยการงดเว้นการรักษาก็ตาม
ซึ่งหมายความว่าแพทย์หรือบุคคลใดก็ตามที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจบชีวิตนายนิกคลินสัน จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
ครอบครัวของนายนิกคลินสันตัดสินใจฟ้องร้องกรณีดังกล่าวต่อศาลอังกฤษ เพื่อขอให้ศาลยืนยันในสิทธิของเขาที่จะเลือกจบชีวิตของตนเอง แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อศาลปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าศาลไม่สามารถออกคำวินิจฉัยที่ขัดต่อกฎหมายห้ามการทำการุณยฆาตได้ ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามว่า สิทธิในการมีหรือไม่มีชีวิตของนายนิกคลินสันและผู้ป่วยด้วยโรคที่ทุกข์ทรมานและไม่มีทางรักษารายอื่นๆ ควรจะขึ้นอยู่กับตนเอง แพทย์ หรืออำนาจรัฐ
การทำการุณยฆาต เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากที่สุดในเชิงจริยธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในยุโรป แต่จนถึงขณะนี้ ก็มีเพียงประเทศเสรีสุดโต่งอย่างเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอแลนด์เท่านั้น ที่อนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีสวิตเซอร์แลนด์เพียงประเทศเดียว ที่อนุญาตให้มีคลีนิคการุณยฆาตเพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติ
ผู้ที่ส่งเสริมการทำการุณยฆาต กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ตัดสินชะตากรรมของตนเอง และเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ได้ คืออยู่ในภาวะทุกข์ทรมาน หรือไม่สามารถช่วยตนเองได้อย่างสิ้นเชิง ก็ควรได้รับความช่วยเหลือให้จบชีวิตของตนเองอย่างสงบ
ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็กล่าวว่า การอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาต จะกลายเป็นการส่งเสริมการฆ่าตัวตาย ซึ่งขัดต่อหลักจริยธรรมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหากเป็นการณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนว่าต้องการจบชีวิตของตนเองได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำลายโอกาสในการหายหรือบรรเทาจากโรคของผู้ป่วยอีกด้วย
สำหรับกรณีของนายนิกคลินสัน ยิ่งนับว่าเป็นกรณีที่ซับซ้อนเป็นพิเศษ ที่เขามีสติสัมปชัญญะเพียงพอที่จะแสดงเจตจำนงว่าต้องการเสียชีวิต แต่ไม่สามารถฆ่าตัวตายเองได้ เนื่องจากไม่สามารถขยับร่างกายได้ ยกเว้นการเลือกตายด้วยวิธีที่ยากลำบากอย่างการอดอาหาร ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า เขาไม่เพียงเข้าข่ายถูกพรากสิทธิในการขอให้แพทย์ทำการุณยฆาตเท่านั้น แต่ยังถูกละมิดสิทธิในการตัดสินชะตากรรมของตนเองด้วยการฆ่าตัวตายเช่นที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ซึ่งถือเป็นการถูกจำกัดสิทธิ์ด้วยความพิการทางร่างกายอีกด้วย
กรณีของนายนิกคลินสัน จึงถือเป็นกรณีตัวอย่างของสิทธิในการทำการุณยฆาต ที่เรื่องของจริยธรรมอาจจะไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ เมื่อเขาเต็มใจและแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการมีชีวิตต่อไป แต่กลับกลายเป็นว่าอำนาจรัฐซึ่งควรจะเป็นเครื่องมือพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชน กลับกลายมาเป็นสิ่งที่กีดขวางสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของเขา ทั้งๆ ที่ยังเป็นเรื่องน่ากังขาว่ารัฐมีอำนาจชอบธรรมเพียงพอหรือไม่ ที่จะเป็นผู้กำหนดการอยู่หรือตายของประชาชน