ไม่พบผลการค้นหา
นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา เพราะนพื้นที่มีกรณีที่ชาวมุสลิมฆ่ากันเองเช่นกัน เราจะย้อนกลับไปดูว่าจุดยืนของเธอเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จากคำพูดของเธอเองในวาระต่างๆกัน

นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมา สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่าไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา เพราะนพื้นที่มีกรณีที่ชาวมุสลิมฆ่ากันเองเช่นกัน เราจะย้อนกลับไปดูว่าจุดยืนของเธอเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จากคำพูดของเธอเองในวาระต่างๆกัน

 

ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งปี 2015 นางอองซาน ซูจี ถูกจับตามองอย่างมากว่าจะจัดการปัญหาโรฮิงญาอย่างไร เนื่องจากชาวพม่าส่วนใหญ่เกลียดชาวโรฮิงญา แต่นานาชาติกลับกดดันให้เธอปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มนี้ และวิจารณ์นางซูจีอย่างหนักว่าเธอห่วงคะแนนเสียงมากกว่าหลักการด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้สุดท้ายแล้วนางซูจีได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ว่ากรณีโรฮิงญาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก แต่เธอการันตีว่าตนเองยืนหยัดเพื่อสิทธิของคนกลุ่มน้อยทุกๆกลุ่มเสมอ เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ในประเทศ นอกจากนี้ เมื่อถูกถามว่าเฉพาะเจาะจงถึงการให้สัญชาติชาวโรฮิงญา เธอก็ยังบอกว่า รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และหวังว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและโปร่งใส

(กรณีโรฮิงญา) เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากๆ แต่ฉันยืนหยัดเพื่อสิทธิของคนกลุ่มน้อยทุกๆกลุ่มเสมอ เพื่อสันติภาพและความสมานฉันท์ในประเทศ

อองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post (มิถุนายน 2015)

แต่ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน เธอกลับกล่าวระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศว่านานาชาติไม่ควรเน้นปัญหานี้จนดูสำคัญและหนักหนาเกินจริง และก็ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาและปกป้องประชาชนทุกคนตามกฎหมาย ซึ่งมีนัยสำคัญ เนื่องจากชาวโรฮิงญาไม่ได้มีสถานะพลเมือง จึงไม่อาจรวมอยู่ในกลุ่มคนที่นางซูจีสัญญาว่าจะปกป้อง "ตามกฎหมาย" ได้

เราไม่ควรเน้นปัญหาให้ดูสำคัญเกินจริง แต่ฉันไม่ได้จะบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ฉันจะแก้ปัญหาและปกป้องประชาชนทุกคนตามกฎหมาย

อองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ย่างกุ้ง (พฤศจิกายน 2015)

หลังจากชนะเลือกตั้ง นางซูจีก็เริ่มแสดงออกชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเธอจะไม่แตะต้องปัญหาการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญา แม้ว่าเธอจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยะไข่ โดยมีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน แต่นางซูจีก็กลับแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องนี้ โดยกล่าวในระหว่างการเยือนเมียนมาของนายจอห์น แครี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าเมียนมาต้องการพื้นที่ในการจัดการเรื่องนี้ และไม่อยากให้มีการใช้คำพูดสะเทือนอารมณ์มากเกินไป เพราะจะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้น

เมียนมาต้องการพื้นที่ในการจัดการเรื่องโรฮิงญา ยิ่งใช้คำพูดสะเทือนอารมณ์กันมากๆ สถานการณ์ยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

อองซาน ซูจี ��ุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา กล่าวระหว่างการเยือนเมียนมาของรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ (พฤษภาคม 2016)

ล่าสุด ในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการบริหารประเทศ นางซูจีได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าวของ BBC และเมื่อเธอถูกถามถึงเรื่องโรฮิงญาอีกครั้ง นางซูจีก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยเธอยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่จริง แต่การใช้คำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไป ปัญหาการใช้ความรุนแรงในรัฐยะไข่ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่มาจากชาวมุสลิมที่ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมด้วยกันเอง ถ้าพวกเขาเชื่อว่าทำไปเพื่อให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ

จะบอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้ คนมุสลิมเองก็ฆ่ากันเองด้วย หากพวกเขาคิดว่าทำไปตามนโยบายรัฐบาล

อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC (เมษายน 2017)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ซูจีชี้ ไม่มีฆาล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

- ทำไมซูจีปิดปากเงียบเรื่องโรฮิงญา

- ซูจีแนะรัฐบาลเมียนมาจัดการเรื่องโรฮิงญาให้ดี

- ซาอุดีฯชี้เมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

-

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog