แค่วันแรกดีเดย์การคุมเข้มมาตรการกวดขันจราจร ทำเสียงสะท้อนไปทั่วประเทศกับประเด็นที่ใหญ่ที่สุดการนั่งแคปรถกระบะ และกระบะหลังรถ
ดีเดย์วันแรก 5 เมษายน ดูเหมือนมาตรการเข้มงวดกวดขันจราร จะทำให้ประชาชนร้อนไปทุกพื้นที่ ทั้งการจับกุมผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่สวมหมวกกันน็อค สำหรับรถจักรยานยนต์ เน้นจับปรับกรณีขับเร็ว และไม่มีใบอนุญาตขับขี่
แต่สิ่งที่กลายเป็นข้อถกเถียงมากที่สุดกลับกลายเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับรถกระบะ ซึ่งการจับปรับรถกระบะที่บรรทุกคนโดยสารในแคป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ได้จับปรับในข้อหาไม่รัดเข็มขัดนิรภัยแต่ปรับในข้อหา ใช้รถยนต์ผิดประเภท ซึ่งถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 มาตรา 21 ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท นอกจากนี้กรณีที่ให้ผู้โดยสารนั่งข้างหลังกระบะก็ถือว่าผิดเช่นกัน
รวมไปถึงคนที่เคยซ้อนท้ายรถกระบะก็ไม่สามารถทำได้แล้ว สำหรับผู้ที่มีรถกระบะถ้าต้องการบรรทุกผู้โดยสารต้องนำรถไปต่อเติมหลังคาและติดตั้งที่นั่ง 2 แถว และนำรถไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกเป็นรถโดยสารสาธารณะ 7 ที่นั่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ที่นั่ง จึงถือว่าไม่ผิดกฎหมาย สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ปกติ แต่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพราะรถกระบะ 4 ประตู จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง ที่ผ่านมาประชาชนใช้รถผิดประเภทมาโดยตลอด ส่วนถ้าหากเป็นรถที่จดทะเบียนก่อนปี 2537 ที่นั่งด้านหลังคนขับหรือแคปของรถปิคอัพยังสามารถนั่งได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถกระบะก็ไม่เคยสื่อสารว่ามันไม่สามารถขนคนได้ และการบังคับใช้ครั้งนี้จะส่งผลต่อยอดรถกระบะที่ส่วนมากอยู่ในต่างจังหวัดแน่นอน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งเหล่านี้กฎหมายมีรองรับอยู่แล้ว การใช้ประกาศคำสั่งม.44 จึงเป็นการทำให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มข้นขึ้น แต่ดูเหมือนกระแสความไม่พอใจกรณีรถกระบะ จะจุดติดกว่าประเด็นแท็กซี่ๆคือปัญหาคนกรุง อูเบอร์คือเรื่องของคนกรุง แต่รถกระบะนี่คือเสียงของคนต่างจังหวัด เสียงคนชั้นกลางระดับล่างที่ถูกหมางเมินมาโดยตลอด
ไม่แปลกใจที่จะมีคนชั้นกลางระดับบน หรือคนรวยระดับบ้านมีรั้วขับซิตี้คาร์ จะหนุนนโยบายนี้เพราะเขาไม่เคยรู้ว่ารถกระบะคือปัจจัยทุนที่สำคัญสำหรับคนต่างจังหวัด ใช้ขนของและขนคน ต้องดูว่ารัฐบาลจะแข็งขืนได้กี่วัน หรือ ก็แค่ยักไหล่ไม่สนใจแบบที่แล้วๆมา ผมได้ดูคลิปที่พ่อคนหนึ่งเอากล่องลังขนมให้ลูกมานั่งเพื่อพลางตัวเพราะต้องทนให้ลูกนั่งรถกระบะแต่ก็กลัวโดนจับ เพราะไม่มีเงินพอที่จะซื้อรถยนต์ ถึงแม้จะเป็นคลิปที่ต้องการสะท้อนสังคมด้วยอารมณ์ขัน แต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้า
คุณลองคิดภาพครอบครัวขยายต่างจังหวัดที่มีพ่อแม่และลูก 2 คนอาศัยกับครอบครัวที่มีตายาย ทำงานกึ่งเกษตรและราชการ ที่ไม่มีเงินพอไปถอยซิตี้คาร์ หรือถนนแถวบ้านยังเป็นลูกรัง รถกระบะคือขาที่จะนำพาคนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่มีขนส่งสาธารณะไปยังที่ต่างๆ คือปัจจัยเดียวที่เชื่อมระหว่างบ้านกับสถานที่ต่างๆ ไม่มีอูเบอร์ ไม่มีแท็กซี่ มีแต่ปิกอัพพอกระเทิน
ได้อ่านบทสัมภาษณ์ อธิบดีกรมขนส่งทางบก สนิท พรมวงษ์ ที่กล่าวว่าถ้าหากไม่สามารถนั่งกระบได้ก็ให้ไปเช่าเหมาะรถตู้ไปยังที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนตามมาด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น พนักงานวอยซ์ทีวีคนหนึ่งไม่สามารถกลับบ้านต่างจังหวัดได้เพราะครอบครัวมีพ่อแม่ลูก หากจะจองตั๋วทั้งรถทัวร์หรือเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับทั้งครอบครัว อาจสูงถึงครึ่งหมื่นบาท
หรือถ้าจะเพิ่มรอบเพิ่มรายได้ให้ระบบขนส่ง แบที่นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. กล่าวว่า มาตรการห้ามประชาชนนั่งท้ายรถกระบะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ยอดจองตั๋วรถโดยสารสาธารณะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 หรือประมาณ 180,000 คนต่อวัน ในช่วงวันที่ 10-12 เมษายนี้ จากเดิมอยู่ที่ 120,000 คนต่อวัน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าบริษัทจะไม่ทำรอบลากรอบคนขับรถ เพื่อทำกำไร และมีความปลอดภัยให้กับคนเดินทาง
การดำเนินการเพื่อความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องสำคัญ แต่การบังคับใช้กฎหมายควรอยู่บนความเข้าใจพื้นฐาน และความเห็นอกเห็นใจประชาชน ไม่ใช่การสั่งการแบบที่ไม่ใช่คนจนคุณจะไม่มีวันเข้าใจปัญหา ฝากคิดและทบทวนอีกครั้งหนึ่งเถอะครับ