รัฐบาลโตเกียวยื่นข้อเสนอ ท้าเกาหลีใต้ร่วมนำเหตุเกาะพิพาทขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พร้อมกับตอบโต้ท่าทีของผู้นำโซล ด้วยการระงับการเยือน และทบทวนข้อตกลงทำสว็อปเงินตราต่างประเทศ
ข่าวแจ้งว่า นับเป็นครั้งแรกในช่วงเวลา 5 ทศวรรษ ที่รัฐบาลโตเกียวได้ร้องขอให้โซลนำกรณีพิพาทกรรมสิทธิ์เหนือเกาะทาเคชิมะ หรือที่เกาหลีใต้เรียกว่า ด็อกโด เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลโลก และถือเป็นการเสนอเช่นนี้ครั้งแรกนับแต่ประเทศทั้งสองได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ได้ตกต่ำลงหลังจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ลี มยองบัก ได้ไปเยือนเกาะซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลโซลในทะเลญี่ปุ่น หรือทะเลตะวันออก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ กรณีที่ลีได้กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สมเด็จพระจักรพรรดิ อาคิฮิโตะ ต้องกล่าวขอโทษที่ได้รุกรานเกาหลีในอดีตหากต้องการไปเยือนเกาหลีใต้ ก็ได้สร้างความขุ่นเคืองแก่ญี่ปุ่นเช่นกัน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โอซามุ ฟูจิมูระ แถลงว่า ญี่ปุ่นจะเสนอให้นำข้อพิพาทเรื่องเกาะทาเคชิมะขึ้นสู่ศาลโลก เพื่อแก้ไขข้อพิพาทนี้โดยสงบ สันติ และยุติธรรม
"ถ้าเกาหลีใต้เชื่อว่า ข้ออ้างของตนมีความชอบธรรม เราหวังอย่างแรงกล้าว่า โซลจะยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลของเรา" เขากล่าว
ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศ โคอิจิโร เกมบะ ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำญี่ปุ่น ชิน คักซู ระหว่างพบหารือกันที่กรุงโตเกียว
อย่างไรก็ดี นักสังเกตการณ์บอกว่า เป็นเรื่องยากที่กรณีนี้จะไปถึงศาลโลกได้ เพราะจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากคู่พิพาททั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งจะต้องยื่นฟ้องอีกฝ่าย
ที่กรุงโซล เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งในรัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ในทันที "เราจะไม่ยอมนำสิ่งที่เป็นของเราอยู่แล้วไปให้ศาลระหว่างประเทศชี้ขาด"
เกาหลีใต้เคยบอกปัดข้อเสนอดังกล่าวของญี่ปุ่นมาแล้วเมื่อปี 2497 และปี 2505 ประเทศทั้งสองได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 2508
ในวันศุกร์ ญี่ปุ่นยังได้แสดงการประท้วงต่อการเยือนเกาะพิพาทของลีเพิ่มเติมด้วย รัฐมนตรีคลัง จุน อาซูมิ ประกาศว่า ตนได้ยกเลิกกำหนดการเยือนเกาหลีใต้แล้ว และจะทบทวนข้อตกลงเรื่องการทำสว็อปเงินตราต่างประเทศด้วย
ตามข้อตกลงดังกล่าว ประเทศทั้งสองสามารถแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ, เงินวอนของเกาหลีใต้ หรือเงินเยนของญี่ปุ่น ระหว่างกันได้ เป็นมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันวิกฤตการณ์ทางการเงิน