การได้สถานะลี้ภัยของนายจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ กลายเป็นคดีประวัติศาตร์ที่เป็นที่จับตามองไปทั่วโลก เมื่อเขาอาจเป็นเหตุให้เกิดรอยร้าวทางการทูตครั้งสำคัญระหว่างอังกฤษและเอกวาดอร์ ลองย้อนไปดูกันว่าคดีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีประเทศใดบ้างอยู่เบื้องหลัง
ชื่อของนายจูเลียน อัสซานจ์ แฮกเกอร์ชาวออสเตรเลียวัย 41 ปี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2553 ในฐานะผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ซึ่งเป็นแหล่งเปิดเผยเอกสารและข้อมูลลับของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเกือบทั้งหมดได้มาโดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างการเจาะข้อมูลคอมพิวเตอร์
ข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ล้วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของแต่ละประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่เพียงไม่นาน นายอัสซานจ์ก็ถูกออกหมายจับโดยรัฐบาลสวีเดน ในข้อหาข่มขืนและทำร้ายร่างกาย ซึ่งนายอัสซานจ์ปฏิเสธอย่างหนักแน่น และนักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็เชื่อว่าการฟ้องร้องดังกล่าวเป็นคดีการเมือง และผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้อย่างแท้จริงก็คือรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อาจดำเนินการเป็นการภายในให้สวีเดนส่งตัวนายอัสซานจ์ให้ในภายหลัง เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่าตั้งใจตามล่านายอัสซานจ์ในฐานะผู้เปิดเผยข้อมูลลับของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นายอัสซานจ์ ซึ่งในขณะนั้นพำนักอยู่ในอังกฤษ ถูกศาลอังกฤษพิพากษาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ทางการสวีเดน และให้เวลาเขาในการเตรียมตัว 2 สัปดาห์ก่อนถูกส่งไปดำเนินคดียังสวีเดน ทำให้ในที่สุด นายอัสซานจ์ตัดสินใจเข้าไปขอลี้ภัยในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นายอัสซานจ์มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านรัฐบาลโลกเสรีนิยมตะวันตก ทำให้ทั้งสองฝ่ายเรียกได้ว่ามีศัตรูร่วมกัน โดยก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของเอกวาดอร์ก็เคยเสนอให้ที่พำนักแก่นายอัสซานจ์ ขณะที่นายราฟาเอล กอเรอา ประธานาธิบดีเอกวาดอร์เอง ก็เคยกล่าวชื่นชมเว็บไซต์วิกิลีกส์อย่างเปิดเผยหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่นายอัสซานจ์อยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์นานถึง 6 สัปดาห์ รัฐบาลเอกวาดอร์ก็ยังคงไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่นายอัสซานจ์หรือไม่ ถึงแม้นายกอเรอาจะกล่าวอย่างชัดเจนว่า การที่นายอัสซานจ์อาจได้รับโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายสหรัฐฯ เป็นสาเหตุเพียงพอที่เอกวาดอร์จะอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่เขาแล้วก็ตาม
หลายฝ่ายคาดว่าการที่เอกวาดอร์ยังไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะนายกอเรอายังไม่มั่นจว่า การออกหน้าช่วยนายอัสซานจ์ เพื่อแลกกับคะแนนนิยมในประเทศ และภาพลักษณ์วีรบุรุษของตนเอง จะคุ้มค่าหรือไม่กับการสร้างความบาดหมางทางการทูตกับอังกฤษ และอาจรวมถึงสหรัฐฯ เนื่องจากอังกฤษแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยินยอมให้นายอัสซานจ์หลุดพ้นจากกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไปได้
แต่ในที่สุดสถานการณ์ก็มาถึงจุดแตกหัก เมื่อในที่สุด ทางการเอกวาดอร์ก็ประกาศอนุมัติสถานะลี้ภัยให้แก่นายอัสซานจ์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ทางการอังกฤษเองก็ประกาศว่าพร้อมจะจับกุมตัวนายอัสซานจ์ทันทีที่มีโอกาส แม้ว่าเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายอังกฤษ ถือว่านายอัสซานจ์ฝ่าฝืนเงื่อนไขการให้ประกันตัวในระหว่างกระบวนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่าอังกฤษเองก็ยังไม่เข้าตาจนพอที่จะใช้วิธีรุนแรงอย่างการบุกเข้าจับกุมนายอัสซานจ์ในสถานทูต ซึ่งจะเท่ากับเป็นการสร้างรอยร้าวครั้งใหญ่กับเอกวาดอร์เช่นกัน ในขณะนี้สิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป ก็คือเอกวาดอร์จะดำเนินการส่งตัวนายอัสซานจ์ออกนอกอังกฤษโดยวิธีใด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดล้อมสถานทูตอยู่ตลอดเวลา
ความเป็นไปได้มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้นายอัสซานจ์เดินทางโดยพาหนะทางการทูต ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ตรวจค้น แต่ก็อาจเกิดปัญหาเมื่อเขาต้องเข้าสู่สนามบินและผ่านด่านตรวจ จึงมีความเป็นไปได้อีกประการ คือนายอัสซานจ์อาจจะต้องอยู่ในสถานทูตต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าทางการเอกวาดอร์จะหาทางอื่นๆ เช่นการให้ตำแหน่งทางการทูตแก่นายอัสซานจ์ เพื่อให้เขาได้เอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูต และเดินทางออกจากอังกฤษได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย