เที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวง ชมมณฑปปราสาท วิหาร เจดีย์ แบบฉบับล้านนา ประเดิมตอนแรกด้วยสถาปัตยกรรมบันไดนาคและประตูโขง
วัดพระธาตุลำปางหลวงมีตำนานความเป็นมาเก่าแก่ ย้อนเวลาไปถึงสมัยพุทธกาลและสมัยนครหริภุญชัย ประวัติของพระอารามสำคัญแห่งนี้ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารในยุคพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังรายครองดินแดนล้านนา อันมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง ในพุทธศตวรรษที่ 20
ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวงมีศิลปกรรมมากมาย ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสความงามของงานช่างศิลป์ล้านนาตั้งแต่บันไดนาค ประตูโขง ไปเลยทีเดียว
บันไดนาค
ภาพถ่ายเก่า บันไดนาคมีการสร้างเพิ่มเติมจากของเดิม เสริมความยาว และก่อรูปสิงห์ 2 ตัวที่หน้าบันไดในสมัยเจ้ากาวิละครองเมืองเชียงใหม่
บันไดนาคเป็นทางเดินขึ้นสู่วัด ซึ่งตั้งอยู่บนเนิน ส่วนประกอบสำคัญ คือ ปูนปั้นรูปมกรคายนาคที่สองข้างเชิงบันได ปูนปั้นรูปสิงห์คู่ ปูนปั้นรูปนาคห้าเศียรที่ตอนกลางของบันได
เชิงบันไดทำเป็นรูปมกรคายนาค ทางซ้ายและขวามีรูปสิงห์ยืนข้างละตัว มีกำแพงเตี้ยล้อมเป็นแนวสามด้าน
มกรคายนาค มกรเป็นสัตว์ในนิทาน มีส่วนหัวคล้ายจระเข้ ขาคล้ายสิงโต หางคล้ายปลา
นาคห้าเศียร เศียรกลางมีขนาดใหญ่กว่าเศียรอื่นๆ เศียรนาคประดับลายกระหนกพรรณพฤกษา กรอบเส้นลวดสอดไส้ลายไข่ปลา
เศียรนาคคู่บน
สิงห์ภายในรั้วกำแพง เชิงบันไดนาค
สิงห์ประดับลายปูนปั้นที่ส่วนหัว คอ อก และโคนขา
ประตูโขง
ประตูโขงเป็นช่องทางผ่านเข้าสู่เขตพุทธาวาส สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2036
ซุ้มประตูเป็นทรงยอดมณฑป ก่ออิฐถือปูน ประดับลายปูนปั้น วิหารคดที่ล้อมรอบเขตพุทธาวาสสร้างต่อแนวกับประตูโขง
ส่วนยอดของประตู มีหลังคาซ้อนชั้น รวม 6 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มลอย ลวดลายประดับ และรูปสัตว์ในเทพนิทาน
ตัวอาคารทำย่อมุมสิบสอง ปูนปั้นประดับอันควรชมปรากฏอยู่ที่เสารับซุ้มและผนังอาคาร ซุ้มโค้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก ซุ้มจระนำทางทิศเหนือและทิศใต้
ภาพลายเส้นแสดงรูปทรงและปูนปั้นประดับประตูโขง
ซุ้มโค้งด้านทางเข้า (ทิศตะวันออก) และซุ้มโค้งด้านวิหารหลวง (ทิศตะวันตก) มีลวดลายปูนปั้นอันงามวิจิตร แต่ละด้านมีซุ้มสองชั้น
ซุ้มโค้งชั้นล่าง มีกรอบวงโค้งหยัก ปลายยอดแหลม ภายในวงโค้งประดับลายพรรณพฤกษาประเภทลายเครือ เหนือกรอบซุ้มมีหงส์เกาะตลอดแนว
ปลายกรอบซุ้มทำเป็นรูปกินนรและกินรีฟ้อน ปลายหางกินนรและกินนรีม้วนเป็นลายกระหนก
ซุ้มโค้งชั้นซ้อน วงโค้งของซุ้มหยักคล้ายลำตัวนาค ยอดซุ้มทำเป็นหางนาคเกี้ยว เหนือกรอบซุ้มประดับด้วยใบระกา ปลายกรอบซุ้มทำเป็นรูปมกรคายนาค
ซุ้มจระนำทางทิศเหนือและทิศใต้ วงโค้งหยักเป็นลำตัวของตัวลวง สัตว์หิมพานต์ในคติล้านนา รูปร่างคล้ายมังกรกับนาครวมกัน ยอดซุ้มเป็นหางลวงเกี้ยว เหนือกรอบซุ้มประดับใบระกา ปลายกรอบซุ้มเป็นเศียรตัวลวง
บนแผงใต้วงโค้งของซุ้มประตูโขงด้านทิศตะวันออก ทำเป็นลายธรรมจักรเหนือดอกบัว ห้อมล้อมด้วยลายพรรณพฤกษา มีหงส์กางปีกอยู่ทางซ้ายและขวาของธรรมจักร
บนแผงด้านทิศตะวันตก ตรงกลางเป็นลายธรรมจักร ประดับฉัตรโดยรอบ ห้อมล้อมด้วยลายพรรณพฤกษา หงส์และนกบิน
ทางซ้ายและขวาของธรรมจักร มีพระอาทิตย์ แสดงด้วยสัญลักษณ์นกยูง กับพระจันทร์ แสดงด้วยสัญลักษณ์กระต่าย
ส่วนยอดมี 6 ชั้น แต่ละชั้นประดับตัวลวงที่มุมหลังคาลาด เสาบัวฐานสี่เหลี่ยม ซุ้มลอยขนาดเล็ก ปลายยอดสุดเป็นทรงบัวเหลี่ยม ประดับลายรูปกลีบบัว
ส่วนยอดของประตูโขง มองจากด้านทิศใต้
ผนังอาคารประตูโขง ประดับลายกาบ
ลายกาบประดิษฐ์ด้วยปูนปั้นคล้ายฉลุโปร่ง
ลายกาบบน (ขวาบน) ลายกาบล่าง (ขวาล่าง) และประจำยามอก (ซ้าย) เป็นลวดลายพรรณพฤกษาแบบล้านนา
ในตอนหน้า ขอเชิญชม โขงพระเจ้า.
แหล่งข้อมูล
พรรณนิภา ปิณฑวณิช. (2546). การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. (2559). พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ
สันติ เล็กสุขุม. (2557). งานช่าง คำช่างโบราณ. กรุงเทพฯ : มติชน
อุมาพร เสริฐพรรณึก. (2540). การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลป
ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง
ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (4) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (5) วัดสุวรรณดาราราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (6) วัดเสนาสนาราม อยุธยา
ไทยทัศนา : (7) วัดจันทบุรี สระบุรี
ไทยทัศนา : (8) วัดสมุหประดิษฐาราม สระบุรี
ไทยทัศนา : (9) วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (10) วัดบางขุนเทียนใน ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (11) วัดซางตาครู้ส ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (12) วัดบางขุนเทียนนอก ฝั่งธนบุรี
ไทยทัศนา : (13) วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม
ไทยทัศนา : (14) วัดนิเวศธรรมประวัติ อยุธยา
ไทยทัศนา : (15) สัตตมหาสถาน กรุงเทพฯ เพชรบุรี
ไทยทัศนา : (16) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ไทยทัศนา : (17) วัดตองปุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (18) มหาธาตุ ลพบุรี
ไทยทัศนา : (19) จิตรกรรม วัดพุทไธสวรรย์ อยุธยา
ไทยทัศนา : (20) พระปรางค์มหาธาตุ ราชบุรี
ไทยทัศนา : (21) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ