ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยจากตัวแทนรัฐบาลไทย สหประชาติก็ได้รายงานผลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยแสดงความเป็นห่วงว่าไทยกำลังอยู่ในวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น ตั้งแต่การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงการค้ามนุษย์

หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยจากตัวแทนรัฐบาลไทย สหประชาติก็ได้รายงานผลประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยแสดงความเป็นห่วงว่าไทยกำลังอยู่ในวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น ตั้งแต่การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ไปจนถึงการค้ามนุษย์

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC ออกรายงานผลการพิจารณาสถานการณ์สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของไทย หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงและคำอธิบายสถานการณ์ด้านสิทมนุษยชนจากตัวแทนของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 13 - 14 มีนาคมที่ผ่านมา ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยการประเมินดังกล่าวมีขึ้นทุก 4 ปี เพื่อตรวจสอบว่าไทยปฏิบัติตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ได้ให้สัตยาบันไว้มากน้อยเพียงใด

กระบวนการประเมินประกอบด้วยการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจากตัวแทนรัฐบาลไทย แล้วผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมการ UNHRC จึงจะแถลงข้อสังเกต ข้อกังวล และให้คำแนะนำในประเด็นที่เห็นว่าไทยยังบกพร่อง และพร้อมกันนี้ ก็จะมีการแถลงรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในไทยจากองค์กรด้านสิทธิทั้งในไทยและต่างประเทศอีก 14 องค์กร เพื่อเทียบเคียงกับข้อมูลของทางการไทยด้วย

 

โดย UNHRC ได้แสดงความกังวลและมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยหลักๆดังต่อไปนี้

การใช้มาตรา 44

UNHCR กังวลเกี่ยวกับมาตรา 44 และ 279 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จของ คสช. ให้อำนาจทหารเข้าไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ตรวจค้นประชาชนได้โดยไม่มีความผิดทางอาญา ซึ่ง UNHCR มองว่ากฎดังกล่าวเป็นกฎที่ล้าหลัง และเปิดช่องให้มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเรือน โดยที่คสช.ไม่ต้องรับผิดในภายหลัง 

กสม.ไม่มีคุณภาพ

UNHRC ยังได้แสดงความเสียใจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย หรือ กสม. ถูกลดสถานะจากเกรดเอ มาเป็นเกรดบี เนื่องจากคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานและคัดเลือกคณะกรรมการของกสม. ซึ่ง UNHRC แนะนำว่า กสม.ควรจะดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและอิสระภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา

แม้ไทยจะบังคับใช้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ แต่ UNHCR ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 17 ของกฎหมายฉบับนี้ยังอนุญาตให้มีการกีดกันทางเพศบนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาและความมั่นคงของรัฐ และยังแสดงความกังวลต่อการกีดกันและการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTI กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มคนไร้สัญชาติ

นอกจากนี้ไทยยังมีปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งนับว่ามีอัตราสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ไม่นับรวมการทำร้ายร่างกายผู้หญิงหลายกรณีที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งมักไม่มีการแจ้งความเพราะถูกมองว่าเป็นปัญหาภายในครอบครัว 

โทษประหาร

UNHRC ยังแสดงความกังวลต่อการใช้โทษประหารของไทยในคดีที่ไม่ใช่ความผิดอาญาร้ายแรง อย่างการทุจริต ติดสินบน หรือยาเสพติด และมองว่าไทยมีการตัดสินโทษประหารในแต่ละปีค่อนข้างมาก จึงขอให้รัฐบาลตรวจสอบระบบยุติธรรมและการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโทษประหารจะถูกใช้กับคดีที่มีความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเท่านั้น และในอนาคตขอให้ไทยพิจารณาการยกเลิกใช้โทษประหารอย่างจริงจัง 

การซ้อมทรมานและอุ้มหาย

UNHRC เรียกร้องให้ไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายทันที รวมทั้งจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ เพื่อรับประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เช่น สิทธิที่จะเข้าถึงการคุ้มครองและทนายความ สิทธิที่จะไม่ถูกคุมตัวแบบลับๆตามอำเภอใจ ได้รับการเยี่ยมจากสมาชิกในครอบครัว รวมทั้ง เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมโดยพลการทั้งหมดในทันที พร้อมชดเชยค่าเสียหาย และรีบปรับปรุงประเทศให้มีความน่าเชื่อถือว่าประชาชนจะไม่เป็นอันตรายจากความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ 

การค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์ก็เป็นประเด็นที่ UNHRC แสดงความกังวล เนื่องจากไทยมีการใช้แรงงานผิดกฎหมายอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประมง การเกษตร หรือในภาคครัวเรือน และยังมีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมายด้วย ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีระบบคัดกรองบุคคลเหล่านี้ ก่อนดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป รวมทั้งดูแลปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม

มาตรา 112 และศาลทหาร

UNHRC ยังเรียกร้องการละเว้นไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การอ้างภัยต่อความมั่นคง การหมิ่นประมาททางอาญาและกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็นต่อนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และนักกิจกรรมการเมือง รวมทั้งดูแลให้กระบวนการพิจารณาคดีมีความโปร่งใสและเป็นกลาง และให้โอนคดีพลเรือนทุกคดีจากศาลทหารไปดำเนินการในศาลพลเรือน

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบันว่าด้วยกฎระหว่างประเทศเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลไทยตกลงที่จะออกมาตรการและกฎหมายในประเทศของตนให้สอดคล้องกับภาระและหน้าที่ของตนตามสนธิสัญญา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงขอให้ไทยได้ปฏิบัติตามสัตยาบันที่ได้ให้ไว้ และร่วมมือปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน กับภาคประชาสังคมและองค์กรด้านสิทธิต่างๆ เพื่อให้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในการประเมินอีกครั้งที่จะมีขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

UN ท้วงสถานการณ์สิทธิ์ไทย หลายครั้งไม่มีคำตอบจากรัฐ

UN ถาม ไทยตอบ ในเวที ICCPR

UN ชำแหละปัญหารัฐไทยละเมิดสิทธิปชช.

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog