"ของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม" สโลแกนของ "อุทยานจุฬาฯ 100 ปี" สวนสาธารณะแห่งใหม่ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเนรมิตขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้ทันโอกาสฉลอง 100 ปี การสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ทว่า "อุทยานจุฬาร้อยปี" ไม่เพียงเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ หากยังแฝงไปด้วยความคาดหวังต่อสังคมในศตวรรตใหม่ ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง การเผชิญหน้ากับสภาวะโลกร้อนอย่างท้าทาย การยอมรับความหลากหลายของผู้คน...และการเรียนรู้สังคมประชาธิปไตย จุฬาฯอาสาเป็นต้นแบบ?
อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ในบรรยากาศยามเย็น แวดล้อมด้วยอาคารสูงใจกลางเมือง
ความร้อนของแสงแดดเดือนมีนาฯ ค่อยๆบรรเทาความรุนแรง ไปพร้อมกับดวงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้าทาสีเหลืองอมม่วง และยิ่งมองได้กลมโตถนัดตา จากพื้นที่โล่งกว้างแห่งใหม่ขนาดเกือบ 30 ไร่ ในย่านสวนหลวง-สามย่าน “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี”
ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบเปิดเผยว่า อุทยานจุฬาฯร้อยปี คืบหน้าแล้ว 70 %
พื้นที่สีเขียวระดับย่านแห่งใหม่ ค่อยๆกลายเป็นความจริงทุกวินาที หลังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งการก่อสร้างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เพื่อให้ทันโอกาสฉลอง 100 ปี การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์มิ่งขวัญชาวจุฬาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันดังกล่าว เวลา 10.00 น.
"จามจุรีทรงปลูก" สมเด็จพระเทพฯ ทรงปลูกประเดิมการก่อสร้างไว้ เมื่อปี 2559 ไว้ 6 ต้น
เจ้าหน้าที่เร่งการก่อสร้างข้ามวันข้ามคืน ในช่วงก่อนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
ไม้ยืนต้นนานาชนิด ส่วนใหญ่อายุราว 3-4 ปี ทยอยลงปลูกในพื้นที่จริง
"ป่าในเมือง" คือแนวคิดหลักของการออกแบบอุทยานจุฬาฯ 100 ปี คำว่า "ป่า" ในบริบทนี้ กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ศิษย์เก่าจุฬาฯ เจ้าของแบบการประกวดชนะเลิศ ให้ความหมายว่า ป่าคือพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ป่าให้ระบบนิเวศที่ดี สามารถอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยตัวมันเอง และเป็นพื้นที่ซึมซับน้ำให้กับเมือง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความคาดหวังของสังคมเมื่อได้ยินคำว่า ป่าในเมือง สวนทางกับภาพไม้ยืนต้นอายุน้อย ซึ่งทยอยปลูกในพื้นที่จริงของอุทยานจุฬาฯ 100 ปี ซึ่งแทบไม่ให้ร่มเงา
“สวนตอนเปิดไม่สวยงามเหมือนตึก มันต้องรอการเจริญงอกงาม”
กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกศิษย์เก่าจุฬาฯ ดีดรี ป.โท จากฮาร์วาร์ด
เจ้าของแนวคิดป่าในเมือง บอกว่า ถ้าต้องการไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จำเป็นต้องขุดจากในป่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ แต่ถ้าดูแลประคบประหงมไม้ยืนที่เหมือนมาจากป่า ตั้งแต่อายุน้อยๆ อดทนให้พวกมันเจริญเติบโต เราจะดูแลได้เป็นร้อยปี เป็นวิธีที่ยั่งยืน พืชที่ปลูกประกอบด้วย ต้นพยูง ต้นชิงชัน ต้นคะนาง ต้นเสม็ดขาว ต้นเสม็ดแดง และต้นจามจุรี ต้นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บ่อน้ำ หรือ แก้มลิงถาวรภายในโครงการอุทยานจุฬาฯ 100 ปี
"ความยั่งยืน" เป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งจากปากกชกร ขณะเธอพาเดินชมความคืบหน้าของอุทยานจุฬาฯ 100 ปี นอกจากประโยชน์ใช้สอยทั่วไปของสวนสาธารณะ ทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาคมจุฬาฯและชุมชนโดยรอบ อุทยานจุฬาฯร้อยปียังทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะสมัยใหม่ ที่สามารถบำบัดน้ำเสียจากอาคารโดยรอบ และรองรับน้ำฝนในบ่อแก้มลิง
แม้ภายในอุทยานจุฬาฯร้อยปี ไม่มีไบค์เลน แต่ผู้ใช้งานสามารถปั่นจักรยานได้ที่แก้มลิง
แก้มลิงภายในอุทยานจุฬาฯ 100 ปี แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ แก้มลิงถาวรที่สามารถรับน้ำฝนได้โดยตรง พร้อมติดตั้ง "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ที่ผู้ใช้งานสามารถมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยการปั่นจักรยานเพิ่มออกซิเจนให้แหล่งน้ำ ส่วนแก้มลิงอีกประเภทเรียกว่า แก้มลิงซับน้ำ แลนด์มาร์กของโครงการฯ ด้วยหลังคาเอียงขนาดใหญ่กลมกลืนกับสวนโดยคลุมหลังคาด้วยหญ้า นับเป็นหลังคาสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
อาคารอเนกประสงค์เป็นแลนด์มาร์ก และซุ้มประตูทางเข้าโครงการจาก ถ.บรรทัดทอง
อาคารอเนกประสงค์ถูกออกแบบให้สอดรับกับภูมิทัศน์โครงการ ด้วยการปูหญ้าเต็มพื้นที่
หลังคามีลักษณะเอียงขัดแย้งกับกายภาพของกรุงเทพฯที่เป็นพื้นราบ
การปูหลังคาเขียว หรือ Green Roof สอดคล้องกับเทรนด์การพัฒนาเมืองของโลก โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก ที่มีกฎหมายบังคับใช้จริงจังให้เจ้าของอาคารในเมือง ปลูกต้นไม้บนดาดฟ้าอาคาร เพื่อสร้างพื้นที่ซึมซับน้ำฝน และชะลอน้ำฝนก่อนไหลลงสู่ระบบระบายน้ำ เช่นเดียวกับหลังคาเขียวของแลนด์มาร์กประจำโครงการอุทยาน 100 ปี ที่มีวัตถุประสงค์ตรงกัน หากความพิเศษคือ น้ำที่ชะลอและกักเก็บได้จากหลังคาเอียง จะไหลลงสู่ทางน้ำไปยังบ่อตรงกลาง สามารถสูบขึ้นมาแล้วปล่อย ช่วยเพิ่มออกซิเจน นอกจากนี้ น้ำยังสามารถนำไปรดน้ำต้นไม้ได้อีกด้วย
พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์ภายในโครงการ ให้ความรู้สึกสดชื่น ชวนนั่งเล่น
"จุฬาฯจะเป็นเสาหลักของแผ่นดินในอีกร้อยปีข้างหน้าได้อย่างไร" เป็นคำตอบของกชกร เมื่อถามถึงหัวใจของการออกแบบอุทยานจุฬาฯร้อยปี แน่นอนว่ามันคืออุทยานที่เกิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยิ่งไปกว่านั้นเธอชวนคิดว่า จุฬาฯจะทำอะไรได้อีกในอีกร้อยปีข้างหน้า เช่น เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน จุดประกายสังคมให้ตระหนักภัยธรรมชาติ หรือเป็นห้องเรียนประชาธิปไตย
ต้นกกถูกปลูกไว้โดยรอบแก้มลิงถาวร ไกลๆมองเห็นทิวสนประดิพัทธ์ในรั้วจุฬาฯ
กชกร บอกว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่สีเขียวน้อยมากและแทบไม่มีพื้นที่สาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ส่งผลให้คนในสังคมไม่ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ขาดโอกาสเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมสังคมประชาธิปไตย
“การเพิ่มพื้นที่สาธารณะ ทำให้คนเข้ามาใช้เยอะขึ้น ถ้าคนใช้เยอะขึ้น เราจะได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับคนที่แตกต่างอย่างสันติ ทั้งคนจน คนรวย คนหลากหลายอาชีพ เป็นการเพิ่มห้องเรียนประชาธิปไตยที่ดีมาก สอนการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เป็นมิตร”
“การยอมรับความหลากหลายเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ชอบมากเลยเวลาไปสวนสาธารณะ แล้วเจอนักศึกษานั่งข้างพนักงานออฟฟิศ เจอคนรำไทเก๊กร่วมกับคนเต้นแอโรบิก ภาพเหล่านี้สื่อถึงการอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน โดยเคารพซึ่งกันและกัน จำเป็นมาก”
ระเบียงด้านตะวันออกศูนย์การค้า I'm Park มองเห็นมุมสูงของอุทยานจุฬาฯร้อยปี
ส่วนระเบียงด้านตะวันตกมองเห็นการปะทะกันระหว่างชุมชนสวนหลวงเดิมกับสวนแห่งใหม่
อาทิตย์อัสดงเมื่อมองจาก อุทยานจุฬาฯร้อยปี ระหว่างจุฬาฯ ซอย 5 และ 7
รายงานโดย ชยากรณ์ กำโชค