ยูเอ็นเผยดัชนีการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2016 โดยไทยอยู่อันดับที่ 87 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศระดับการพัฒนามนุษย์สูง ส่วนเบรกซิต คือ ตัวอย่างของแนวคิดชาตินิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เปิดเผยดัชนีการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2016 โดยประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ อันดับ 1 นอร์เวย์ / อันดับ 2 ออสเตรเลียและสวิตเซอร์แลนด์ / อันดับ 4 เยอรมนี และอันดับ 5 เดนมาร์กและสิงคโปร์
ส่วนประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 5 อันดับสุดท้าย ได้แก่ บุรุนดี, บูร์กินา ฟาโซ, ชาด, ไนจีเรีย และอันดับสุดท้ายสาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ขณะที่ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศระดับการพัฒนามนุษย์สูง โดยอยู่ในอันดับที่ 87 ส่วนมาเลเซียอยู่อันดับที่ 59
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ UNDP ระบุว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนามนุษย์ คือ การเมืองเชิงอัตลักษณ์ (identity politics) และการขาดความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเบรกซิต คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนของชาตินิยมที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์
นอกจากนี้ UNDP ยังรายงานว่า แม้ภาพรวมดัชนีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์จะก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงระหว่างปี 1990-2015 ดังจะเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกที่ลดลงเป็นอย่างมาก และผู้คนอีกหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน แต่รายงานของ UNDP กลับเผยว่า ผู้หญิง ชนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายล้านคนกลับถูกกีดกันจากการพัฒนา
UNDP ยังระบุอีกว่า ในทุกๆ ปี มีเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 15 ล้านคนที่ถูกบังคับให้แต่งงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ มีเจ้าสาวเด็กรายใหม่เกิดขึ้นทุกๆ 2 วินาที โดยภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นภูมิภาคที่ช่องว่างระหว่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิงและผู้ชายห่างกันมากที่สุด โดยผู้หญิงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 20
นอกจากนี้ ประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกกีดกันจากการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ ได้แก่ กลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ, ประชากรในเขตชนบท, กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดย UNDP เปิดเผยว่า ขณะนี้ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกมีสภาพเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานของดัชนีการพัฒนามนุษย์
อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกลับมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เช่น บังกลาเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ถึง 6 เดือน ขณะที่สหรัฐฯ ยังไม่รับรองสิทธิในการลาคลอดของผู้หญิง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวันดา กลับมีสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงมากที่สุดในโลก อยู่ที่ร้อยละ 65