พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แจ้งรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งหมด 4 ครั้งเมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีทรัพย์สินจากปี 2551 จนถึงปี 2557 รวมกว่า 87 ล้านบาท หรือมีทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นกว่า 30 ล้านบาท
พลันที่มีการระบุถึงชื่อของนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจเข้าข่ายหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่ง สตง. ได้ทำเรื่องแจ้งให้กรมสรรพากรตรวจสอบข้อมูลภาษี กรณีที่พ้นจากตำแหน่งและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
ชื่อของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาโฟกัสทันที เพราะเขาเป็น 1 ในคณะรัฐมนตรียุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพลเอกประวิตรยังเปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสรรพากร ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของพลเอกประวิตร เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งแจ้งว่ามีทรัพย์สินอื่นเป็นเช็คจำนวน 1 ล้านบาท ดังนั้น ควรมีการตรวจสอบเช็คดังกล่าวว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องมีการเสียภาษีหรือไม่
"หากรัฐบาลเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปด้วยวิธีใด ก็ต้องเรียกเก็บภาษีต่อกรณีของ พลเอกประวิตร ด้วยในรูปแบบเดียวกัน”นายเรืองไกร ระบุ
จากการตรวจสอบของ "วอยซ์ทีวี" ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินย้อนหลังของ พลเอกประวิตร ที่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 พบว่ามี ทรัพย์สิน 56,856,005.95 บาท และไม่มีหนี้สิน
และที่เป็นประเด็นให้ถูกตรวจสอบอยู่ที่ "ทรัพย์สินอื่น" คือ เช็คธนาคาร กสิกรไทย สาขาสำนักพหลโยธิน สั่งจ่ายพลเอกประวิตร จำนวน 1 หน่วย มูลค่า 1 ล้านบาท ซึ่งนายเรืองไกร ตั้งข้อสงสัยว่าจำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้หรือไม่
ขณะที่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของพลเอกประวิตรในขณะนั้นที่แจ้งต่อ "ป.ป.ช." เป็นเงินฝากในสถาบันการเงินต่างๆ เป็นเงินกว่า 25 ล้านบาท มีเงินลงทุนเป็นเงินกว่า 8.5 ล้านบาท และมีโฉนดที่ดิน มูลค่า 12 ล้านบาท
นี่คือปฐมบท จำนวนทรัพย์สินของการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพลเอกประวิตรที่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก
ครั้งที่ 2 การแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พลเอกประวิตร เมื่อครั้งพ้นจากตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ในช่วงดำรงตำแหน่งอยู่เกือบ 3 ปี ได้แจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 69,669,416.60 บาท หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปี ปี 2551 เป็นเงินจำนวน 12,813,410.65 บาท
ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินฝากในสถาบันการเงินกว่า 36 ล้านบาท เงินลงทุนกว่า 11 ล้านบาท รวมทั้งโฉนดที่ดิน 12 ล้านบาท และโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง 10 ล้านบาท
ครั้งที่ 3 พลเอกประวิตร แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่ง ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 โดยมีทรัพย์สินเป็นเงินทั้งสิ้น 79,063,414.84 บาท
แต่หากเทียบในเวลา 1 ปีหลังพ้นตำแหน่ง พลเอกประวิตร มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จำนวน 9,393,998.24 บาท
และถ้าเทียบจากปี 2551 จะมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจำนวน 22,207,408.89 บาท
ครั้งที่ 4 พลเอกประวิตร ตอบรับการเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 87,373,757.62 บาท ไม่มีหนี้สิน ทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินฝากกว่า 53 ล้านบาท เงินลงทุนกว่า 7 ล้านบาท ที่ดิน 17 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 10 ล้านบาท ยานพาหนะ 1 แสนบาท
ครั้งนี้ พลเอกประวิตร หวนกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองรอบ 2 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปี 2555 เป็นเงินทั้งสิ้น 8,310,342.78 บาท
แต่ถ้าเทียบทรัพย์สินเมื่อปี 2551 ที่เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกจนถึงปี 2557 พบว่า พลเอกประวิตร มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 30,517,751.67 บาท
ล่าสุด พลเอกประวิตร ชี้แจงถึงการตรวจสอบของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยที่ขอให้กรมสรรพากรให้ตรวจสอบการเสียภาษีของเช็คจำนวน 1 ล้านบาท ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนเช็ค 1 ล้านบาทเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 พร้อมย้ำว่าไม่ได้รับเงินจากใคร และไม่เคยคิดจะฟ้องร้องใคร ทุกอย่างต้องการให้มีการตรวจสอบ ยืนยันไม่เคยทำผิดกฎหมาย
ขณะที่ก่อนหน้านั้น พลเอกประวิตร ก็ชี้แจงด้วยว่า "ไม่เคยมีเงินเป็นเช็คเงินสด มีแต่เงินเก่าแก่ที่ฝากอยู่ในบัญชีมานานแล้ว แต่หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าตัวเองไม่ผิด ก็จะให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท"