ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือในพื้นที่พิพาทหมู่เกาะทาเคชิมะมีที่มาที่ไปอย่างไร และเหตุใดผู้นำเกาหลีใต้จึงเลือกเดินทางไปเยือนเกาะทาเคชิมะในเวลาเช่นนี้
ในขณะที่อุณหภูมิอันร้อนแรงของความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อนบริเวณทะเลจีนใต้ระหว่างจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติในอาเซียน ยังคงคุกกรุ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรณีพิพาทเกาะเซนกากุ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ที่เป็นประเด็นร้อนจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจแห่งเอเชียอยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างมาก กรณีพิพาทอันเรื้อรังระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เหนือหมู่เกาะทาเคชิมะ ไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลกนัก
จนกระทั่งนายลีมยองบัก ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เดินทางเยือนพื้นที่พิพาทดังกล่าวอย่างกะทันหัน ทำให้เกาะทาเคชิมะกลายเป็นศูนย์กลางของประเด็นพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนแรงที่สุดขึ้นมาทันที
หมู่เกาะด็อกโด หรือทาเคชิมะ เป็นเกาะเล็กๆ กลางทะเลตะวันออกหรือทะเลญี่ปุ่น ที่มีประชากรเพียง 2 คน ในพื้นที่ 112 ไร่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาและชะง่อนผาสูงชันและหาดแคบๆ แต่เกาะเล็กๆที่ดูไม่มีความสลักสำคัญใดๆแห่งนี้ กลับเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สองมหาอำนาจแห่งภูมิภาค ซึ่งมีพื้นฐานมาจากประวัติศาสตร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นบุกยึดและปกครองเกาหลีในฐานะอาณานิคมอยู่นานถึง 35 ปี ก่อนที่จะต้องปลดปล่อยเกาหลีเป็นอิสระหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลเกาหลีในขณะนั้นรวมเอาหมู่เกาะทาเคชิมะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองในการประกาศเอกราช ก็ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นทักท้วงว่า เกาะทาเคชิมะไม่ได้อยู่ในส่วนที่เป็นอิสระจากญี่ปุ่น และกล่าวหาว่าการผนวกรวมหมู่เกาะดังกล่าวเข้าเป็นดินแดนของเกาหลีถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
การอ้างสิทธิ์ในหมู่เกาะแห่งนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนานหลายสิบปี โดยเกาหลีใต้ส่งทหารไปประจำการบนเกาะตั้งแต่เมื่อปี 2497 ขณะที่ญี่ปุ่นก็มักจัดการซ้อมรบในพื้ที่ใกล้เคียงกับบริเวณดังกล่าวอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่
สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์นักชาตินิยมชาวญี่ปุ่น ขับรถพุ่งชนประตูสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นหนังสือประท้วงมายังเกาหลีใต้
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ก็ได้เรียกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจในกรณีที่เอกสารนโยบายป้องกันประเทศของญี่ปุ่นระบุว่าหมู่เกาะทาเคชิมะเป็นของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองตรงกันว่า สถานการณ์ระหว่างสองประเทศ ยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะทำให้นนายลีมยองบัก ตัดสินใจทิ้งไพ่ตายด้วยการเดินทางเยือนพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวนี้ด้วยตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวที่สุดเท่าที่เกาหลีใต้จะทำได้ เพื่อยืนยันถึงอธิปไตยของประเทศเหนือหมู่เกาะดังกล่าว
นักวิเคาะห์มองว่า การที่นายลีมยองบักเลือกที่จะเดินทางไปยังเกาะทาเคชิมะในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นเวลาเพียง 5 วัน ก่อนวันครบรอบความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สองของญี่ปุ่น และถือเป็นการสิ้นสุดการยึดครองเกาหลีใต้ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการนำประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมาใช้ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายใน
รัฐบาลของนายลีมยองบัก กำลังเผชิญกระแสความนิยมตกต่ำอย่างหนักจากประชาชนในประเทศ ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีก็กำลังจะมาถึงในเดือนธันวาคมนี้ หนทางที่ดีที่สุดในการเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมาภายในระยะเวลาอันสั้น ก็คือการปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศ ซึ่งมีจุดร่วมสำคัญคือความเกลียดชังญี่ปุ่นอันเป็นผลมาจากความทรงจำในยุคอาณานิคม
การที่นายลีมยองบักเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกที่เดินทางเยือนเกาะทาเคชิมะ นับว่าจะทำให้เขามีภาษีดีขึ้นทันที ในฐานะผู้นำประเทศที่ยืนหยัดต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อรักษาอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของประเทศ แต่เมื่อมองในภาพรวมของการเมืองระดับโลก ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังมีเรื่องที่จำเป็ฯต้องร่วมมือกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
การแข่งขันกันระหว่างจีนและสหรัฐฯในการแผ่อิทธิพลเหนือเอเชีย หรือความตึงเครียดทางทหารในช่องแคบไต้หวันที่คุกรุ่นอยู่เสมอ การเดินหมากแบบหวังผลระยะสั้นของผู้นำเกาหลีใต้ในครั้งนี้ คงนับว่าไม่ใช่การตัดสินใจที่ฉลาดนัก