Big Story ชุด "มิชลิน สตาร์ : อีกขั้นอาหารไทยระดับโลก" ตอนที่ 4
อาหารไทยติดอันดับการโหวตจากคนทั่วโลกหลายครั้ง เพราะมีวัตถุดิบชั้นเลิศ รสชาติอาหารที่หลากหลายถึง 7 รส ขณะที่ฝีมือเชฟก็ได้รับการยอมรับ
หอยนางรมทรงเครื่อง น่ากินมากขึ้น ด้วยโฟมมะกรูด กระเทียมเจียว และยอดกระถินสด เช่นเดียวกับเมนูคุ้นปาก คนไทยอย่างกุ้งแช่น้ำปลา ที่อร่อยมากขึ้นโดยฝีมือระดับมาสเตอร์เชฟ จากร้านโอชา
ไม่ต่างจากเมนูอาหารไทย "ปลากระพงผัดฉ่า" จากฝีมือของ "เชฟ��สาวกิจ ปรีเปรม" อุปนายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทยคนแรก
"เชฟเสาวกิจ ปรีเปรม" เป็นเชฟมากว่า 42 ปี จนปัจจุบันอยู่ในนระดับ Executive Chef เขาบอกว่าเคล็ดลับการทำให้อาหารอร่อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำหรับเขาให้น้ำหนักกับการเลือกซื้อวัตถุดิบสำคัญที่สุด
ดังนั้นในเมนูต้มยำกุ้ง ที่ใครก็ทำได้ ความอร่อยจึงอยู่ที่การเลือกกุ้งที่ต้องใช้กุ้งแม่น้ำ จากนั้นนำมาปรุงรสในชาม
เอกลักษณ์ของอาหารไทยคือความซับซ้อน เพราะมี 7 รสชาติได้ในจานเดียว ได้แก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ขม และซ่า ซึ่งละเอียดกว่าอาหารต่างชาติซึ่งมีเพียง 3 รส นั่นคือ เปรี้ยว หวาน และเค็ม เชฟเสาวกิจ จึงมั่นใจว่า หากมิชลิน ไกด์บุ๊คเข้ามาทดสอบความอร่อย อาหารไทยต้องได้อย่างน้อย 1 ดาวแน่นอน
สอดคล้องกับเชฟ ปูริดา ที่บอกว่า อาหารไทย ถือเป็นการบ้านที่หนักหนาของทีมมิชลิน ไกด์บุ๊ค
ตามมาตรฐานสากลเชฟมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุด คือ Chef De Cuisine ดูภาพรวมของเมนูอาหาร และกำหนดทิศทางของเมนูอาหาร ไปจนถึง Pastry Chef ซึ่งมีหน้าที่วางแผนคอนเซปต์อาหาร และทดลองสูตรขนมใหม่ๆ ส่วนระดับเริ่มต้นของเชฟ คือ Cook Helper
ระดับความเชี่ยวชาญของ เชฟ อาจไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าร้านอาหารนั้น ๆ จะได้มิชลินสตาร์เสมอไป แต่หากทำให้ร้านอาหารนั้นๆ ได้รับการติดดาว เขาจะมีนามสกุลแฝงติดตัวไปด้วยว่า เคยสร้างสรรค์ผลงานขั้นเข้าขั้นมิชลินสตาร์
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับเชฟ คือการทำอาหารแล้ว คนรับประทานชื่นชอบ กินจนหมดจาน อาจถือเป็นที่สุดของการเป็นเชฟได้ในทุกวัน