หลังจากรัฐบาลทุ่มสรรพกำลังในการไล่เก็บภาษีหุ้นชินฯ ถึงขนาดรองนายกฯวิษณุบอกว่าเราจะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เราไปย้อนดูเคสเปรียบเทียบดีล ดีแทค-เทเลนอร์ ต่างกันอย่างไรทำไมถึงไม่บี้?
กลายเป็นมาตรฐานใหม่เมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายว่า กรมสรรพากรพร้อมดำเนินการเรียกเก็บภาษี ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กฯ ด้วยวิธีประเมินภาษีใหม่ ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ก่อนส่งคำประเมินดังกล่าวไปยังดร.ทักษิณ จากนั้นจะถือว่าอายุความที่จะครบ 10 ปี หยุดลงทันที แล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี ซึ่งเป็นกระบวนการปกติในคดีทางแพ่ง
รองนายกฯวิษณุ ถึงกับยอมรับว่าเรื่องนี้กรมสรรพกรไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องใช้กระบวนการทางศาล เพื่อจะได้เป็นมาตรฐานต่อไป ถ้าอย่างนั้นลองไปดูเคสเปรียบเทียบว่าถ้าหากเคสนี้มีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เคสดีล "เทเลนอร์-ดีแทค" ว่าต่างกันอย่างไร? แล้วเพราะเหตุใดถึงไล่เก็บแต่หุ้นชินฯ
จาก TAC สู่ DTAC อาณาจักรของ "เสี่ยบุญชัย"
ประวัติศาสตร์ของแทคต้องย้อนกลับไปปี 2532หลังจากได้รับสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงความถี่ 800 และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จาก กสท. ปลายปี 2539 ได้มีการต่อสัญญากับกสท.ไปถึงปี 2561 อยู่ในมือกลุ่มยูคอม ของ บุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจใหญ่ด้านโทรคมนาคม
การรีแบนดิ้งจาก แทค สู่ดีแทค เกิดขึ้นในต้นทศวรรษ 2540 หลังจากประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งกลุ่มยูคอมได้ทยอยขายหุ้นบางส่วนให้กลับกลุ่มเทเลนอร์ ยักษ์ใหญ่สื่อสารจากประเทศนอร์เวย์ ก่อนที่จะขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กลุ่มเทเลนอร์ในปี 2548 ซึ่งจะลงรายละเอียดในส่วนต่อไป
ดีแทค ประสบปัญหาในข้อครหาการเป็นบริษัทต่างชาติถือหุ้นในกิจการคมนาคม และได้มีการปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นอีกครั้งโดยกลุ่มบริษัท บีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด ของตระกูลเบญจรงคกุลเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มกลับมาเป็นร้อยละ 51 เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ที่จะร่วมเข้าประมูลโครงข่าย 3G ในขณะนั้นได้ ปัจจุบันเมื่อมีการประมูล 4G ดีแทคเป็นค่ายโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถประมูลใบอนุญาต 4G ได้เลยสักใบ ซึ่งต้องจับตาว่าหลังจากหมดสัญญาสัมปทานกับ กสท.ในปี 2561 การดำเนินกิจการของดีแทคจะเป็นอย่างไรต่อไป?
ดีล "เทเลนอร์-ดีแทค" กับ "เครือชินฯ-เทมาเส็ก"ไม่ต่างกันเลย
สองดีลนี้เกิดในเวลาไล่เลี่ยกันคือดีลดีแทคเกิดในช่วงปี 2548 และดีลของเครือชินฯเกิดในปี 2549 ในกรณีขอดีแทคนั้น กลุ่มยูคอมอันประกอบไปด้วย บุญชัย-วิชัย เบญจรงคกุล และ วรรณา จิรกิติ ขายหุ้นยูคอม ทั้งหมด 173.33 ล้านหุ้น 39.88% มูลค่ากว่า 9.2 พันล้านบาท ให้บริษัท ไทยเทลโค โฮลดิ้งส์ ในเครือ เทเลนอร์ จากนอร์เวย์ ราคาหุ้นละ 53 บาท ส่งผลให้กลุ่มเทเลนอร์สามารถซื้อหุ้นกลุ่มยูคอมทั้งหมด 88.88% และ บุญชัย กับ ประทีป ได้ลาออกจากซีอีโอ-เอ็มดีใหญ่ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2548 และดีลดังกล่าวทำผ่านตลาดหุ้นและไม่มีการชำระภาษีแต่อย่างใด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ“กำไรจากการขายหรือโอนหุ้น” หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Capital Gain” ซึ่งถ้าหากเรา ไปดูจากประมวลรัษฎากรแล้ว จะพบว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการ”ยกเว้น”รัษฎากร ได้ระบุไว้ในข้อ (23) ว่า
“(23) เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้บังคับดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลและพันธบัตรของรัฐบาลที่เริ่มจำหน่ายก่อน 8 พฤศจิกายน 2534)”
ซึ่งหากแปลง่ายๆก็คือ กำไรจากการลงทุนในหุ้น “ไม่ต้องเสียภาษี” คราวนี้ลองมาดูกับเคสการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กจากประเทศสิงคโปร์กันบ้าง บริษัทเทมาเส็กโฮลดิงส์ เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ในกิจการต่างๆ ไม่ใช่แค่เพียงกรณีหุ้นชินคอร์ปเท่านั้น
ย้อนไปเมื่อ 23 มกราคม2549 กลุ่มเทมาเส็กโฮลดิงส์ ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากครอบครัวชินวัตรจำนวน 1,487 ล้านหุ้น คิดเป็น 49.595% ที่ราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมมูลค่า 7.32 หมื่นล้านบาท ซึ่งการซื้อขายเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยดีลดังกล่าวมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ทำดีล ซึ่งเป็นการซื้อขายเช่นเดียวกับกรณี "ดีแทค-เทเลนอร์" ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษีอ้างอิงตามประมวลรัษฎากรที่ได้ยกมาข้างต้น หรือจะพูดให้ชัดเจนทั้งสองกรณีไม่มีความแตกต่างกันเลย แล้วเหตุใดถึงเรียกเก็บในกรณีของหุ้นชินคอรป์เพียงกรณีเดียว
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายอดีตนายกรัฐมนตรีได้ออกมากล่าวในวันที่ 15 มีนาคม ยืนยันว่าการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กลุ่มเทมาเส็ก ได้ขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตามกฎหมายต้องได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 23 ที่ออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และนอกจากเงินได้จาก การขายหุ้นในตลาดจะได้รับยกเว้นภาษีแล้ว เงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาทถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว
ซึ่งกรณีการยึดทรัพย์ดังกล่าวอันเกิดจาก คตส.ที่ตั้งขึ้นหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คปค. (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น คมช.)ชงเรื่องไว้ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ยึดทรัพย์ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีร่ำรวยผิดปกติอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งคำตัดสินดังกล่าวมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือทั้งกรณีดีลหุ้น "ชินคอร์ป-เทมาเส็ก" และ ดีลหุ้น "ดีแทค-เทเลนอร์" นั้นเกิดขึ้นในสมัยที่ นาย วิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลไทยรักไทยด้วย ไม่แน่ใจว่ารองนายกฯวิษณุ ลืมหรือไม่เข้าใจในกรณีดังกล่าวอย่างไรบ้าง?
หรือเข้าใจทางกฎหมายดีแต่พยายามจะใช้กลไกต่างๆของรัฐบาล คสช. ที่มาจากรัฐประหารในการไล่เก็บภาษีกรณีหุ้นชินคอร์ปเพียงกรณีเดียวทั้งที่มีการยึดทรัพย์ไปแล้วรอบหนึ่งด้วย จึงเป็นคำถามที่ควรให้คำตอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกกรณีอย่างเท่าเทียม ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรีที่ร่วมสมัยกับสองดีลประวัติศาสตร์นี้