มารดาน้องเกด ที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ขึ้นเบิกความต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาสาเหตุการเสียชีวตของลูกสาว โดยเธอย้ำว่า กมนเกด เป็นอาสาพยาบาล ไม่ใช่ผู้ชุมนุม นปช.
มารดาน้องเกด ที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ ขึ้นเบิกความต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใช้เป็นข้อมูลในการค้นหาสาเหตุการเสียชีวตของลูกสาว โดยเธอย้ำว่า กมนเกด เป็นอาสาพยาบาล ไม่ใช่ผู้ชุมนุม นปช.
ศาลอาญากรุงเทพใต้ ไต่สวนคดีชันสูตรพลิกศพ เพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชน 6ราย ในวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ประกอบด้วยนายสุวัน ศรีรักษา , นายอัฐชัย ชุมจันทร์ , นายรพ สุขสถิตย์ , นายมงคล เข็มทอง , นายอัครเดช ขันแก้ว และนางสาวกมนเกด อัคฮาด
นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาวกมนเกด อายุ 47ปี อาชีพค้าขาย เบิกความต่อศาลว่า นางสาวกมนเกด จบการศึกษาจากโรงเรียนศึกษาบริบาล จากนั้นเข้าทำงานที่โรงพยาบาลกรุณาพิทักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล
ในวันเกิดเหตุนางสาวกมนเกด อยู่ภายในวัดปทุมวนาราม เพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุม นปช.ที่บาดเจ็บ โดยนางพะเยาว์ ทราบข่าวการเสียชีวิตจากการโทรศัพท์ ไปสอบถามผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่คืนนั้นไม่สามารถเดินทางไปรับศพที่วัดได้ เพราะรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว
ต่อมาในวันที่ 21พฤษภาคม 2553 หลังเกิดเหตุ 2วัน นางพะเยาว์จึงไปรับศพนางสาวกมนกเกดที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง จำนวน 2นัด แต่อาสาสมัครพยาบาลอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในทีี่เกิดเหตุ บอกว่า นางสาวกมนเกด ถูกยิงหลายนัดตั้งแต่หัวเข่า ลำตัว และศรีษะ ซึ่งเมื่อเปิดศพดูอีกครั้ง ก็พบว่าถูกยิงมากกว่า 2นัดจริง
นางพะเยาว์ เบิกความโดยอ้างข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ว่า ทิศทางของกระสุน มาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมวนาราม ซึ่งบริเวณนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ จึงเดินหน้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กองบัญชาการกองทัพบก และดีเอสไอ เพื่อเร่งรัดนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
ด้านทนายความของญาติผู้เสียชีวิต สอบถามนางพะเยาว์ เกี่ยวกับนิสัยส่วนตัวของนางสาวกมนเกด โดยเธอเบิกความต่อศาลว่า นางสาวกมนเกด เป็นคนที่มีจิตใจดีงาม และชอบช่วยเหลือผู้อื่น สะท้อนได้จากการประกอบอาชีพพยาบาล และเคยรับอาสาลงไปช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์สึนามิในภาคใต้
ส่วนในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 นางสาวกมนเกด จะไปช่วยเหลือผู้ป่วยตามเต้นท์พยาบาลต่างๆ หลังเลิกจากงานประจำ โดยไม่แบ่งแยกว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ จะอยู่ฝ่ายใด ซึ่งเป็นไปตามจรรยาบรรณของวิชาชีพพยาบาล พร้อมยืนยันว่า นางสาวกมนเกด ไม่ใช่ผู้ชุมนุม นปช.
นอกจากนางพะเยาว์แล้ว ในวันนี้ศาลยังนัดไต่สวนพยาน ซึ่งเป็นญาติผู้เสียชีวิตอีก 2ปาก คือภรรยาของนายรพ สุขสถิตย์ และพี่ชายของนายมงคล เข็มทอง ตามกำหนดของคดีนี้ จะไต่สวนเสร็จสิ้นประมาณเดือนกันยายน 2556