ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านไป 6 ปี หลังเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด ทางการญี่ปุ่นเตรียมเปิดให้ประชาชนสามารถย้ายกลับเข้าไปอาศัยได้ในอีก 4 เมือง แต่ก็พบว่า 'หมูป่า' กลายเป็นปัญหาใหม่ของทั้งภาครัฐและประชาชน

ผ่านไป 6 ปี หลังเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะระเบิด ทางการญี่ปุ่นเตรียมเปิดให้ประชาชนสามารถย้ายกลับเข้าไปอาศัยได้ในอีก 4 เมือง แต่ก็พบว่า 'หมูป่า' กลายเป็นปัญหาใหม่ของทั้งภาครัฐและประชาชน

 

ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ย้ายกลับเข้าไปในเมืองก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า ถูกหมูป่าทำร้ายหลังพยายามไล่พวกมันออกจากเขตพักอาศัย เนื่องจากอัตราการขยายพันธุ์ที่รวดเร็ว ทำให้หลายพื้นที่กลายเป็นชุมชนหมูป่าขนาดใหญ่ โดยพวกมันเข้ายึดทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูก บางครั้งก็ทำร้ายมนุษย์ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือการที่พวกมันมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในตัว ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากกับวัฒนธรรมอาหารของคนญี่ปุ่นที่ชอบกินหมูป่า

ทางการญี่ปุ่นพยายามกวาดล้างหมูป่าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเจ้าหน้าที่เมืองโทมิโอกะได้ฆ่าหมูป่าที่ปนเปื้อนไปกว่า 800 ตัว แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกจำนวนมาก ขณะที่ผู้ว่าเมืองโซมะ ได้ติดตั้งเตาเผาขนาดใหญ่เพื่อกำจัดซากหมูป่าและกรองสารซีเซียม-134 ออก แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดหมูป่าปนเปื้อนได้ทั้งหมด ด้านเมืองนิฮงมัตสึ ได้ขุดหลุมขนาดใหญ่เพื่อฝังซากหมูป่ากว่า 1,800 ตัว ล่าสุดเผยว่า ไม่มีที่ดินมากพอสำหรับการฝังซากหมูป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปี 2014 มีหมูป่าถูกล่าไปแล้วกว่า 13,000 ตัว

อ้างอิงจากผลสำรวจโดยรัฐบาล พบว่าหมูป่าในเขตโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มีอัตราการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูงกว่าระดับปกติถึง 300 เท่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังเปิดเผยตัวเลขความเสียหายต่อพืชผลจากหมูป่าตั้งแต่ปี 2011 สูงถึง 854,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปราบปรามหมูป่าเหล่านี้

ทางการฟุกุชิมะยังได้ตีพิมพ์หนังสือแนะนำการแก้ปัญหาหมูป่าเบื้องต้นสำหรับชาวเมือง มีเนื้อหาสอนการติดตั้งกับดัก หรือการใช้โดรนเพื่อไล่สัตว์ออกจากพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนวางใจพอที่จะกลับเข้าไปอาศัยในเขตใกล้โรงไฟฟ้า เพราะนอกจากเรื่องหมูป่า ยังมีความกังวลที่ใหญ่กว่าเรื่องสารกัมมันตรังสีตกค้าง ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 40 ปีกว่าที่พื้นที่ฟุกุชิมะจะปลอดสารกัมมันตรังสีอีกครั้ง

ภาพ: Reuters

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog