ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ว่าจะเพศไหนก็ประสบความไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ : ประสบการณ์ 4 ผู้หญิงผ่านคุกในยุค คสช. 

ไม่ว่าจะเพศไหนก็ประสบความไม่เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ : ประสบการณ์ 4 ผู้หญิงผ่านคุกในยุค คสช. 

8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากลของทุกปี เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างเพศ แม้ปัจจุบันนี้การจำแนกจะไม่ได้มีเพียงแค่หญิง-ชาย แต่การจัดการต่างๆ ภายใต้อำนาจรัฐยังคงแบ่งแยกด้วยความเข้มงวดในการควบคุมแตกต่างกัน โดยเฉพาะทัณฑสถานหญิงกลาง ที่คุมขังนักโทษหญิงคดีต่างๆ รวมถึงคดีทางความคิด ด้วยเงื่อนไขกฎระเบียบมากกว่าเรือนจำชาย 

ในโอกาสนี้มาฟังประสบการณ์จำเลยหญิง ผู้ต้องขังหญิง และนักโทษหญิง กับประสบการณ์ผู้หญิงผ่านคุก ในคดีทางความคิด

ความเสมอภาคเท่าเทียมในฐานะมนุษย์

น.ส.กรกนก คำตา หรือ ปั๊บ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยคดีจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นั่งรถไฟจะไปตรวจสอบทุจริตการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเธอถูกดำเนินคดีในศาลทหารและถูกคุมตัวไปทัณฑสถานหญิงกลาง ประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนได้รับการประกันตัวในช่วงค่ำวันเดียวกัน 

เธอเล่าว่า แม้กิจกรรมการขึ้นรถไฟไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์ จะผ่านมานับปี แต่ปัจจุบันนี้เธอยังต้องไปขึ้นศาลทหาร รวมถึงในวันที่ 8 มี.ค. 60 ซึ่งตรงกับ “วันสตรีสากล” กรกนก ต้องไปศาลทหารตามนัดสอบคำให้การในคดีเดิม โดยครั้งนี้จะมีทีมจากสถานทูตต่างๆ ในประเทศไทยไปร่วมสังเกตการณ์ 

นักศึกษาผู้นี้มองว่า ความเป็นผู้หญิงไม่เป็นอุปสรรคต่อการต่อสู้ทางการเมือง เพราะไม่ว่าจะเพศไหนก็อาจรู้สึกถูกคุกคามทางเพศได้หากถูกคุมขังในเรือนจำ เช่น ผู้ชายก็ถูกตรวจทวารหนัก ผู้หญิงถูกตรวจช่องคลอด เพื่อค้นหายาเสพติด ซึ่งหลังจากได้ออกมาพูดเรื่องนี้ผ่านสื่อเมื่อปีที่แล้ว และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเวที ‘ก้าวสู่ปีที่ 6 ข้อกำหนดกรุงเทพฯ: ยังมีผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิ เพียงก้าวแรกที่เดินเข้าแดนแรกรับ’ หลังจากนั้นได้ทราบว่าทางเรือนจำเปลี่ยนแนวปฏิบัติ โดยลดการตรวจภายในลง ซึ่งนักโทษบางรายก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการตรวจพบยาเสพติดในนักโทษอีกครั้ง ทางเรือนจำก็กลับมาตรวจอย่างเข้มงวดเช่นเดิม 

น.ส.ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ หรือ นัท จำเลยหญิงคนเดียวในคดีที่เจ้าหน้าที่บุกจับ “8แอดมิน” หรือ “8พลเมืองเน็ต” ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มองสิทธิผู้ถูกคุมขังว่า ผู้อยู่ในแดนแรกรับ ถือว่ายังไม่มีถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือต่อให้ถูกตัดสินว่ามีความผิดเป็นนักโทษแล้วก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ ผู้คุมต้องรู้หน้าที่ได้รับมอบหมายจากราชทัณฑ์ว่ามารักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่มาละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่คิดแต่ว่าคุกในมีแต่คนเลว และจะทำอะไรก็ได้
 

“ความเป็นประชาชนคนไทย ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความยุติธรรมกับทุกคน เพราะรัฐมีรายได้จากภาษีประชาชนก็ต้องให้เกียรติประชาชนด้วย เราไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่กระบวนการจับกุม กระทั่งเป็นคดี ทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกจับเพราะมีความผิดเกิดขึ้นก่อน แต่ถูกจับก่อน แล้วเจ้าหน้าที่จึงไปหาข้อความมาอ้างว่าเราทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ควรทำแบบนี้”
 

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ อดีตนักโทษคดีอาญามาตรา 112 จากละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า มองว่าความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรค ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะส่วนตัวไม่ได้เรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศมากไปกว่าการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ผ่านมาทำกิจกรรมศึกษาปัญหาแรงงานสหภาพแรงงานย่านรังสิต เคยเล่นละครเนื่องในวันสตรีสากลด้วย นอกจากนั้น ทำงานเกี่ยวกับการเยียวยาเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายในครอบครัวที่ได้รับความสูญเสียจากเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเรียกร้องรัฐให้เคารพความแตกต่างหลากหลายของแต่ละความเชื่อและศาสนาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อไม่ให้เหมารวมว่าทุกคนเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกันเราในฐานะคนนอก ก็ต้องเคารพวัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ที่มีการปฏิบัติแตกต่างระหว่างหญิง-ชาย โดยส่วนตัวไม่ได้ทำงานในกลุ่มเฟมินิสต์หรือ LGBT จึงไม่ได้เผชิญกับข้อถกเถียงเหล่านี้มากนัก 

สำหรับปัญหาความไม่เสมอภาคเท่าเทียมระหว่างเพศ ภรณ์ทิพย์ มองว่า เราไม่สามารถคาดหวังให้ปฏิบัติกับทุกเพศอย่างเท่าเทียมได้ อย่าว่าแต่ปัญหาความแตกต่างระหว่างเพศเลย เพราะแม้แต่ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  ในโรงเรียนยังไม่สอนให้เราเคารพคนอื่นในฐานะคนที่เท่าเทียมกัน  เธออยากให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในความเป็นคนไม่ว่าจะเป็นนักโทษหญิงหรือชาย 

“การปฏิบัติกับนักโทษ อยากให้เคารพในความเป็นมนุษย์ของนักโทษไม่ว่าจะเป็นนักโทษหญิงหรือนักโทษชาย เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ทุกคนก็ยังมีความเป็นคน”  ภรณ์ทิพย์กล่าว
 
 
น.ส.จิตรา คชเดช หรือ หนิง ผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน  มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำคนที่รู้สึกถูกละเมิดในเนื้อตัวร่างกายคงไม่ได้มีแต่ผู้หญิง เพราะเพศที่ 3 หรือผู้ชายก็อาจจะถูกกระทำเช่นกันเพราะผู้ชายอาจถูกล้วงก้น ส่วนเพศที่3 ก็ต้องไปอยู่รวมกับผู้ชาย
 
“ไม่ต้องถึงขนาดตรวจช่องคลอด ปกติถ้าเราไม่ยินยอมแค่โดนจับมือเรายังรู้สึกโกรธเลย แต่นี่โดนถอดเสื้อผ้า แทงปลาไหล หมุนตัว ล้วงช่องคลอด ตอนนอนไม่มีเสื้อในกางเกงในใส่เพราะเขาไม่ให้เอาเสื้อในเกงในจากข้างนอกเข้าไป แล้วต้องนอนร่วมกับคนแปลกหน้า พอออกจากเรือนจำ ต้องบำบัดตัวเองอยู่นาน บางคนบอกว่าถ้าเราอยู่เรือนจำนานกว่านี้อาจจะเจอเหตุการณ์ละเมิดสิทธิที่ช็อคยิ่งกว่าตอนเจอวันแรกอีกเยอะจนสิ่งที่เจอวันแรกๆ กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย” 

 

เปิดประสบการณ์ในเรือนจำหญิง 

 

กรกนก เป็นผู้เปิดประเด็นแสดงความไม่เห็นด้วยต่อ “การตรวจภายใน” ด้วยวิธีที่ใช้อยู่ในเรือนจำคือการล้วงช่องคลอด หลังได้รับการปฏิบัติที่ทำให้รู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากการถูกตรวจค้นอย่างไม่ถูกสุขอนามัยและไม่มีการใช้เครื่องมือด้วยเทคโนโลยีการสแกนที่ทันสมัย

กรกนก กล่าวว่า การจำคุกเป็นกระบวนการจำกัดเสรีภาพ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกลงโทษแล้วจะถูกละเมิดอย่างไรก็ได้ การตรวจภายในไม่ควรใช้กับทุกคดี โดยเฉพาะคดีการเมืองเพราะอาจจะโดนกลั่นแกล้งได้ หรือแม้แต่คดียาเสพติดเองก็ไม่ควรโดน เพราะเป็นการละเมิดคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคนทำผิดด้วย หากจะตรวจสอบก็ควรใช้เครื่องมืออื่น 
เชื่อว่าการทำให้อายเป็นไปเพื่อลดความเป็นมนุษย์ ให้ง่ายต่อการควบคุม เวลารู้สึกว่าตัวเองไม่เหลือศักดิ์ศรี มีค่าต่ำกว่าผู้คุม ก็จะง่ายต่อการถูกควบคุม

“การตรวจค้นยาเสพติดมีเทคโนโลยีที่สามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น ใช้เครื่องสแกนร่างกาย ไม่จำเป็นต้องล่วงล้ำถึงขั้นล้วงช่องคลอดผู้หญิงหรือตรวจทวารหนักผู้ชาย แต่ราชทัณฑ์ ก็ให้เหตุผลว่าไม่มีงบประมาณ ส่วนตัวจึงมองว่ารัฐควรให้งบประมาณมาซื้ออุปกรณ์นี้ ไม่งั้นเกิดการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตลอดเวลา” กรกนกกล่าว

 

ณัฏฐิกา เล่าประสบการณ์ถูกฝากขังในทัณฑสถานหญิงกลางว่า ในเรือนจำมีความแออัดมาก นี่ขนาดเป็นแดนแรกรับซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ถูกตัดสินคดี เวลานอนมีพื้นที่นอนแค่พอดีตัว นอนเป็นแถวๆ หัวชนกันเหยียดขาเกยกันแบบสลับฟันปลา นอน 200 คนต่อ 1 ห้อง พอกลางคืน จะไปเข้าห้องน้ำต้องเดินดีๆ เพราะเขานอน 5 – 6 แถว ใครไม่นอนตะแคงจะถูกบ่นว่าทำไมไม่นอนตะแคง ส่วนคนตัวใหญ่ก็ไม่มีใครอยากให้มานอนข้างๆ เพราะจะมาเบียด ล่าสุดมีการก่อสร้างอาคารใหม่ ไม่ทราบว่าความแออัดจะลดลงหรือไม่ 

ส่วนตัวถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ถูกตรวจภายใน เพราะช่วงนั้น น้องปั๊บ กรกนก คำตา นักศึกษาธรรมศาสตร์ ออกมาพูดผ่านสื่อถึงการตรวจภายในในเรือนจำ ช่วงนั้นเรือนจำจึงยกเลิกการตรวจภายในเพราะมีกระแสความไม่เห็นด้วย แต่กฎระเบียบก็มีโอกาสเอากลับมาอีก เพราะเป็นแนวปฏิบัติตามความเหมาะสม ไม่มีอะไรแน่นอน
  
เรือนจำมองว่ามีความจำเป็นต้องตรวจภายในเพราะคนซ่อนยาเสพติดเข้าไป แต่ความจริงมีนักค้าจำนวนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะซ่อนยาเสพติดได้ นักโทษส่วนใหญ่ 90% โดนคดียาเสพติดและคดีเล็กน้อย ความจริงการลงโทษด้วยการจับเข้าเรือนจำไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะคนที่ออกไปแล้วไม่มีทางเลือกที่จะไปทำงานอื่นก็มีให้เห็น บางคนรู้เส้นทางค้ายามากขึ้นจากการมีเพื่อนฝูงในเรือนจำ 

ความเป็นอยู่ของผู้หญิงในเรือนจำ ด้วยความเป็นเพศที่รักสวยรักงามและมีรายละเอียดเยอะ สินค้าหลายอย่างที่เป็นของใช้ธรรมดาเมื่ออยู่นอกคุก กลับกลายเป็นของหายากและราคาแพงเมื่ออยู่ในคุก เพราะผู้ต้องขังหญิงและนักโทษหญิงไม่สามารถเอาเครื่องประทินโฉมเข้าไปได้และข้างในก็ไม่มีขาย ใครที่แอบเอาเข้าไปได้ก็จะกลายเป็นของราคาแพง แม้แต่ยางรัดผมก็เป็นของแพง บางคนแอบผลิตลิปสติคเองจากวาสลีนและสีผสมอาหาร บางคนแอบเอาอายแชโดว์มาขายยี่ห้อที่อยู่ข้างนอกขายไม่ถึง 100 บาท พออยู่ในคุกราคาสูงถึง 600 บาท ส่วนผ้าอนามัยมีขายยี่ห้อเดียว

ถ้าจะกำจัดวงจรตลาดมืดก็ต้องให้มีตลาดเสรี  ไม่จำเป็นต้องห้ามมีเครื่องประทินโฉมเพราะถูกขังก็เครียดมากพออยู่แล้วไม่ควรตีกรอบนักโทษเพิ่มอีก สิ่งของเหล่านี้ ถ้าถูก “โจม” หรือถูกตรวจค้นก็จะจัดเป็นของผิดระเบียบถูกยึดทิ้ง
 
มองว่ากระจก ลิปสติค ยางรัดผม เป็นของเล็กๆ น้อยๆ น่าจะให้มีขายในร้านค้าเรือนจำ ส่วนตัวปกติแล้วเป็นคนแต่งหน้าแต่งตัว แต่อยู่ในนั้นไม่แต่ง ทาครีมกันแดดอย่างเดียว บางคนบอกให้ทาแป้ง พกแป้งติดตัว เครื่องสำอางขั้นพื้นฐานที่นิยมมากในนั้นคือแป้งฝุ่น 

สำหรับการกินการอยู่ เป็นไปอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ หากจะซื้อข้าวจากร้านค้าในเรือนจำกิน ก็ต้องกินในถุง หรือแชร์กันนำเอาอาหารมาใส่ขันกิน ซึ่งเป็นขันน้ำใบเดียวกับที่ใช้เข้าห้องน้ำอาบน้ำ ไม่ถูกสุขลักษณะ ขันไม่ได้ออกแบบเพื่อการกิน ตอนแรกกินไม่ได้ แต่อยู่ไปก็ต้องกิน ไม่มีทับเปอร์แวร์ขาย ส่วนที่เคยมีขายในอดีตก็ถูกขายต่อๆ กันเป็นของราคาแพง นอกจากนั้น ถุงพลาสติคก็เป็นของมีมูลค่า นักโทษบางคนเก็บถุงที่ผู้คุมทิ้งเป็นขยะ เอามาล้างทำความสะอาดแล้วขาย ทุกคนต้องมีถุงเอาไว้เก็บของ  

แต่ละวันมีการแจกน้ำร้อนสำหรับให้ดื่มกาแฟหรือกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ก็ไม่มีภาชนะใส่น้ำร้อน หลายคนใช้กระป๋องโก๋แก่ซึ่งเป็นพลาสติก มาใส่น้ำร้อน เนื่องจากร้านค้าในเรือนจำมีโก๋แก่เป็นกระป๋องขาย นักโทษซื้อของได้เท่าที่มีในร้านค้าของเรือนจำไม่สามารถให้ญาติส่งของเข้าไปได้ ญาติจะซื้อของข้างนอกฝากไปไม่ได้ รวมถึงหนังสือก็เข้าไม่ได้ แต่ทราบว่าเรือนจำชายฝากหนังสือเข้าไปได้

คนที่มีเงินส่วนใหญ่จะเป็นนักโทษยาเสพติด นักค้ายามีเงินซื้อโน่นซื้อนี่ได้ รวมถึงจ้างคนอื่นทำเวรทำความสะอาดได้ ส่วนคนที่ไม่มีเงิน ไม่มีญาติมาเยี่ยมก็จะรับจ้างทำเวร รับจ้างนวด แลกกับสิ่งของที่อยากได้ คนที่มีเงินมีญาติมาเยี่ยมจะมีโอกาสดีกว่าคนอื่น 

เราเข้าเรือนจำตอนแรกๆ ก็ของหาย ถ้าเราซักชุดชั้นในแล้วไปตากทับที่คนที่อยู่เดิม เขาจะเอาของเราไปทิ้ง เพราะที่ตากผ้าก็ไม่พอ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ของหาย ก็ต้องจ้างซัก คนที่รับจ้างก็คือนักโทษที่อยู่มานาน เป็นผู้ช่วยผู้คุม บางคนรับจ้างซักผ้าปูที่นอนปลอกหมอน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ในการตากเยอะเขารู้ว่าต้องตากตรงไหนจึงจะไม่หาย  

ความเป็นอยู่ต้องเอาตัวรอด สำหรับคนที่มีเงินก็ต้องจ้างทุกอย่าง ส่วนคนที่ไม่มีเงินก็ต้องรับจ้างทุกอย่างเช่นกัน บางคนอยู่ไปนานๆ ญาติก็จะหายไป เขาต้องรู้ตัวว่าอยู่ให้เป็น รับจ้างทำให้ได้

ส่วนการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักโทษหญิง(น.ญ.) หรือ ผู้ต้องขังหญิง(น.ข.) ทุกคนเข้าไปแบบงงๆ ไม่รู้สิทธิตัวเอง ไม่รู้ว่ามีสิทธิเรียกร้องอะไร ระบบในเรือนจำจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีสิทธิอะไรเลย บางครั้งผู้คุมพูดไม่ดี เราถามนักโทษว่าทำไมไม่มีใครร้องเรียน เขาบอกว่าญาติไม่มีความรู้พอที่จะร้องเรียน และตัวนักโทษเองก็กลัวว่าสุดท้ายจะลำบากขึ้นถ้ามีเรื่อง โดยเฉพาะบางคนเป็นผู้ช่วยงานผู้คุมแล้ว มีสิทธิพิเศษแล้ว เขากลัวถูกเด้ง ถูกปลดได้ เขาจึงกลัวมาก จึงพยายามอยู่แบบไม่มีปัญหา
 
เวลาโดนต่อว่าเขายังยอมรับทั้งที่ไม่ผิดเลย เขาบอกถ้าไม่ยอมรับ โดนเล่นงานแน่ ผู้คุมแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนก็ดี บางคนก็ร้ายไม่มีเหตุผลราวกับทะเลาะกับสามีมา บางคนเหมือนสวมหน้ากากอยู่ข้างในเป็นคนนี้ พอออกมาข้างนอกก็เป็นอีกคน 

วันแรกๆ เขาไม่ให้ไปนั่งรวมกับคนอื่นเพราะนักโทษการเมืองจะถูกกักไม่ให้ไปคุย ไม่ให้ไปรับรู้เรื่องราวข้างใน ยิ่งเราอยู่ในความสนใจของสื่อ เขายิ่งระวัง ข้างในเรือนจำเหมือนแดนสนธยา บางคนออกมาก็พยายามลืม ไม่พูดถึงเรื่องในนั้นเลย แต่เราพูดเพราะอยากให้มีความเปลี่ยนแปลง ผู้ต้องขังแดนแรกรับยังไม่ถูกตัดสิน แต่สิ่งที่ถูกกระทำก็เป็นการลงโทษไปแล้ว จับเราไปที่แบบนั้น คือการถูกลงโทษแล้ว 
 
การรักษาพยาบาลก็แย่มาก เข้าใจเรื่องงบประมาณน้อย แต่เรือนจำก็ไม่อนุญาตให้ญาติส่งยาข้างนอกเข้าไป ทั้งที่ถ้าอนุญาตให้เอายาข้างนอกเข้าไปได้ รัฐก็ไม่ต้องรับภาระและเป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ บางคน อายุ 60 ปี มีสารพัดโรค มีทั้งความเครียดและยังไม่ได้รับยาที่กินประจำก็ยิ่งแย่ 


ณัฏฐิกา กล่าวถึงวันที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวที่กองปราบรวมกันทั้งหมด 8 คนว่า วันที่ถูกนำตัวไปแถลงข่าว เจ้าหน้าที่บอกว่าจะนำตัวไปกองปราบ ตอนนั้นก็คิดว่าเดี๋ยวคงได้เจอแม่ ไม่คิดว่าจะมีการแถลงข่าว ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะมีสื่อ แต่เมื่อมีสื่อมวลชนมาทำข่าวคดีนี้ซึ่งเป็นคดีการเมืองก็เป็นเรื่องดีเพราะเราจะได้พูดชี้แจงผ่านสื่อและสาธารณะชนจะได้ทราบว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ได้ตอบคำถามสื่อ ได้โต้แย้ง ในสิ่งที่เขาตั้งข้อหาออกมา ดีใจที่ได้มีสื่อมวลชนตั้งคำถาม คิดว่าเป็นโอกาสที่ได้พูดไม่ได้รู้สึกอาย ไม่ได้รู้สึกว่าต้องก้มหน้าในฐานะคนทำผิดเพราะไม่ได้ทำอะไรผิด


ภรณ์ทิพย์ เล่าประสบการณ์การเป็นนักโทษในเรือนจำหญิงว่า ไม่แน่ใจว่าด้วยลักษณะเฉพาะของผู้หญิงด้วยหรือไม่ที่มีการใช้อารมณ์ความรู้สึกเยอะ เมื่อเอาความเป็นผู้หญิงมาปกครองนักโทษก็กลายเป็นกฎเกณฑ์ทางอารมณ์ 

ทราบว่าผู้คุมหญิงในเรือนจำหญิงบางคน แม้จะทำงานเป็นผู้คุม แต่เมื่อกลับบ้าน ก็ต้องรับบทบาทเป็นแม่ เป็นเมีย บางคนถูกสามีซ้อม กลับมาทำงานในเรือนจำก็มีชีวิตแทบไม่ต่างจากนักโทษ ผู้คุมกับนักโทษจึงเหมือนคนที่ติดคุกเหมือนกัน ผู้คุมติดคุกตลอดการรับราชการของเขา หมดเวลาราชการก็ต้องกลับไปติดคุกที่บ้าน อยู่กับความรุนแรงในครอบครัว  ทำให้มีความสวิงทางอารมณ์ มีผลต่อการปกครองนักโทษ 

ภรณ์ทิพย์ ตั้งข้อสังเกตว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดูแลผู้คุมผู้หญิงหรือไม่ ถ้าไม่มีกระบวนการรองรับในการดูแลคนทำงานก็จะมีผลต่อองค์กร ผู้คุมโดนนักโทษร้องเรียนเพราะมีการทำเกินกว่าเหตุ ใช้อารมณ์จัดการปัญหา จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ อย่างผู้คุมผู้หญิงต้องรับบทบาทที่หนักมาก ผู้คุมไม่ได้รับการดูแลสภาพจิตใจในการทำงานมากนัก หากเปรียบเทียบนักโทษที่ออกจากคุกก็ออกมาเลย แต่ผู้คุมก็ยังติดคุกต่อไป 
   

จิตรา เล่าประสบการณ์ในเรือนจำระหว่างรอการปล่อยตัวชั่วคราวว่า หลังจากคสช.ยึดอำนาจแล้วเธอเป็น 1 ในคนที่ถูกเรียกให้มารายงานตัว แต่เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ จึงพยายามไปรายงานตัวที่สถานทูตสวีเดน แต่สถานทูตอ้างบอกไม่มีกรอบการทำงานร่วมกับ คสช. ไม่รับรายงานตัว เมื่อขอพบทูตทหารก็ไม่ยอมให้พบ 

เธอกลายเป็น 1 ใน 10 คนแรกที่ถูกออกหมายจับ จึงทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนก่อนบินกลับประเทศโดยในเนื้อหาระบุว่าจะกลับวันไหน พอเดินทางถึงไทยถูก ตม.กักตัวไม่ให้ผ่านและเจ้าหน้าที่ได้มาคุมตัวในฐานะบุคคลที่รัฐต้องการตัว 

จิตรา เล่าว่า ถูกดำเนินคดีในศาลทหารโดยเป็นคดีแรกที่ถูกคุมตัวจากศาลทหารไปทัณฑสถานหญิงกลาง วันนั้นเป็นช่วงบ่าย 2 ของวันเสาร์ เจ้าหน้าที่บางคนบอกว่า ถ้าได้รับการประกันตัวก็ต้องปล่อยวันจันทร์ แต่ปรากฏว่าวันนั้นได้ปล่อยตัวค่ำวันเดียวกันประมาณ 4 ทุ่ม รวมเวลาถูกคุมตัวประมาณ 8 ชั่วโมง  

การไปเรือนจำครั้งแรกเตรียมการอย่างโลกสวย เตรียมหนังสือ ปากกา จะไปบันทึก จะไปอ่านหนังสือรอ พอไปถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่บอกว่า ของที่เอามาด้วยทั้งหมดฝากเอาไว้และให้ถอดเสื้อผ้าทุกชิ้น นุ่งผ้ากระโจมอกผืนเดียวห้ามสวมชุดชั้นใน หมุนตัวให้ผู้คุมดู ตรวจช่องคลอด สอบประวัติ ใช้ปากกาเคมีเขียนส่วนสูงที่แขนเรา เหมือนหมูกำลังจะถูกฆ่า  

จากนั้นถูกส่งไปสอบประวัติ ซึ่งการให้ข้อมูลในขั้นตอนนี้ต้องจำให้ได้เพราะก่อนออกจากเรือนจำเขาจะถามคำถามเดิม ถ้าตอบไม่ได้จะออกไม่ได้ พอสอบประวัติเสร็จจะต้องมัดผมให้เห็นหู ถ่ายรูป 4 ด้าน ใส่ชุดนักโทษ ไม่ได้ใส่ชุดชั้นใน ถูกแยกแดน ในมือยังกำใบรายการติดตัวว่ามีของอะไรฝากไว้บ้าง เดินเท้าเปล่าไปถึงแดนแรกรับ ผู้คุมเอาเสื้อผ้ามาโยนให้ ไล่ไปอาบน้ำ เราไม่อยากอาบ อาบไป 2 ขัน แล้วเขาเอาข้าวมาให้กิน เป็นแกงเหลืองหน่อไม้ดองไม่รู้ใส่เนื้อสัตว์อะไรเพราะไม่เห็นเนื้อสัตว์
 
พอถูกเรียกชื่อ เราจะลุกขึ้นเดินไปหา ก็มีคนกดไหล่ห้ามยืนต้องคลานไป แต่เราใช้วิธีนั่งแล้วขยับตัวไปไม่คลาน เขาถามถึงคดี ว่าอะไรคือฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 

ทุกคนก็นั่งรอขึ้นเรือนนอน พอขึ้นไปแล้วจะมีหัวหน้านักโทษเป็นหัวหน้าห้อง แต่ละห้องแยกคดีทั่วไปกับคดียาเสพติด เราอยู่กับหัวหน้าห้องคดีทั่วไป พอบอกว่ามาจากศาลทหารเขาก็อึ้ง หลังจากนั้นให้ยืนสวดมนต์ ปฏิญาณตน ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ห้องนั้นมีคน 69 คน มีละครให้ดู มีผ้าสำหรับเป็นอุปกรณ์การนอน 2 ผืน นอนเหยียดขาไม่ได้ชนกันนอนสลับฟันปลา ชุดชั้นในไม่มี แล้วต้องกำใบรับฝากของไว้กลัวหาย

หัวหน้าห้องให้เราไปนอนใกล้เขา ส่วนแรงงานข้ามชาติให้ไปนอนหน้าห้องน้ำ สภาพห้องน้ำก็ไม่ได้มีความเป็นส่วนตัว พอนั่งลงก็ยังเห็นคอเห็นหัว

เราอยู่ในเรือนจำถึงประมาณ 4 ทุ่ม มีเสียงผู้คุมเดินมา ทุกคนพูดกันว่าผู้คุมมา เกิดอะไรขึ้นต้องมีเรื่อง ผู้คุมมาถามว่า “จิตรา คชเดช” อยู่ห้องนี้ไหม เขามาบอกปล่อยตัว แล้วเขาเอาตัวลงมาข้างล่างมาหมุนตัวให้ผู้คุมตรวจอีกรอบ แล้วส่งไปที่กองอำนวยการที่จะปล่อยตัว 

ตอนที่มีคำสั่งจากศาลทหารไปถึงเรือนจำให้ให้ปล่อยตัว คนที่มีอำนาจในเรือนจำกลับบ้านไปแล้ว เขาถูกตามจากบ้านให้กลับมาเรือนจำ พอมาถึงเรือนจำเขาถามลูกน้องว่า คนที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นใคร เขาถามว่ามาจากไหน ทำไมต้องปล่อยกลางดึก ไม่เคยมีมาก่อน 

จิตรา มองว่า ในเรือนจำเหมือนแดนสนธยา แทบไม่มีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราตายในนั้นก็คงไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นอะไรตาย ขนาดเสื้อผ้ายังเอาเข้าไม่ได้ก็ไม่มีความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว เวลาเห็นใครติดคุกแล้วไม่ได้สิทธิประกันก็รู้สึกเศร้ามาก ผ่านมาทุกวันนี้ 3 ปี ถ้าไม่ได้ประกันตัว เราจะมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์อย่างไร เคยเข้าไปเรือนจำรอบที่ 2 ถูกตรวจร่างกายและรอการปล่อยตัวไม่ต้องขึ้นเรือนนอน แต่ชุดชั้นในที่ฝากไว้ก็ถูกตัดฟองน้ำออก ส่วนการฝากของรอบแรก มีจี้เล็กๆ หายไป 

เธอบอกว่า เมื่อปีที่แล้วได้ระดมทุนทำกางเกงในให้ผู้ต้องขังหญิงหลายพันตัว เพราะนึกถึงตอนที่ตัวเองต้องอยู่ในเรือนจำแบบไม่มีชุดชั้นใน โดยได้ประสานงานการมอบผ่าน ผอ.เรือนจำ ทราบว่ากางเกงในไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำแล้ว 


ปัญหาของคนที่ไม่มีกางเกงในคือ ถ้านักโทษไม่มีเสื้อชั้นในกางเกงชั้นใน จะออกมาพบญาติไม่ได้ บางคนต้องยืมของคนอื่นมาใส่ เพื่อวิ่งออกมาพบญาติ ในเรือนจำมีกฎระเบียบเยอะมาก เราไม่ได้คิดแค่บริจาคเกงในแล้วจบ  แต่เราต้องการให้เรือนจำรู้ว่ามีคนจับตามองเรือนจำอยู่


 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog