วิจัยพบกบเห็นสีสันได้แม้ในความมืดขณะที่คนเราบอดสนิท เหตุเพราะมีเซลล์ในจอตาแตกต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่
สัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ รวมถึงมนุษย์ มีเซลล์ในจอตา 2 แบบ คือ เซลล์รูปกรวยกับเซลล์รูปแท่ง เซลล์รูปกรวยช่วยให้คนเรามองเห็นสีสัน แต่ต้องมีแสงสว่างมากพอ ในความมืด เซลล์รูปกรวยจะหยุดทำงาน เซลล์รูปแท่งจะเข้ารับหน้าที่แทน ทว่าเราจะเห็นแค่สีขาว-ดำ พอให้คลำทางได้ในสภาพไร้แสง
เซลล์รูปแท่งของกบและคางคกมีความไวแสง 2 แบบ ซึ่งไม่พบในสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวกอื่น นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า กบกับคางคกคงมองเห็นสีสันได้ในสภาพแสงต่ำมาก
คริสเตียน ดอนเนอร์ แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ รายงานในวารสาร Philosophical Transactions of the Royal Society B ว่า สมมติฐานข้างต้นเป็นจริง กบจำแนกสีสันได้ในความมืด
เขากับผู้ร่วมวิจัยทดสอบสมมติฐานดังกล่าวกับกบในวงศ์ Rana และคางคกในวงศ์ Bufo โดยทดสอบพฤติกรรมของพวกมันใน 3 สถานการณ์ พบว่า กบสามารถใช้เซลล์รูปแท่งในจอตาแยกแยะสีได้ในความมืดมิด
นักวิจัยทดลองโดยสร้างสถานการณ์ที่พวกมันติดอยู่ก้นรูเพราะดินถล่ม ซึ่งพวกมันต้องหาทางออกขึ้นมาสู่พื้นดินให้ได้ อันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
อีก 2 สถานการณ์คือ การหาคู่กับการหาอาหาร ปรากฏว่า พวกมันหยุดใช้การมองเห็นสีสันในกรณีหาคู่ แต่จะใช้ความสามารถในความมืดนี้ในกรณีหาอาหาร.
Photo: AFP (file)