ความยากจนในสังคมไทยใน 20 ปีนี้ แม้ผลการวิจัยจากทีดีอาร์ไอ จะพบว่าจำนวนคนจน มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนรวยก็ยังรวยมากขึ้นแบบกระจุกตัว ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จึงเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนตัวเลขผู้เป็นหนี้ในระบบ มีมากถึง 35 ล้านบัญชี
"อยู่บนสวรรค์ แต่เป็นคนชั้นติดดิน" ประโยคนี้สะท้อนสภาพการใช้ชีวิตของคนจนเมืองที่ไม่ต่างอะไรกับคนจนในชนบทมากนัก เพราะเหตุผลของความดิ้นรนหารายได้ มาจากแรงผลักดันเดียวกัน นั่นคือ ความไม่เท่าเทียม
เมื่อเส้นความยากจนของคนไทย ถูกแบ่งที่รายได้โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือนต่อคน
ส่วนสถิติรายได้โดยเฉลี่ย ในปี 2558 จากงานวิจัยความเหลื่อล้ำของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ พบว่าจำนวนคนจนมาก ยังมีถึง 4.8 ล้านคน จากจำนวนประชากรกว่า 67 ล้านคนของประเทศ โดยร้อยละ 20 ของคนจนมีรายได้ เฉลี่ย 2,305 บาทต่อเดือน ขณะที่รายได้เฉลี่ย ร้อยละ 20 ของกลุ่มคนรวยอยู่ที่ 23,761 บาทต่อเดือน
และแม้ว่าจำนวนคนจนในประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลอด 20 ปีนี้ โดยลดลงไปถึง 27 ล้านคน แต่ใช่ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำจะหมดไป เพราะร้อยละ 20 ของกลุ่มคนรวยที่สุด มีรายได้มากกว่า ร้อยละ 20 ของกลุ่มคนจนที่สุด ถึง 10.3 เท่า ถือว่ายังมีความเหลื่อมล้ำ อยู่มาก
ขณะที่ตัวเลขการจัดอันดับมูลค่าทรัพย์สินของเศรษฐีในประเทศไทยปีที่ผ่านมา มีนายธนินทร์ เจียรวนนท์ หรือ เจ้าสัวซีพี จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ครองแชมป์ความรวยที่สุด กว่า 6 แสนล้านบาท และเมื่อรวมตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐี ทั้ง 10 อันดับ พบว่า มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41 ของรายได้คนจนทั้งประเทศ
ยิ่งยากจน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย การกู้หนี้ยืมสินจึงเป็นทางออกเพื่อความอยู่รอด สะท้อนจากตัวเลขการเป็นหนี้ยังสูง
เฉพาะหนี้สินในระบบที่ตรวจสอบได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต , หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล มีถึง 22 ล้านบัญชี หนี้ส่วนตัว 11-12 ล้านบัญชี หนี้เกษตรกร กว่า 1 ล้านบัญชี ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ รัฐบาล จึงควรจริงจังกับปัญหาการแก้ปัญหานี้ โดยหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ของไทย คือ การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อมุ่งแก้ปัญหา
เมื่อรายได้ของมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ ยังมีช่องว่าง การลดความเหลื่อมล้ำทางทางเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี