นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแตกต่างกับหลายประเทศ ทำให้การจัดอันดับไทย เป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก อาจไม่สะท้อนความเป็นจริง
กรณีสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานดัชนีความทุกข์ยาก ประจำปี 2017 พบว่าประแทศไทย เป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า รายงานดังกล่าว สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของไทยแค่ระดับหนึ่ง เพราะผลสำรวจระหว่างประเทศ ไม่สามารถชี้ชัดได้
และผลการศึกษานี้ วิเคราะห์เพียงตัวเลขการว่างงาน และภาวะเงินเฟ้อ มาเทียบเป็นดัชนีใหม่ ประกอบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงได้มากนัก โดยไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เมื่อวัดออกมา พบว่ามีการว่างงานน้อย ขณะที่เวเนซุเอลา มีการว่างงานมาก เพราะเป็นประเทศอุตสาหกรรม และธุรกิจน้ำมัน
รายงาน ดัชนีความทุกข์ยาก ประจำปี 2017 ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้อ้างอิงข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพ และความเข้มแข็งของตลาดแรงงาน โดยมีคะแนนรวมความทุกข์ยาก เพียงร้อยละ 2.6 ถือเป็นปีที่ 3 แล้ว ที่ไทยมีดัชนีความทุกข์ยากต่ำที่สุดในโลก
ขณะที่สิงค์โปร์ ติดอันดับประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 จากปัจจัยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศดลง ทำให้สิงคโปร์มีคะแนนรวม ร้อยละ 3.1 ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และไอซ์แลนด์ ส่วนประเทศที่มีดัชนีความทุกข์ยากสูงที่สุดในโลก คือ เวเนซุเอลา
รายงาน ระบุว่า ไทยมีอัตราว่างงาน เพียงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรในวัยทำงาน ซึ่งเป็นผลสำรวจระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2558 - มิถุนายน 2559 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ ร้อยละ 0.59 แต่บลูมเบิร์ก เตือนว่าแม้เงินเฟ้อต่ำจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่เป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจอาจไม่แข็งแกร่ง