มาตรา 44 กลายเป็นอำนาจที่ใช้ในการจัดการทุกเรื่องภายใต้ยุครัฐบาล คสช. ไปทำความรู้จักกับอำนาจพิเศษนี้พร้อมๆกัน ว่ามันเปลี่ยนสังคมไปอย่างไร?
หลังจากคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 สิ้นสุดลงไป ประเทศไทยโดยคณะรัฐประหาร คสช.ปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2557 ได้ประกาศใช้แทนกฎอัยการศึก มาตราหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างกว้างขวาง คือ มาตรา 44 เรามาทำความรู้จักกฎหมายพิเศษข้อนี้กันไปพร้อมๆกัน
ม.44 น้องชาย ม.17 มรดกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เมื่อค่ำของวันที่ 1 เมษายน 2558 เป็นครั้งแรกที่สังคมไทยรู้จักกับ ม.44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมีใจความสำคัญแบบบรรทัดต่อบรรทัดว่า
ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายกฎหมายดังกล่าวให้เข้าใจโดยง่ายว่า มาตรา 44 นั้นให้อำนาจกับหัวหน้า คสช. กระทำการได้ทุกอย่าง และเหนือกว่าทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และเป็นคำสั่งที่เป็นผลที่สุด โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
กฎหมายที่มีความเด็ดขาดเช่นนี้ทำให้สังคมย้อนนึกไปถึงมาตรา 17 ในสมัยรัฐบาลคณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน"ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502" ที่ใจความว่า
มาตรา 17
"ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย"เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ"
อำนาจที่อยู่เหนือการตรวจสอบและความรับผิดชอบ
ความแตกต่างของการนำมาใช้ของม. 44 ในสมัยรัฐบาล คสช. และม.17 ในยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นมีอยู่บ้างในส่วนของการนำไปใช้ กล่าวคือ ม.17 นั้นถูกนำไปใช้ในการลงโทษที่ "เด็ดขาด"มากกว่า เช่นการสั่งประหารบุคคล กลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นอันธพาล วางเพลิง หรือทำการต่อต้านการทำการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ รวมไปถึงผู้ที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมือง
ถึงแม้ในยุคปัจจุบันคำสั่งประหารชีวิตคนจะไม่เป็นที่ยอมรับเนื่องจากทั่วโลกเริ่มรณรงค์การยกเลิกโทษประหาร ม.44 จึงไม่ถูกนำไปใช้ในการประหารชีวิตประชาชน แต่สิ่่งที่แตกต่างไปก็คือการขยายอำนาจโดยกว้างของ ม.44 นั้นมีมากกว่า ม.17 ค่อนข้างมาก ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ใช้ม.17 ไปเพียง 11 ครั้ง ส่วนคสช.นั้นในขณะที่เขียนอยู่ยังไม่สามารถระบุจำนวนแน่ชัด แต่สามารถจำแนกเป็นหมวดการใช้ได้คร่าวๆดังนี้
1.การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้ออกจากราชการของข้าราชการประจำ เช่น กรณีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ในระหว่างการสอบสวน กรณีขบวนการค้ามนุษย์ เป็นต้น
2. การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้ออกจากราชการของข้าราชการการเมือง เช่น กรณีคำสั่งปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรออกจากตำแหน่ง เป็นต้น
3.การจัดระเบียบสังคม เช่น การประกาศห้ามหาบเร่-แผงลอยทำการค้านฟุตบาท หรือการควบคุมราคาสลากกินแบ่ง 80 บาท เป็นต้น
4.การให้ความคุ้มครอง และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจภายใต้คำสั่ง คสช. เช่น กรณีการคุ้มครองข้าราชการที่ทำคดีจำนำข้าว หรือ การใช้เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในพื้นที่ควบคุมเขตวัดพระธรรมกาย
5.การใช้ไปเพื่อมิติเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ การยกเว้นการทำ EIA EHIA ในโครงการขนาดใหญ่อันมีส่วนกระทบต่อการพัฒนาประเทศ เป็นต้น
6. การใช้เพื่อความมั่นคงในการบริหารราชการแผ่นดิน ของคสช. เช่น การจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาการบินพลเรือนในกรณี ICAO หรือ การถอดยศตำรวจของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการใช้อำนาจ ม.44 นั้นเป็นไปในความหมายที่กว้างและครอบคลุมในทุกมิติ แตกต่างจากม.17 ที่เน้นไปเรื่องของความมั่นคงเป็นหลัก
อนาคตของ ม.44 เมื่อมีการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร?
ด้วยความที่คำสั่งตามาตรา 44 เป็นอำนาจประเภท "คำสั่ง" ดังนั้นหากในอนาคตจะมีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว จำเป็นต้องออกเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ใหญ่กว่า เช่น การออกพระราชกฤษฎีกายกเลิกคำสั่งภายใต้ ม.44 แต่ถามว่าหากเมื่อพ้นช่วงรัฐบาลดังกล่าวผู้ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถร้องเรียนได้หรือไม่? ขอเชิญชวนให้อ่านม.48 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ระบุว่า
มาตรา 48 บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจ การปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทาง ตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่ กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
อธิบายตามภาษาที่เข้าใจได้ง่ายคือ การกระทำใดของคสช. ที่เกิดขึ้นหลังจากวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศใช้) ได้รับการ "นิรโทษกรรม"และไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์เองมีคำกล่าวว่า "การกระทำใดก็ตามที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" แต่ในความเป็นจริงแม้กระทั่งวาระสุดท้ายก็ไม่สามารถมีใครเอาผิดจอมพลสฤษดิ์ได้ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ถึงแก่อสัญกรรมระหว่างการดำรงตำแหน่ง
หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวว่า "อำนาจที่ฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลฉันนั้น" อันเป็นวาทะอมตะของ จอห์น ดัลเบิร์ต-แอกตัน บารอนแอกตันที่ 1 แต่ประโยคเต็มๆที่แท้จริงนั้นน่าสนใจและยาวกว่า เพราะกล่าวไว้ว่า "Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men." นั่นเอง